ตรวจแถวตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ แนวโน้มดีขึ้นยกแผงรับผู้นำคนใหม่
สหรัฐมีขนาดเศรษฐกิจ อิทธิพลในฐานะผู้นำโลก ดังนั้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจึงเป็นตัวกำหนดอย่างหนึ่งสำหรับทิศทางการเป็นไปของประชาคมโลก อย่างไรก็ตาม ด้านเศรษฐกิจการค้าของสหรัฐก็เผชิญปัญหาใหญ่ว่าด้วยการขาดดุลการค้ามหาศาล
สำนักงานสถิติสหรัฐ (U.S. Census Bureau) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ รายงานสถิติดุลการค้า (ส่งออก – นำเข้า) ประจำเดือนส.ค. 2567 (ข้อมูลล่าสุด) ว่า สหรัฐ ขาดดุลการค้า(ทั้งสินค้าและบริการ)ในเดือนส.ค. 2567 สุทธิทั้งสิ้น 70,431 ล้านดอลลาร์ ลดลงเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 8,487 ล้านดอลลาร์ หรือลดลง10.75% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา
เป็นผลจากการส่งออกสินค้ามูลค่า 179,443 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 4,416 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 52% ส่วนการนำเข้าสินค้าเป็นมูลค่า 274,322 ล้านดอลลาร์ ลดลงเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 3,940 ล้านดอลลาร์ หรือลดลง42%
ท่ามกลางปัญหาขาดดุลการค้าที่ว่านี้ ไทยเป็นหนึ่งในคู่ค้าที่อาจถูกสหรัฐมองว่ากำลังมาค้าเพื่อเอาเปรียบเพราะข้อมูลชี้ว่าไทยได้ดุลการค้าสหรัฐมาอย่างต่อเนื่อง โดย ในเดือนส.ค. 2567 (ข้อมูลล่าสุด) สหรัฐ และไทยมีมูลค่าการค้าสุทธิทั้งสิ้น 6,462.22 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นคู่ค้าอันดับที่ 18 โดยการค้าสองฝั่งเพิ่มขึ้น 5.36% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา
"โดยสหรัฐ ขาดดุลการค้าไทยเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 3,778.73 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้น 16.85% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา แต่มูลค่าการค้ากับไทยที่ไม่ได้สูงมากทำให้ไทยหลุดจากเป้าหมายที่สหรัฐต้องคิดบัญชี ที่ทำให้สหรัฐขาดดุลการค้า เพราะต้องไปใช้เวลา และมาตรการกับคู่ค้า คู่แค้นอย่างจีนมากกว่า"
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก ระบุว่า ตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากทั้งสองพรรคมีแนวนโยบายในการบริหารประเทศที่แตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะในประเด็นด้านนโยบายภาษี นโยบายด้านการค้าและภาษี นโยบายความสัมพันธ์กับจีน และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ว่า ผลการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นผู้ใดย่อมจะส่งผลต่อการค้าการลงทุนระหว่างประเทศของไทย โดยเฉพาะด้านการส่งออกที่สหรัฐ ถือเป็นประเทศคู่ค้าที่นำเข้าจากไทยมากที่สุด โดยในระหว่างเดือนม.ค.-ก.ค. 2567 สหรัฐ นำเข้าจากไทยเป็นมูลค่าสูงถึง 4.06 หมื่นล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ หากเป็นกรณีที่รองประธานาธิบดีกมลา แฮรริส เป็นผู้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทิศทางด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศระหว่างไทยและสหรัฐ น่าจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะ สหรัฐ ยังคงมีนโยบายเรียกเก็บภาษีตอบโต้สินค้านำเข้าจากจีนหลายรายการ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการไทยในการเพิ่มความสามารถในการเข่งขัน
รวมถึงโอกาสในการขยายการส่งออกสินค้าชิ้นส่วนรถยนต์และยางรถยนต์ของผู้ประกอบการไทยเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในสหรัฐ ที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้จากปัจจัยด้านอัตราภาษีที่ปรับตัวลดลง รวมถึงปัจจัยด้านนโยบายสนับสนุนของรัฐบาล อีกทั้ง ยังน่าจะเป็นโอกาสสำหรับกลุ่มสินค้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น สินค้ากลุ่มแผงผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์
อย่างไรก็ตาม สหรัฐ ได้กลับมาดำเนินมาตรการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การหลีกเลี่ยงภาษีทุ่มตลาด (Anti-Circumvention Duty) สินค้าดังกล่าวที่นำเข้าจากไทยเมื่อช่วงต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐ ได้ นอกจากนี้ นโยบายการปรับเพิ่มภาษีธุรกิจอาจจะส่งผลทำให้กลุ่มผู้ประกอบการในสหรัฐ พิจารณาปรับลดงบประมาณการลงทุนเพื่อชดเชยมูลค่าภาษีที่เพิ่มขึ้นจึงอาจจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความต้องการบริโภคในระยะยาวได้
อย่างไรก็ตาม หากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะเลือกตั้งในครั้งนี้ แม้ว่านโยบายการตอบโต้ทางการค้าจีนจะเข้มข้นมากขึ้น แต่ไทยซึ่งมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศเกินดุลสหรัฐ สูงก็อาจจะเป็นเป้าหมายในการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐ ได้ในอนาคต
“สหรัฐ ได้เคยดำเนินมาตรการกดดันไทย โดยไทยเคยเป็นหนึ่งใน 16 ประเทศที่สหรัฐ เปิดการไต่สวนประเด็นการค้าเกินดุลสหรัฐสูง รวมถึงเคยถูกระงับสิทธิ GSP สินค้าไทยทั้งสิ้น 573 รายการในช่วงที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี”
นอกจากนี้ นโยบายการไม่สนันสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและการรักษาสิ่งแวดล้อมยังอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกสินค้ากลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไทยได้
ส่วนนโยบายด้านเศรษฐกิจในการปรับลดภาษีบุคคลและธุรกิจ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยในตลาด แม้ว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง การดำเนินมาตรการตอบโต้การค้าจีนที่รุนแรงควบคู่กันอาจจะส่งผลทำให้ราคาสินค้าและบริการในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงและอาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สหรัฐ จะต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ซึ่งอาจจะลุกลามไปถึงขั้นก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในอนาคต
สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐที่สำคัญได้แก่ภาวะเงินเฟ้อ สำนักงานสถิติแรงงาน (Bureau of Labor Statistics) กระทรวงแรงงานสหรัฐ (U.S. Department of Labor) รายงานภาวะเงินเฟ้อสหรัฐ ประจำเดือนก.ย. 2567 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าเหลือ2.4%
สำนักงานสถิติแรงงาน (Bureau of Labor Statistics) กระทรวงแรงงานสหรัฐ (U.S. Department of Labor) รายงานอัตราการว่างงานสหรัฐ ประจำเดือนก.ย. 2567ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาเล็กน้อยเป็น 4.1% มีผู้ว่างงานในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนทั้งสิ้น 6.3 ล้านคน มีปริมาณการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Nonfarm Payroll Employment) เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 254,000 ตำแหน่ง ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 203,000 ตำแหน่งต่อเดือน
กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการโรงแรมและการท่องเที่ยว 78,000 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมบริการอาหารและเครื่องดื่ม 69,000 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมบริการด้านสุขภาพ 45,000 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมการจ้างงานภาครัฐ 31,000 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมสังคมสงเคราะห์ 27,000 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมก่อสร้าง 25,000 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมบริการทางธุรกิจ 17,000 ตำแหน่ง และอุตสาหกรรมค้าปลีก 15,600 ตำแหน่ง
“อย่างไรก็ตาม ก็พบว่ามี กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมการขนส่งและคงคลังสินค้า 8,600 ตำแหน่ง และอุตสาหกรรมการผลิต 7,000 ตำแหน่งส่วนการจ้างงานในอุตสาหกรรมค้าส่ง อุตสาหกรรมเหมืองแร่และขุดเจาะพลังงาน อุตสาหกรรมสารสนเทศ อุตสาหกรรมการเงิน และอุตสาหกรรมบริการอื่นๆ ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก”
ด้านสำนักงานวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐ (U.S. Bureau of Economic Analysis) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ (U.S. Department of Commerce) รายงานมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติแท้จริง (Real GDP) สหรัฐ ไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ขยายตัวเพิ่มขึ้น3.0% และไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ประมาณการล่วงหน้า (Advance Estimate) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.8%
"ด้านแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 เป็นผลมาจากการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคประชาชน การส่งออก และการใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึงภาคการนำเข้าที่ชะลอตัวลงในช่วงดังกล่าวซึ่งล้วนส่งผลดีต่อการขยายตัวของจีดีพีสหรัฐ "
ข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ หลายรายการเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เหมือนกำลังเตรียมต้อนรับผู้นำคนใหม่ แต่สหรัฐก็ยังมีปัญหาคาใจที่สำคัญนั่นคือการแก้ไขการขาดดุลการค้า ซึ่งประเทศไทยแม้ไม่ใช่เป้าหมายหลักของสหรัฐ แต่ก็เป็นกลุ่มที่ได้ดุลการค้าสหรัฐมาช้านาน ไทยอาจเป็นเป้าหมายการใช้มาตรการทางการค้าต่างๆ ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการส่งออกและเศรษฐกินของประเทศไทยในที่สุด