ภาครัฐคือลมใต้ปีก เอื้อเอกชนลงทุน ‘ยั่งยืน’
ไม่ใช่แค่ภาคเอกชนเท่านั้นที่เป็นตัวแปรสำคัญให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพราะภาครัฐก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยโดยเฉพาะการให้ความสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรมนุษย์
การพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) เป็นแนวทางการพัฒนาของโลกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน การปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชากรโดยเน้นความเสมอภาค, ความยั่งยืน, ความหลากหลายทางชีวภาพ และความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม จะเกิดขึ้นได้ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันลงมือทำ ซึ่งในการสัมมนา Sustainability Forum 2024 ที่ศูนย์การประชุมไบเทค บางนา ระหว่างวันที่ 13-14 ธ.ค.2566 ที่ “กรุงเทพธุรกิจ” จัดขึ้นทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญในการนำพาประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แต่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างรับผิดชอบครอบคลุม SDGs ทั้ง 17 ข้อได้จะต้องอาศัยภาครัฐหนุนช่วยเป็นลมใต้ปีกเกื้อหนุนเอกชนให้บรรลุเป้าหมาย
สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) เรียกร้องให้ภาคธุรกิจต่างๆไม่ว่าจะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ หรือ รายย่อยดำเนินการ Forward Faster ใน 5 ประเด็นเป้าหมายที่
พร้อมกันนี้ยังสามารถนำ “คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน และมาตรฐานผลกระทบ SDG” มาเป็นกรอบในการดำเนินธุรกิจการพัฒนาที่ยั่งยืน ตั้งแต่ลดก๊าซเรือนกระจก การจัดการขยะ ไปจนถึงช่วยปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจของทั้งองค์กรและของคู่ค้าเพื่อความยั่งยืนและจัดทำรายงานประจำปี (แบบ 56-1 One Report) รวมถึงการนำ ESG (Environment, Social, Governance) มาเป็นกลยุทธ์ดำเนินธุรกิจ พร้อมเผยแพร่ให้สาธารณะได้รับรู้ว่า “บริษัทเอกชน” นั้นๆ ดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนอย่างไร สอดคล้องกับมาตรฐานสากลหรือไม่
การเปิดเผยรายงานด้านความยั่งยืนต่อสาธารณะที่มีความโปร่งใส ประสิทธิภาพ สามารถตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ช่วยดึงนักลงทุนที่สนใจการลงทุนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น สถาบันการเงินก็จะปล่อยสินเชื่อสีเขียวได้มากขึ้น แต่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) จำเป็นต้องเป็นความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ระหว่างตัวแทนภาครัฐและตัวแทนที่ไม่ใช่รัฐช่วยกันลงมือทำ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ถึงจะเป็นจริง
ที่สำคัญการมีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนให้บริษัทจดทะเบียน ไม่ใช่แค่เพียงเพื่อให้ดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังสามารถประเมินและพิสูจน์ว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม ช่วยให้การลงทุนของภาคธุรกิจสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นแรงกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ ให้ความสำคัญด้านการพัฒนาและลงทุนเกี่ยวกับ SDGs สร้างความตระหนักรู้ถึงสถานการณ์ เตรียมความพร้อมในการรับมือ บริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และแสวงหา โอกาสในการแก้ไขปัญหารวมทั้งต่อยอดธุรกิจไประดับโลก