คาด ‘จีน’ ส่งออกนิวไฮ ตุนสินค้าก่อนทรัมป์คัมแบค หวั่นสงครามการค้าแรงกว่าเดิม
คาด ‘จีน’ ส่งออกทำนิวไฮในไตรมาสที่ 4 ปี 67 ทะลุ 3.5 ล้านล้านดอลลาร์ ตุ้นสินค้าก่อน ‘ทรัมป์’ ดำรงตำแหน่งม.ค.นี้ หวั่นนโยบายขึ้นภาษี 60% จุดชนวนสงครามการค้า ’จีน-สหรัฐ‘ แรงกว่าเดิม
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างถึงการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ว่าการส่งออกจีนจะแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ เนื่องจากลูกค้าเร่งสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้า จากการที่ประธานาธิบดีผู้ได้รับเลือกโดนัลด์ ทรัมป์ขู่ว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าเมื่อเข้ารับตำแหน่งในเดือนม.ค.2568
ตัวเลขการส่งออก ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 จะเพิ่มขึ้นเป็น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
จากการวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก โดยอิงจากการสำรวจของวันที่ 15-21 พ.ย. ที่การส่งออกเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.ก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งจะผลักดันให้มูลค่ารวมของการส่งออกในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3.548 ล้านล้านดอลลาร์ สูงกว่าสถิติเดิมในปี 2565
เอริกา เทย์ นักเศรษฐศาสตร์จากเมย์แบงก์ คาดการณ์ว่า การส่งออกของจีนจะเติบโตขึ้นในระยะสั้น เนื่องจากบริษัททั่วโลกเร่งกักตุนสินค้าก่อนที่สถานการณ์ทางการค้าจะเลวร้ายไปมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว จีนอาจต้องพึ่งพาการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น เพื่อชดเชยความผันผวนของการค้าโลก
การส่งออกของจีนในไตรมาสนี้เติบโตสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี ทำให้คาดการณ์ว่าปีนี้จีนจะมีดุลการค้าเกินดุลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อาจแตะเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์เลยทีเดียว แม้จีนจะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่ก็ยังคงพึ่งพาการส่งออกเพื่อชดเชยความอ่อนแอของเศรษฐกิจภายในประเทศ
ในช่วงการหาเสียง ทรัมป์ขู่ว่าจะเพิ่มภาษีสินค้าจีนสูงถึง 60% ซึ่งบลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์คาดการณ์ว่าจะทำลายการค้าระหว่างสองเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลก
ในช่วงดำรงตำแหน่งวาระแรก ทรัมป์ได้เรียกเก็บภาษีสูงถึง 25% กับสินค้าจีนมูลค่ากว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ซึ่งนำไปสู่การตอบโต้จากปักกิ่ง และประธานาธิบดีโจ ไบเดนก็ยังคงใช้มาตรการเหล่านี้ต่อไป
นักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์กอีโคโนมิก นำโดยฉาง ชู, เอริค จู และ เดวิด ชิว มองว่าการปรับนโยบายมุ่งเน้นการเติบโตล่าสุดของจีนมีศักยภาพที่จะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าเร็วขึ้น แต่สงครามการค้ากับสหรัฐ ในปี 2568 จะคุกคามโอกาสนั้น ความท้าทายสำหรับปักกิ่งคือการเปลี่ยนแผนกระตุ้นเศรษฐกิจให้เป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโต และปกป้องเศรษฐกิจจากคลื่นภาษีทรัมป์อีกระลอก
อาร์เจน วาน ดิจค์ไฮเซน นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารเอบีเอ็น แอมโร คาดการณ์ว่า การขึ้นภาษีสินค้าจีนรอบใหม่จะส่งผลกระทบรุนแรงกว่าครั้งก่อน (ปี 2018-2019) แม้จีนจะลดการพึ่งพาสหรัฐฯ ไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังคงมีความกังวล จีนจึงมีแผนรับมือหลายอย่าง เช่น ปล่อยให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลง และเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ
อ้างอิง Bloomberg