จับตา ‘เวียดนาม’ ในยุคทรัมป์ 2.0 ‘เกินดุลการค้า’ คือปัญหาใหญ่

จับตา ‘เวียดนาม’ ในยุคทรัมป์ 2.0 ‘เกินดุลการค้า’ คือปัญหาใหญ่

'เวียดนาม' เคยได้ประโยชน์มากที่สุดในยุค 'ทรัมป์ 1.0' จากการย้ายฐานผลิตจากจีนหนีไปประเทศอื่น แต่รัฐบาลทรัมป์ 2.0 อาจไม่ใช่เรื่องง่ายของเวียดนามอีกแล้ว โดยเฉพาะเมื่อมีการค้าเกินดุลกับสหรัฐติด 1 ใน 10 ประเทศแรก

การกลับมาของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้หลายประเทศนั่งไม่ติด โดยเฉพาะกลุ่มประเทศส่งออกในเอเชียที่คาดว่าจะโดนผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากมาตรการทางเศรษฐกิจของทรัมป์ จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้นำหลายประเทศจะต้องเตรียมแผนรับมือและตื่นตัวหาทาง “คุยกับสหรัฐ”

ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ปราโบโว ซูเบียนโต เดินทางเยือนสหรัฐในสัปดาห์ก่อนไปเข้าร่วมการประชุมเอเปคช่วงสุดสัปดาห์ที่เปรู โดยได้พบปะพูดคุยกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ทำเนียบขาว ส่วนพล.อ.โต เลิม เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้ “ยกหู”โทรศัพท์ถึงทรัมป์เพื่อแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสที่ชนะการเลือกตั้ง และยังได้พูดคุยถึงแนวทางที่จะเพิ่มความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันด้วย

“เวียดนามพร้อมที่จะส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีที่มั่นคงและยาวนานเพื่อประโยชน์ของประชาชนของทั้งสองประเทศ” ผู้นำสูงสุดของเวียดนามกล่าวในการโทรศัพท์ถึงทรัมป์ โดยที่คู่สนทนาก็แสดงความเคารพต่อความสัมพันธ์กับเวียดนามและความร่วมมือทางเศรษฐกิจสองประเทศ พร้อมแสดงความต้องการที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์นี้ต่อไป

นอกจากจีนที่เป็นคู่แข่งเบอร์ 1 ของสหรัฐแล้ว “เวียดนาม” ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังถูกจับตามองเรื่องผลกระทบอย่างใกล้ชิดเช่นกัน เจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญด้านห่วงโซ่อุปทานหลายรายเปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า แม้ในทางหนึ่งเวียดนามจะได้รับประโยชน์จากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่เพิ่มมากขึ้น แต่เรื่องนี้ก็อาจกลายเป็น “ความเสียหายทางอ้อม” จากมาตรการปกป้องทางการค้าของสหรัฐได้เช่นกัน

เวียดนามถือเป็นประเทศลำดับต้นๆ ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากสงครามภาษีระหว่างสหรัฐกับจีน ในสมัยตั้งแต่ทรัมป์ดำรงแหน่งประธานาธิบดีครั้งแรก

จับตา ‘เวียดนาม’ ในยุคทรัมป์ 2.0 ‘เกินดุลการค้า’ คือปัญหาใหญ่

แต่ในการกลับมาครั้งใหม่นี้กับยุคทรัมป์ 2.0 เจ้าหน้าที่เวียดนามหลายคนแสดงความกังวลว่าสถานการณ์อาจไม่เหมือนเดิม อย่างน้อยก็มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเวียดนาม 2 คนที่เปิดเผยกับรอยเตอร์สก่อนการเลือกตั้งสหรัฐว่า อยากให้ได้ประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตมากกว่า

เหตุผลความกังวลหลักก็คือ เวียดนามมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐค่อนข้างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่เวียดนามถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบชิ้นส่วนที่ยังคงผลิตในจีนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งบางครั้งนำไปสู่การคว่ำบาตรของสหรัฐ กรณีการขนถ่ายสินค้าที่ผิดกฎหมาย

ฮับอุตสาหกรรมรายใหญ่ในอาเซียนแห่งนี้เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ไปยังตลาดสหรัฐ และมีดุลการค้าเกินดุลกับวอชิงตันถึง 9 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 3.13 แสนล้านบาท) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2567 ซึ่งถือเป็นประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐมากที่สุดในอันดับ 4 รองจากจีน สหภาพยุโรป และเม็กซิโก

ในปี 2566 ที่ผ่านมา เวียดนามยังติดอันดับ 10 ประเทศแรกที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐมากที่สุดในอันดับที่ 8

จับตา ‘เวียดนาม’ ในยุคทรัมป์ 2.0 ‘เกินดุลการค้า’ คือปัญหาใหญ่

ปัจจุบันไม่ได้มีเพียงแค่จีนเท่านั้นที่ถูกทรัมป์ขู่ว่าจะขึ้นภาษีศุลกากรเป็น 60% เพราะทรัมป์ขู่จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจาก “ทุกประเทศ” ในอัตราราว 10-20% ทำให้ประเทศส่งออกเสี่ยงที่จะโดนผลกระทบมากที่สุด และปัจจุบันเวียดนามมีการส่งออกไปสหรัฐ “สูงที่สุดเป็นอันดับ 1” ในสัดส่วนประมาณ 27% ตามมาด้วยส่งออกไปจีน 17% และไปสหภาพยุโรป (อียู) 12% จากข้อมูลในปี 2566 โดยอาเซียนสแตท

ด้านบลูมเบิร์กระบุว่า การเกินดุลการค้ากับสหรัฐในปริมาณมากนั้น นอกจากเสี่ยงที่จะเผชิญมาตรการตอบโต้ทางการค้าตามมาแล้ว เวียดนามยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่ยังต้องง้อสหรัฐและยังไม่ประสบความสำเร็จในยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน นั่นก็คือ การยอมรับให้เวียดนามเป็นประเทศเศรษฐกิจระบบตลาด (Market economy)

เมื่อเดือนก.ค. ที่ผ่านมา สหรัฐได้ประกาศผลการพิจารณาว่า เวียดนามยังคงมีสถานะเป็นระบบเศรษฐกิจที่ไม่ใช่ตลาด (non-market economy) ซึ่งงจะทำให้สหรัฐยังคงใช้เกณฑ์เดิมในการคำนวณอัตราภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดจากสินค้าของเวียดนามที่มีการส่งออกไปยังสหรัฐ โดยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่ยังคงสถานะเดิมของเวียดนามอยู่ หลังจากที่หลายประเทศ เช่น อังกฤษ แคนาดา และญี่ปุ่น ยอมรับสถานะใหม่ของเวียดนามแล้ว

อย่างไรก็ตาม นักการทูตระดับสูงรายหนึ่งในกรุงฮานอยเปิดเผยกับรอยเตอร์สว่า ปัญหาการเกินดุลการค้าที่อาจทำให้ถูกเพ่งเล็งสามารถลดความตึงเครียดได้โดยการซื้อสินค้าจากสหรัฐให้มากขึ้นแทน โดยอาจเป็นการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีให้มากขึ้น หรือการซื้อเครื่องบินลำเลียงทางทหาร C-130 ของล็อกฮีด มาร์ติน

นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติรายหนึ่งเปิดเผยว่า การที่บริษัทในเครือของทรัมป์อย่าง Trump Organization ได้ร่วมมือกับบริษัทในเวียดนามเพื่อพัฒนาโครงการสนามกอล์ฟและโรงแรมมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ในเวียดนามเมื่อไม่นานนี้ ก็อาจมีผลช่วยในเชิงความสัมพันธ์ได้บ้างเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม โคน โซเนินส์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของนิคมอุตสาหกรรมดีปซี ทางตอนเหนือของเวียดนามกล่าวว่า ความไม่แน่นอนยังคงมีอยู่เนื่องจากรัฐบาลทรัมป์ชุดใหม่ “เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับเวียดนาม”

เช่นเดียวกับที่แดน มาร์ติน ที่ปรึกษาด้านธุรกิจในกรุงฮานอยจากบริษัทที่ปรึกษาการลงทุน Dezan Shira & Associates กล่าวว่า แม้การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งที่สองของทรัมป์คาดว่าจะทำให้มีการปรับนโยบายการค้าของสหรัฐใหม่ แต่โดยหลักแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงต่อเวียดนามนั้นขึ้นอยู่กับขอบเขตและเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงของการเปลี่ยนแปลงนโยบายเหล่านั้น

“ศักยภาพของเวียดนามในการดึงดูดบริษัทต่างๆ ที่ย้ายฐานการผลิตจากจีนยังคงมีอยู่มาก แต่ภาษีศุลกากรและข้อจำกัดทางการค้าก็อาจส่งผลกระทบต่อผลกำไรเหล่านี้เช่นกัน” ชไนเดอร์กล่าวเสริม