ทําอย่างไรให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเข้มแข็งและจริงจัง

ทําอย่างไรให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเข้มแข็งและจริงจัง

เศรษฐกิจไตรมาสสามขยายตัวร้อยละ 3 ถือเป็นแนวโน้มที่ดี แสดงถึงการฟื้นตัวที่เข้มแข็งมากขึ้นเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก ขับเคลื่อนโดยการส่งออก การท่องเที่ยว การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม ความเปราะบางในการฟื้นตัวยังมีมาก โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่ยังซบเซา ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงและสินเชื่อที่ชะลอ เหล่านี้คือจุดอ่อนที่ต้องแก้ไขเพื่อให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง จริงจังและเข้มแข็ง นี้คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

เศรษฐกิจไตรมาสสามขยายตัวร้อยละ 3 สูงกว่าที่ตลาดการเงินคาด เป็นผลจากการส่งออกไปภูมิภาค เช่น จีน เกาหลีใต้ ประเทศอาเซียน ที่ขยายตัวได้ดี การท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และการใช้จ่ายภาครัฐทั้งการบริโภคและการลงทุนที่ขยายตัวดีมากขึ้นเช่นกัน โดยได้ประโยชน์จากงบประมาณปี 2567 ที่มีผลบังคับใช้

ดังนั้นในแง่การสร้างโมเมนตัมให้กับเศรษฐกิจ ขณะนี้มีหลายปัจจัยเข้ามาสนับสนุน แต่ที่กําลังมีบทบาทสูงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็คือ ภาครัฐ

เห็นได้จากการบริโภคภาครัฐขยายตัวร้อยละ 6.3 ในไตรมาสสามและการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.6 ขณะที่โมเมนตัมการใช้จ่ายภาคเอกชนเริ่มแผ่วลง การลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 2.5 ในไตรมาสสาม ส่วนการบริโภคชะลอเหลือขยายตัวร้อยละ 3.4

ตัวเลขเศรษฐกิจดังกล่าวชี้ว่า การใช้จ่ายภาครัฐสามารถมีบทบาทกระตุ้นอุปสงค์ของเศรษฐกิจและการขยายตัวของเศรษฐกิจได้

แต่ถ้าจะให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีโมเมนตัมได้ต่อเนื่อง สามารถเปลี่ยนจากการฟื้นตัวมาเป็นการเติบโตที่ต่อเนื่องจริงจัง ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะต้องมีโมเมนตัมขยายตัวเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มี

เห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาสสามที่เป็นขาลงแม้จะผงกหัวขึ้นเล็กน้อยในเดือนตุลาคม และสินเชื่อที่การขยายตัวยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องในเดือนกันยายน

เศรษฐกิจขณะนี้จึงมีช่องว่างระหว่างภาพเศรษฐกิจที่ดูดีจากการเร่งใช้จ่ายของภาครัฐ กับ ความเชื่อมั่น การใช้จ่ายของประชาชน และการลงทุนของภาคเอกชนที่อ่อนแอ

ประเด็นคือ ถ้าโมเมนตัมการใช้จ่ายของภาคเอกชนไม่มี เศรษฐกิจก็จะไม่มีตัวรับที่จะสานต่อโมเมนตัมที่ดูดีขึ้นจากการใช้จ่ายของรัฐบาล ไปสู่การฟื้นตัวและการเติบโตในอนาคต ทําให้ตัวเลขจีดีพีร้อยละ 3 ในไตรมาสสามและตัวเลขจีดีพีไตรมาสสี่ที่จะดีขึ้นเช่นกัน จะเป็นเพียงภาวะหรือแสงสว่างชั่วคราว ที่เกิดจากการเร่งใช้จ่ายของรัฐบาล แต่ไม่นําเศรษฐกิจไปสู่การเติบโตที่ต่อเนื่องและจริงจัง ซึ่งจะน่าเสียดาย

และประเด็นนี้ถ้าดูจากสิ่งที่สภาพัฒน์คาดการณ์ล่าสุดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 2.6 และปีหน้าร้อยละ 2.3-3.3 ตัวเลขดังกล่าวเหมือนให้ข้อสรุปแล้วว่าการสานต่อไปสู่การเติบโตที่เข้มแข็งจะยังไม่เกิดขึ้น

เพราะการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้และปีหน้ายังจะไม่พุ่งทะยาน คือ ขยายตัวระหว่างร้อยละ 2-3 ต่อปี เช่นเดียวกับช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ดังนั้น ความท้าทายของรัฐบาลคือ ทําอย่างไรให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเข้มแข็งกว่าที่ผ่านมา ไม่ใช่ดีขึ้นชั่วคราวเพราะรัฐบาลเร่งใช้จ่าย แต่จากนั้นก็กลับไปสภาพเดิม

ซึ่งปัจจัยตัดสินสําคัญคือการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งสําหรับประเทศเรา การลงทุนภาคเอกชนถดถอยมาตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้เศรษฐกิจเราขยายตัวตํ่า ไม่เติบโตดีเท่าหรือดีกว่าประเทศอื่นอย่างที่ควรจะเป็น นี่คือสิ่งที่ต้องช่วยกันหาคําตอบว่า ทําอย่างไรให้การลงทุนของภาคเอกชนในประเทศกลับมาฟื้นตัว

เรื่องนี้ในแง่นโยบายสาธารณะ ต้องตระหนักว่าเศรษฐกิจมาจากการขับเคลื่อนของภาคเอกชน ภาครัฐแม้ระยะหลังบทบาทจะสูงขึ้น แต่การเติบโตของเศรษฐกิจในที่สุดจะมาจากการขับเคลื่อนของภาคเอกชน ผ่านการลงทุนของภาคธุรกิจ ที่นําไปสู่การขยายตัวของเศรษฐกิจ การจ้างงาน การสร้างรายได้ กําลังซื้อ การใช้จ่ายของคนในประเทศ และกําไรของภาคธุรกิจ

ซึ่งทั้งหมดจะเป็นแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจยิ่งลงทุนมากขึ้น นี่คือพลวัตที่ทําให้เศรษฐกิจเติบโต และหน้าที่ของรัฐบาลคือสร้างภาวะแวดล้อมที่เอื้อให้ภาคธุรกิจลงทุน ทั้งในเรื่องโอกาสทางธุรกิจ ต้นทุน แรงจูงใจและความเชื่อมั่น สิ่งเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้น

วันนี้จึงขอฝากสามข้อคิดว่า รัฐบาลควรทําอะไรเพื่อสร้างภาวะแวดล้อมที่เอื้อและสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนในสถานการณ์ปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการใช้จ่ายของภาครัฐ

อย่างแรก คือสร้างโอกาส หมายถึงสร้างการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจให้มีมากขึ้น โดยลดข้อจำกัดและลดการแทรกแซงของภาครัฐในระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้กลไกตลาดทํางานได้เต็มที่ในการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจ

ประเด็นนี้สําคัญ เพราะที่ผ่านมาการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจบ้านเราลดลงมาก จากการครอบงำตลาดของผู้เล่นรายใหญ่ที่เพิ่มสูงขึ้นเพราะประโยชน์ที่ได้จากมาตรการที่ภาครัฐใช้ในการควบคุมราคา จํากัดจํานวนผู้เล่น หรือสร้างเงื่อนไขให้ผู้เล่นรายใหม่ที่จะเข้าตลาดทําได้ยาก

การแทรกแซงเหล่านี้บิดเบือนกลไกตลาด ลดการแข่งขัน และลดโอกาสทางธุรกิจ ผลคือภาคธุรกิจไม่มีแรงจูงใจที่จะลงทุน ตรงกันข้าม การลดการแทรกแซงคือการเปิดเสรีให้กลไกตลาดทํางาน ที่จะสร้างโอกาสทางธุรกิจและแรงจูงใจให้ลงทุน นี่คือสิ่งแรกที่รัฐบาลควรทํา

สอง สร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจลงทุนในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจเองและต่อเศรษฐกิจ ซึ่งปัญหาหนึ่งคือการปรับตัวของธุรกิจไทยให้ทันการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจโลก

และเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีหรือ Digital transformation ที่ภาคธุรกิจไทยควรต้องลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลจึงควรสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจลงทุนเรื่องเทคโนโลยีโดยมาตรการภาษี ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุน ลดต้นทุนการใช้เทคโนโลยีและระบบ WiFi ขยายการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้ทําได้ทั่วประเทศ

รวมถึงสนับสนุนภาคธุรกิจที่จะลงทุนเพื่อยกระดับทักษะของกําลังแรงงานในเรื่องเทคโนโลยี การสร้างระบบแรงจูงใจที่ถูกต้องจะทำให้ธุรกิจทั้งประเทศขยับตัวในเรื่องนี้ ซึ่งจะสร้างโมเมนตัมให้การลงทุนอื่นๆ เกิดขึ้นตามมา

สาม ดูแลให้ภาคธุรกิจแข่งขันอย่างเป็นธรรม คือเมื่อธุรกิจต้องแข่งขัน รัฐควรวางตัวเป็นกลางและจำกัดบทบาทไว้ที่การดูแลให้ตลาดทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ไม่บิดเบือนกลไกตลาดโดยสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันระหว่างผู้ร่วมตลาด หรือเข้าไปทําธุรกิจเสียเอง

ที่สำคัญมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา และเอาจริงกับการทุจริตคอร์รัปชัน

สิ่งเหล่านี้จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ร่วมตลาดและนักลงทุน และเมื่อความเชื่อมั่นเกิดขึ้น การลงทุนของภาคเอกชนก็จะเกิดขึ้นตามมาเพราะศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ประเทศมี

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรทําคือสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและนักลงทุนในเรื่องการแข่งขัน การบังคับใช้กฎหมาย และธรรมาภิบาล

ด้วยข้อคิดนี้รัฐบาลมีเครื่องมือและทางเลือกมากมายที่จะสร้างโมเมนตัมการลงทุนในภาคเอกชนให้เกิดขึ้นในภาวะปัจจุบัน โดยลดการแทรกแซงและเปิดเสรีธุรกิจ สร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจลงทุนเพื่อปรับความสามารถด้านเทคโนโลยี รวมถึงดูแลให้การแข่งขันเป็นไปอย่างเป็นธรรม

สิ่งเหล่านี้คือแรงจูงใจที่จะทำให้ภาคธุรกิจลงทุนและปลดปล่อยศักยภาพที่ภาคธุรกิจไทยมี นําไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจที่จริงจังและต่อเนื่อง

ทําอย่างไรให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเข้มแข็งและจริงจัง

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]