‘คาร์บอน เครดิต’เครื่องมือสกัดทำลายป่าหรือแค่การ‘ฟอกเขียว’

‘คาร์บอน เครดิต’เครื่องมือสกัดทำลายป่าหรือแค่การ‘ฟอกเขียว’

‘คาร์บอน เครดิต’เครื่องมือสกัดทำลายป่าหรือแค่การ‘ฟอกเขียว’ โดยวอลท์ ดิสนีย์ ,เจพี มอร์แกน แบงก์ ถูกกล่าวหาว่าซื้อคาร์บอน เครดิตจากโครงการต่างๆที่มีเป้าหมายปกป้องผืนป่าในประเทศต่างๆ ทั้งๆที่ผืนป่าเหล่านั้น ไม่ได้เสี่ยงที่จะถูกทำลายด้วยซ้ำ        

ท่ามกลางสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในประเทศไทย วันหนึ่งมีหลายฤดูกาลทั้งหนาวเย็น ฝนตกพรำๆ และร้อนจัด จนทำให้หลายคนร่างกายปรับตัวไม่ทัน ป่วยไข้ไปตามๆกัน สิ่งที่เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้วคือ การปลูกป่าหรือการปกป้องป่าดิบชื้นที่กลายเป็นเครื่องมือยอดนิยมของบริษัทต่างๆที่พยายามหาทางชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ และป่าวประกาศว่าบริษัทมีพันธกิจจริงจังในการรักษาสภาพแวดล้อมหรือสิ่งแวดล้อมของโลก

แต่ประเด็นอื้อฉาวเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ฉายภาพที่ชัดเจนมากขึ้นในอุตสาหกรรมคาร์บอน เครดิต  ทำให้เห็นถึงโอกาสในการ“ฟอกเขียว”ที่มีเพิ่มขึ้น โดยตอนนี้ บริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่างวอลท์ ดิสนีย์ ,เจพี มอร์แกน แบงก์ และบริษัทชั้นนำอื่นๆถูกกล่าวหาว่าซื้อคาร์บอน เครดิตจากโครงการต่างๆที่มีเป้าหมายปกป้องผืนป่าในประเทศต่างๆ ทั้งๆที่ผืนป่าเหล่านั้น ไม่ได้เสี่ยงที่จะถูกทำลายด้วยซ้ำ        

เท่านั้นยังไม่พอ มีรายงานว่าบริษัทแห่งหนึ่งที่บริหารจัดการที่ดิน 600,000 เฮกตาร์ หรือ 3,750,000 ไร่ในสหรัฐทำรายได้ในช่วง2ปีที่ผ่านมาเป็นเงิน 53 ล้านดอลลาร์จากคาร์บอนเครดิตที่ไม่ได้ช่วยบริหาร จัดการผืนป่าใดๆทัั้งสิ้น 

ไม่มีโครงการใดที่กักเก็บคาร์บอนเกินกว่าที่ต้นไม้จะดูดซับได้ผ่านการสังเคราะห์ด้วยแสงในสถานการณ์ทางธุรกิจตามปกติ

ความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้มีขึ้นในช่วงที่เหล่าผู้นำและบรรดาผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกมาประชุมร่วมกันที่กรุงลิเบรอวิล เมืองหลวงของกาบอง ช่วงวันที่ 1-2 มี.ค.นี้เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาการทำลายป่าภายใต้ชื่อ 'One Forest Summit'ซึ่งฝรั่งเศสและกาบองร่วมกันเป็นประธานการประชุม 

นอกจากหารือเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวแล้ว ผู้เข้าร่วมประชุมยังร่วมกันหาแนวทางปรับปรุงเครื่องมือทางการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อปกป้องผืนป่าของโลกด้วย

การประเมินหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมาพบว่า มีการใช้คาร์บอน เครดิตอย่างกว้างขวาง และคาดการณ์ว่า ปริมาณก๊าซคาร์บอนอาจเพิ่มขึ้นสิบเท่าภายในปี 2573 เป็นประมาณ 2,000 ล้านตัน

“ความเสี่ยงหลักของตลาดคาร์บอน เครดิตคือการที่ไม่สามารถกำกับดูแลตัวเองได้ ตอนนี้ทุกคนหันมาให้ความสนใจและทุ่มเทด้านคาร์บอน เครดิตกันอย่างมาก ทำให้บรรดานักพัฒนาโครงการกระจายต้นทุนโดยรวมให้ครอบคลุมจำนวนเครดิตให้ได้มากที่สุด ด้วยการเสนอต้นทุนที่ถูกลงแก่ผู้ซื้อ”ซีซาร์ ดูกัสต์ จากคาร์โบน4 บริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมสัญชาติฝรั่งเศส กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์เอเอฟพี

‘คาร์บอน เครดิต’เครื่องมือสกัดทำลายป่าหรือแค่การ‘ฟอกเขียว’

ช่วงกลางเดือนม.ค. “ได ซีท” และเอ็นจีโอจากเดอะการ์เดียน เผยว่ากว่า 90% ของโครงการที่ผ่านการรับรองจาก“เวอร์รา” ผู้ตรวจสอบด้านการอนุรักษ์ป่าชั้นนำของโลกที่ดำเนินงานภายใต้โครงการของสหประชาชาติ(ยูเอ็น)เพื่อเพิ่มการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำให้ ป่าเสื่อมโทรม หรือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรมในประเทศกำลังพัฒนา มีแนวโน้มเป็นเครดิตที่ไม่มีอยู่จริง หรือเครดิตหลอกที่ไม่ได้สะท้อนถึงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างแท้จริง

“เดวิด แอนโทนิโอลิ” ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)เวอร์รา ไม่ยอมรับรายงานชิ้นนี้ โดยแย้งว่า โปรเจค REDD+ ไม่ใช่รายงานที่เป็นแนวคิดแบบแอ๊บสแตร็ก แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงโครงการอย่างแท้จริงบนพื้นฐานที่เอื้อประโยชน์ด้านต่างๆแก่ชีวิต

 “พอลา แวนลานิงแฮม”หัวหน้าแผนกคาร์บอนโลกของเอสแอนด์พี โกลบอล  กล่าวว่า  หลังจากประเด็นนี้แพร่สะพัดออกไป ราคาของคาร์บอน เครดิตก็ปรับตัวลง  

การตีแผ่เกี่ยวกับโปรเจค REDD+ จุดชนวนทำให้เกิดการดีเบทกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับระบบคาร์บอน เครดิตโดยรวม

“ตัวโปรเจคต่างๆ มีมาตรฐานดีพอที่จะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ปัญหาสภาพอากาศได้อย่างแท้จริงหรือไม่คำตอบอาจจะทั้ง“ใช่” และ“ไม่ใช่”แวนลานิงแฮม กล่าว

ขณะที่ “ดอนนา ลี” ผู้ร่วมก่อตั้ง Calyx Global  บริษัทจัดอันดับโครงการคาร์บอนอิสระ ให้สัมภาษณ์เอเอฟพี ยอมรับว่าการทำโครงการต่างๆโดยไม่มีเงินทุนเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก และเมื่อพิจารณาถึงรูปแบบของการทำลายป่าในภูมิภาค ก็พบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่สัมพันธ์กับปัญหานี้ เช่น ถนน และจำนวนประชากร แต่ที่สำคัญเหนืออื่นใด บรรดาบริษัทที่ซื้อเครดิตเหล่านี้ควรดำเนินการทุกอย่างด้วยความโปร่งใส ที่ครอบคลุมถึงการแจ้งถึงแหล่งที่มาของเครดิต และบอกอย่างละเอียดว่าบริษัทจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างไร

ดูกัสต์ จากคาร์โบน4 กล่าวทิ่้งท้ายว่า การที่บริษัทต่างๆพากันทำกิจกรรมกับผืนป่าเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นเรื่องที่รับได้ แต่ไม่ควรใช้ช่องโหว่เพื่อหลีกเลี่ยงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของบริษัท