ไทยเตรียมรับมือ “ทรัมป์” 2.0 คาดฉุดจีดีพีไทย ลด 0.87% สูญรายได้ 1.6 แสนล้านบาท
ม.หอการค้าไทย ประเมิน กระทบจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ที่ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า ฉุดจีดีพีไทยลด 0.87% ทำเศรษฐกิจไทยเสียหายกว่า 1.6 แสนล้านบาท ขณะที่ส่งออกไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ ดิ่ง 1.52% คาดปี 68 ส่งออกไทยเหลือโต 0.72-1.24%มูลค่า 2.96-2.97 แสนล้านดอลลาร์
KEY
POINTS
Key Point
- นโยบายทรัมป์ 2.0 ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 60% และจากประเทศอื่นที่ได้ดุลการค้า 10-15%
- ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจม.หอการค้าไทย คาดนโยบายทรัมป์ 2.0 ทำเสียหายถึง 160,472 ล้านบาท
- ทุบส่งออกไทยลดลง 1.52% และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลง 0.87%
- ปี 68 คาดส่งออกไทยรับผลกระทบนโยบายทรัมป์ จะขยายตัว 1.24 % มูลค่า 297,892 ล้านดอลลาร์
การกลับมานั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐรอบ 2 ของ"นายโดนัลด์ ทรัมป์" ทำให้โลกจับตานโยบายการค้าของสหรัฐ เพราะก่อนหน้านี้ที่ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก ก็ทำให้โลกการค้าปั่นป่วนเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน กระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะทั้ง 2 ประเทศ คือมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก
โลกกังวลถึงนโยบายทรัมป์ 2.0 จะผลกระทบเศรษฐโลกและเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะมาตรการเก็บภาษีนำเข้าทั้งหมด 10-20% ยกเว้นสินค้าจากจีนซึ่งจะถูกเรียกเก็บภาษีพิเศษ 60% กลายเป็นสงครามการค้า รอบ 2
"ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย" ได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายทรัมป์ 2.0 ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย โดยประเมินว่า หากนายทรัมป์ดำเนินนโยบายทุกอย่างตามที่หาเสียงไว้ ทั้งการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 60% และจากประเทศอื่นที่ได้ดุลการค้าสหรัฐฯ รวมถึงไทย 10-15%, ลดพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศนั้น ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะเสียหายถึง 160,472 ล้านบาท หรือทำให้การส่งออกไทยลดลง 1.52% และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลง 0.87%
แบ่งเป็น
ผลกระทบทางตรง ทำให้ 1."ค่าเงินบาท" มีแนวโน้มอ่อนค่าหากทรัมป์ชนะเลือกตั้ง เนื่องจากนโยบายกีดกันทางการค้า และการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อาจส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่า
2." การส่งออก " สินค้าของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ ลดลง
สินค้ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบสูง ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล อาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม ยานพาหนะ และยางและผลิตภัณฑ์ยาง เนื่องจากอัตราภาษีนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น
3.การลงทุนโดยตรงจากสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” และการสนับสนุนให้ย้ายฐานการผลิตกลับสหรัฐฯ ทำให้แรงจูงใจในการลงทุนในไทยลดลง
ผลกระทบทางอ้อม การส่งออกวัตถุดิบของไทยในห่วงโซ่อุปทานจีน-สหรัฐฯ ลดลง 49,105 ล้านบาท และการส่งออกวัตถุดิบของไทยในห่วงโซ่อุปทานสหรัฐฯ-จีน ลดลง 2,653 ล้านบาท) ได้แก่
1.การส่งออกวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานจีน-สหรัฐฯ การขึ้นภาษีสินค้าจีนเป็น 60% อาจทำให้ไทยสูญเสียมูลค่าการส่งออกวัตถุดิบที่เชื่อมโยงกับจีนไปกว่า 1,403 ล้านดอลลาร์ฯ (ประมาณ 49,105 ล้านบาท) คิดเป็น 0.46% ของการส่งออกรวม และ 0.27% ของ GDP
2.การส่งออกวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานสหรัฐฯ-จีน หากจีนมีการตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ วัตถุดิบไทยที่เชื่อมโยงกับการส่งออกของสหรัฐฯ ไปจีนอาจลดลงอีก 75.8 ล้านดอลลาร์ฯ (ประมาณ 2,653 ล้านบาท) คิดเป็น 0.03% ของการส่งออกรวม และ 0.01% ของ GDP
3.การทะลักของสินค้าจีนเข้าสู่ตลาดไทย นโยบายขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ทำให้จีนอาจจำเป็นต้องหาตลาดใหม่ ซึ่งอาจส่งผลให้สินค้าจีนเข้ามาตีตลาดไทยมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเครื่องจักรกล เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะ และสิ่งทอ
อย่างไรก็ตามไทยมีโอกาสส่งออกสินค้าไทยเพื่อทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐ แทนสินค้าจีน โดยเฉพาะในหมวดเครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า ยางและผลิตภัณฑ์ยาง และของเล่น หากไทยสามารถปรับตัวและขยายการผลิตให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้
นอกจากนี้ทางศูนย์ ยังเคราะห์ทิศทางการส่งออกไทยในไตรมาส 4 ปี 2567 และการส่งออกปี 2568 ว่า เศรษฐกิจคู่ค้าของไทยในไตรมาส 4 มีแนวโน้มชะลอตัวลง หรือฟื้นตัวลงทั้ง สหรัฐ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้การส่งออกไตรมาส 4/67 ชะลอตัว ได้แก่ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ช้าลงของยุโรป และอาเซียน ค่าเงินบาทที่ผันผวน และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ
ดังนั้น ไตรมาส 4 คาดว่า การส่งออกไทยจะขยายตัว 1.2%โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 0.12-2.21%มูลค่า 71,055 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ทั้งปี 67 คาดการส่งออกไทยขยายตัว3.21%โดยช่วงคาดการณ์ที่2.95-3.46%หรือมีมูลค่า294,231ล้านดอลลาร์หรือช่วงคาดการณ์ 293,474 – 294,945ล้านดอลลาร์
สำหรับการส่งออกไทยในปี 2568 คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 2.8% (กรอบ 2.55-3.03%) หรือคิดเป็นมูลค่า 302,477 ล้านดอลลาร์(กรอบ 301,741 - 303,213 ล้านดอลลาร์) โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้การส่งออกปี 68 เติบโต ได้แก่ เศรษฐกิจโลกและการค้าโลกที่ขยายตัว อัตราเงินเฟ้อชะลอตัว การลดอัตราดอกเบี้ยของประเทศต่าง ๆ และการบริโภคที่ฟื้นตัวในหลายประเทศ
โดยสินค้าส่งออกหลักที่ขับเคลื่อนการส่งออกไทยปี 68 เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกล ผลไม้สด แช่แข็ง และอัญมณี โดยตลาดหลักที่ขับเคลื่อนการส่งออกไทยปี 68 คือ สหรัฐฯ อาเซียน ยุโรป อินเดีย และออสเตรเลีย