“กลุ่มเศรษฐกิจพหุภาคี”กำบัง“ไทย”หลบ คลื่นลมการค้าแปรปรวนผลนโยบายทรัมป์
ปี 2568 ที่กำลังจะมาถึงทั่วโลกเต็มไปด้วยความหวาดผวาหลังชาวอเมริกันเลือกแล้วที่จะให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่า การใช้นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าที่สูงมากของทรัมป์จะปรากฎขึ้นประมาณกลางปี2568
คาดว่าจะทำให้การค้าโลกชะลอตัวลง 0.8% ในปี 2568 และจะลดลง 1.3 % ในปี 2569 เนื่องจากการตั้งภาษีจะขัดขวางการเติบโตของการค้าโลกและประเทศส่วนใหญ่จะเติบโตอย่างไม่แข็งแรง ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอลง ซึ่งการประเมินของ IMF มองว่าหากเกิดการแยกส่วนอย่างจริงจังและใช้มาตรการทางภาษีศุลกากรในวงกว้างจะทำให้ GDP โลกลดลง 7%
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า การลดความผันผวนทางการค้าและการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ การลดความผันผวนทางการค้าและกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ โดยการกระจายตลาดส่งออกและ เพิ่มความหลากหลายของแหล่งวัตถุดิบ/สินค้านำเข้า ไม่ให้พึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่สหรัฐ หรือจีนตั้งเป้าหมายขยายการผลิตในประเทศหรือส่งเสริมการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ (Reshoring) โดยส่งเสริมการสร้างพันธมิตรทางการค้า และมองหาคู่ค้ารายใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงที่ห่วงโซ่ อุปทานจะหยุดชะงัก
ทั้งนี้การปรับตัวให้สอดรับกับการแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทาน (decoupling) โดยการยึดโยงอุตสาหกรรมสำคัญของสหรัฐ และจีน โดยแสวงหาโอกาสในการเข้าร่วมห่วงโซ่อุปทานของทั้งสองประเทศ ผ่านการส่งเสริมการค้าและการลงทุนในสหรัฐและจีน ตลอดจนประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐ เช่น เม็กซิโก แคนาดา ลาตินอเมริกา และประเทศพันธมิตรภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF)
ส่วนประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีน เช่น ประเทศตามข้อริเริ่มสายแถบ และเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) กลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) และสมาชิกองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation: SCO) รวมถึงประเทศที่อยู่ร่วมห่วงโซ่อุปทานสหรัฐ และจีน อย่างประเทศ สมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP)
นอกจากนี้ต้องมี การปรับตัวสำหรับระเบียบการค้าโลกที่เปลี่ยนไป การปรับตัวสำหรับระเบียบข้อบังคับโลกที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะประเด็นด้าน ESG (Environmental Social และ Governance) ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกประเทศในการลงทุน/ตั้งฐานการผลิตของบริษัท ข้ามชาติ ตลอดจนเกี่ยวเนี่องกับด้านการค้าระหว่างประเทศที่ประเทศมหาอำนาจจะใช้มาตรการด้านสังคมและ สิ่งแวดล้อมในการกีดกันทางการค้าเพื่อปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศ ซึ่งหากภาคการผลิตไทยปรับตัวรับกับประเด็น ดังกล่าวไม่ทัน อาจจะทำให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในตลาดโลกได้
สำหรับนโยบายขึ้นภาษีสินค้าจีน 60% จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของไทยที่พึ่งพาวัตถุดิบและชิ้นส่วนจากจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและอาจเกิดการขาดแคลนวัตถุดิบบางประเภท นอกจากนี้ สินค้าไทยอาจถูกตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าอย่างเข้มงวดมากขึ้น เพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีผ่านการส่งออกผ่านประเทศไทยได้
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์นี้ก็จะส่งผลในมุมโอกาสจากการย้ายฐานการผลิต (Relocation) ซึ่งประเทศไทยมีโอกาสในการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทที่ต้องการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยที่มีความเข้มแข็ง เช่น อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอ และอาหารแปรรูป ด้วยจุดแข็งของไทยในด้านโครงสร้างพื้นฐาน แรงงานมีทักษะ ระบบนิเวศอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง และที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม
อีกมุมหนึ่งคือโอกาสในการเป็นฐานการผลิตทางเลือกสำหรับตลาดสหรัฐ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญในอาเซียน อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูปที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับระดับโลก และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง
อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามสถานการณ์แนวโน้มทางการค้า โดยเฉพาะนโยบายที่สำคัญ และแนวโน้มการใช้มาตรการและการดำเนินการของประเทศคู่ค้าและคู่แข่งขันทางการค้าที่อาจส่งผลต่อการค้าไทย รวมถึงการเฝ้าระวังปริมาณการนำเข้าและส่งออก สินค้าของบริษัทข้ามชาติที่อยู่ในรายการสินค้าที่ถูกใช้มาตรการทางภาษี โดยเฉพาะรายการสินค้าที่รัฐบาลสหรัฐ มีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ตลอดจนการดำเนินการรับมืออย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้ไทยถูกใช้มาตรการทางภาษี รวมถึงการถูกไต่สวนและการถูกบังคับใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti-circumvention) ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการสัญชาติไทยที่มีการส่งออกสินค้าในรายการเดียวกัน
สำหรับการดำเนินมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ ในกรณีที่มีสินค้าราคาถูกไหลทะลักเข้ามาในประเทศต้องดำเนินการอย่างเหมาะสม อาทิ ยกระดับการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้านำเข้า กำหนดอัตราภาษีหรือโควตาสำหรับสินค้านำเข้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ การบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping: AD) มาตรการตอบโต้ การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) และมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure: SG) เป็นต้น
การดำรงตำแหน่งของผู้นำสหรัฐจะมีวาระ 4 ปี ซึ่งช่วงเวลานี้อาจเกิดความเปลี่ยนแปลงกับห่วงโซ่การค้าโลกในแบบที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ดังนั้น การเท่าทันและปรับตัวทัน จะช่วยให้ความเปลี่ยนแปลงกลายเป็นโอกาสแทนที่จะอุปสรรคเหมือนที่ทุกฝ่ายกำลังวิตกกังวลกันขณะนี้