9 เดือนแรกไทย ขาดดุลการค้า 2 แสนล้าน แม้ส่งออกโต นำเข้าสินค้าตลาดจีนยังพุ่ง

9 เดือนแรกไทย ขาดดุลการค้า 2 แสนล้าน แม้ส่งออกโต นำเข้าสินค้าตลาดจีนยังพุ่ง

เปิดข้อมูลตัวเลขนำเข้าสินค้าไทย 9 เดือนแรก 2.29 แสนล้าน ขยายตัว 5% จากปีก่อน ส่งผลไทยขาดดุลการค้าในช่วง 9 เดือนแรกกว่า 2 แสนล้านบาท สินค้าสำเร็จรูปและสินค้าทุนยังพุ่งสูง ส่องตลาดสินค้าที่ไทยนำเข้าเพิ่มยังเป็นการขยายตัวในตลาดจีน ฮ่องกง และ CLMV

KEY

POINTS

  • เปิดข้อมูลตัวเลขนำเข้าสินค้าไทย 9 เดือนแรก 2.29 แสนล้าน ขยายตัว 5% จากปีก่อน
  • ไทยขาดดุลการค้าในช่วง 9 เดือนแรกกว่า 2 แสนล้านบาท
  • ยอดนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปและสินค้าทุนยังพุ่งสูง
  • ตลาดสินค้าที่ไทยนำเข้าเพิ่มยังเป็นการขยายตัวในตลาดจีน ฮ่องกง และ CLMV 

การส่งออกและนำเข้า ถือเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจ โดยหากการนำเข้าสอดคล้องกับการผลิต และการส่งออกที่ขยายตัวก็หมายความว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย  

การส่งออกประเทศไทย ปี 2567 ถือว่ากลับมาฟื้นตัวได้อย่างน่าพอใจในระดับหนึ่ง โดยภาพรวมการส่งออกไทย 9 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่า 223,176 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.9 % เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 4.2 %  โดยกระทรวงพาณิชย์คาดหวังว่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวได้ประมาณ 2% และมูลค่าการส่งออกรวมจะพุ่งไปแตะ 2.9 แสนล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตามในส่วนของตัวเลขการนำเข้าก็พบว่ายังมีมูลค่าสูง โดยใน 9 เดือนแรกประเทศไทยมีการนำเข้าสินค้ามูลค่ารวม 229,132.8 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 5.5 % ดุลการค้า 9 เดือนแรก ขาดดุลการค้า 5,956.8 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าตัวเลขการนำเข้าสินค้าไทยสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะมูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือน ก.ย. อยู่ที่ 25,588.9 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวสูง 9.9% นับเป็นการขยายตัวสูงติดต่อกันแล้ว 4 เดือน 

9 เดือนแรกไทย ขาดดุลการค้า 2 แสนล้าน แม้ส่งออกโต นำเข้าสินค้าตลาดจีนยังพุ่ง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่าการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นของไทยนั้นเป็นการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวสูง 25.7% 13.8% และ 9.7% ตามลำดับ

ขณะที่การนำเข้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งหดตัวแรงต่อเนื่อง -36.6% เทียบ -23.8% ในเดือนก่อน และการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงพลิกกลับมาหดตัว -11.3% อย่างไรก็ตาม ดุลการค้าระบบศุลกากรในเดือนนี้เกินดุลติดต่อกัน 2 เดือนอยู่ที่ 394.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สวนทางกับภาพรวม 3 ไตรมาสแรกของปี 2024 ดุลการค้าไทยยังคงขาดดุลฯ 5,956.83 ล้านดอลลาร์

ไทยนำเข้าสินค้าจากฮ่องกง และจีนพุ่ง

ส่วนการนำเข้าสินค้าของประเทศไทยจากประเทศ และเขตเศรษฐกิจต่างๆจากข้อมูลจะเห็นว่ามีการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ได้แก่

  • การนำเข้าจากฮ่องกงในปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 104%
  • การนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น 11.1%
  • การนำเข้าสินค้าจาก CLMV เพิ่มขึ้น 5.8%
  • นำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 3.3%
  • ขณะที่ประเทศที่ไทยนำเข้าสินค้าลดลงมากในปีนี้คือนำเข้าจากญี่ปุ่นลดลง 11.3%
  • นำเข้าจากออสเตรเลียลดลง 26.9%
  • นำเข้าจากอินเดียลดลง 7.1%

9 เดือนแรกไทย ขาดดุลการค้า 2 แสนล้าน แม้ส่งออกโต นำเข้าสินค้าตลาดจีนยังพุ่ง ทั้งนี้น่าสนใจว่าการนำเข้าสินค้าจากฮ่องกงและจีนมีการขยายตัวมากในเดือน ก.ย.ขยายตัวมากเป็นพิเศษ โดยในเดือน ก.ย.การนำเข้าสินค้าจากฮ่องกงเพิ่มขึ้น 593.2% และจากจีนเพิ่มขึ้นในเดือน ก.ย. 16.9%

จากตัวเลขการนำเข้าที่สูงขึ้นโดยเฉพาะจากจีน และฮ่องกงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของด่านการส่งออกสินค้าที่สำคัญจากจีน เป็นตัวเลขหนึ่งที่บอกว่าการแก้ปัญหาสินค้านำเข้าจากจีนที่ทะลักเข้ามาในไทยจนกระทบกับผู้ผลิตและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในไทยนั้นยังเป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องนี้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีการสั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ดำเนินการเรื่องนี้ควบคู่กับการหามาตรการมารองรับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานที่ทะลักเข้ามาขายในไทยให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

นอกจากนี้ SCB EIC ยังประเมินว่าการส่งออกปีนี้จะขยายตัวได้ 2.6% และในปี 2568 จะขยายตัวได้ 2.8% ตามลำดับ) อย่างไรก็ดี ตัวเลขส่งออก 2 เดือนที่ผ่านมาขยายตัวได้สูงกว่าที่ SCB EIC คาดการณ์ไว้และสูงกว่ามุมมองตลาดมาก ส่วนหนึ่งจากการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลกและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น ส่งผลให้มูลค่าส่งออกในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2024 ขยายตัวถึง 3.9% (ตัวเลขระบบศุลกากร)

ประกอบกับมูลค่าการส่งออกในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่องจากผลของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้นและปัจจัยฐานที่ค่อนข้างต่ำ มูลค่าการส่งออกปีนี้จึงมีแนวโน้มขยายตัวมากกว่าประมาณการเดิมที่ 2.6% ซึ่ง SCB EIC อยู่ระหว่างการปรับประมาณการส่งออกต่อไป
 

5 ปัจจัยท้าทายส่งออก 

อย่างไรก็ดี มีปัจจัยที่ต้องพิจารณารอบด้านในเรื่องของการส่งออกที่ต้องเฝ้าระวังได้แก่

1.เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากครึ่งแรกของปี โดยเฉพาะภาคการผลิตที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการค้าโลกสูงหดตัว สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตโลกที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 นอกจากนี้ องค์ประกอบของดัชนี PMI ที่สะท้อนอนาคต เช่น ยอดคำสั่งซื้อใหม่และคาดการณ์ปริมาณผลผลิตมีแนวโน้มลดลง (รูปที่ 4) ในระยะข้างหน้าจะมีปัจจัยลบกดดันเศรษฐกิจและการค้าโลกมากขึ้น อาทิ ความไม่แน่นอนของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สงครามในหลายพื้นที่มีความยืดเยื้อและรุนแรงขึ้นที่อาจทำให้ค่าระวางเรือกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง (รูปที่ 6 ขวา) และมาตรการกีดกันการค้าที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ

2. China overcapacity ทำให้จีนส่งออกตลาดโลกเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากอุปสงค์ในจีนยังซบเซา ซึ่งอาจซ้ำเติมปัญหาความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยเฉพาะความสามารถในการแข่งขันด้านราคากับสินค้าจีน ทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลก (รูปที่ 5 ขวา)

3.อินเดียยกเลิกการห้ามส่งออกข้าว หลังจากควบคุมการส่งออกข้าวมาตั้งแต่ ก.ค. 2023 อาจส่งผลให้ราคาและปริมาณข้าวไทยส่งออกลดลง เนื่องจากอุปทานข้าวในตลาดโลกที่มากขึ้น และไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดข้าวที่ได้เพิ่มมากลับคืนให้อินเดีย

4.ภัยธรรมชาติและสภาพอากาศแปรปรวน สถานการณ์น้ำท่วมในบางภูมิภาคของไทยเริ่มคลี่คลาย พื้นที่เกษตรที่ได้รับผลกระทบยังไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับภัยน้ำท่วมในอดีต โดยเบื้องต้น SCB EIC ประเมินมูลค่าความเสียหายน้ำท่วมในภาคเกษตรราว 4,700 ล้านบาท โดยหลักมาจากพื้นที่ปลูกข้าวที่คาดว่าจะเสียหาย 0.8 ล้านไร่ ซึ่งคิดเป็นเพียง 0.7% ของพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งจะกระทบการส่งออกข้าว

5.ค่าเงินบาทผันผวน อาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกไทย และรายได้หรือกำไรในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกไทย (เงินบาทแข็งค่ามากถึง 9% ภายใน 3 เดือนที่ผ่านมา หรือแข็งค่า 4.6% นับตั้งแต่ต้นปี)