ขึ้น และ ลง
วันสุดท้ายของปี พ.ศ. ๒๕๖๗ ใกล้เข้ามาเต็มทน เป็นปีที่วงการอุตสาหกรรมและธุรกิจยานยนต์ อยู่ในภาวะหนักหนาสาหัสทั้งโลก ด้วยเหตุผลและเงื่อนไขหลายๆต่อหลายอย่าง
ทำให้ตัวเลขการผลิตและจำหน่ายทุกประเทศลดลง นักวิเคราะห์หลายท่านอ้างว่า เป็นเพราะการก้าวเข้ามาของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า แต่หากย้อนกลับไปดูตัวเลขการผลิตและจำหน่ายรถยนต์รวมทุกประเภท จะพบว่าในทุก ๆ ประเทศล้วนมีอัตราลดลงทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นแม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะก้าวเข้ามา เบียดแย่งยอดการจำหน่ายของรถยนต์สันดาปภายในบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ยอดผลิตและจำหน่ายรวมเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
สิ่งที่น่าจะคำนึงถึงเป็นอย่างมากก็คือ รัฐบาลแต่ละประเทศพยายามสร้างโครงข่ายการเดินทางสาธารณะ ให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองหลักหรือเมืองใหญ่ ๆ ซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญของรถยนต์ทั้งสิ้น บวกกับวิถีชีวิตของคนยุคใหม่ ที่มีแนวคิดในการเดินทางเปลี่ยนไป ด้วยการหันไปหาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะในรูปแบบต่างๆ และเมื่อต้องการใช้รถยนต์เพื่อความสะดวกในแต่ละครั้ง ก็จะหันไปใช้วิธีการเช่าเพื่อใช้งานเป็นครั้งคราวมากขึ้น ซึ่งทำให้ความต้องการที่จะเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์มีน้อยลงไป
เมื่อพูดถึงยอดการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ที่ตกต่ำลง ก็อดนึกไปถึงการโต้เถียงกันในโซเชียลมีเดียไม่ได้ เพราะกำลังเป็นประเด็นว่าจะมีผู้จำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อใดถอนตัวไปจากประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งมีการโยงเอาข่าวต่างประเทศมาขยายความกันว่า ผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้ มีสถานะทางการเงินที่ไม่มั่นคง จึงอาจจะส่งผลมาถึงบริษัทลูกในไทย ว่าอาจจะต้องเลิกรากิจการไป หากบริษัทแม่ต้องล้มละลาย บ้างก็ว่าบริษัทผู้จำหน่ายรถยนต์บางยี่ห้อมีบริษัทแม่ที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกสูงมาก จึงไม่มีทางที่บริษัทนั้นจะเลิกกิจการในไทย
การคาดเดาทั้งหมดที่เกิดขึ้น ผมว่าผู้ที่วิเคราะห์ความมั่นคงของแต่ละบริษัท คงลืมนึกถึงบทเรียนในอดีตที่ผ่านมาไม่นานว่า บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ระดับหัวแถวของโลกหลายยี่ห้อ ที่เข้า ๆ ออก ๆ ตลาดประเทศไทยไม่รู้กี่รอบ เปลี่ยนผู้ทำการตลาดมาแล้วหลายครั้ง หรือแม้แต่ล่าสุด เจนเนอรัล มอเตอร์ส ซึ่งถือว่าเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ระดับแนวหน้าของโลก มีผลประกอบการในประเทศต่าง ๆ อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ ยังต้องถอนตัวไปจากไทยอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะฉะนั้นอย่าไปคาดหวังว่า บริษัทที่มีฐานะทางการเงินมั่นคง มีตัวเลขผลประกอบการในหลายประเทศเป็นที่น่าพอใจ จะไม่มีวันถอนตัว
ย้อนกลับมาถึงช่วงเวลาสุดท้ายของปี ซึ่งเป็นเวลาที่มีวันหยุดราชการเป็นจำนวนหลายวัน นั่นหมายความว่ามีคนจำนวนมาก วางแผนที่จะไปท่องเที่ยว หลายคนมีแผนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่แน่นอนว่ามีจำนวนไม่น้อยที่จะท่องเที่ยวในประเทศ ทั้งเดินทางโดยระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ และทั้งในรูปแบบของการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ซึ่งช่วงเวลาส่งท้ายปีอย่างนี้ หลายคนอยากจะไปสัมผัสอากาศเย็นตามยอดดอยสูง ผมจึงอยากจะเอาเรื่องการขับรถขึ้นและลงภูเขา หรือทางสูงชันมาแนะนำกันเอาไว้ เพื่อให้เดินทางกันได้อย่างปลอดภัย
การขับรถขึ้นทางสูงชันนั้นมีสิ่งที่ควรระวังก็คือ ความเสียหายจากการความร้อนของเครื่องยนต์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกเทศกาลตลอดมา อาจเป็นด้วยว่าผู้ขับรถเกรงว่ารถยนต์ที่ตนเองขับนั้น จะมีกำลังไม่เพียงพอต่อการขับขึ้นเขาสูงชัน จึงเร่งเครื่องยนต์ให้ทำงานในรอบสูง ๆ ตลอดเวลา นอกจากนั้นยังใช้เกียร์ต่ำหรือลากเกียร์เป็นระยะทางยาว ดังนั้นหากไม่แน่ใจว่ารถยนต์ที่ตนเองขับจะขึ้นทางสูงชันไหวหรือไม่ ให้ขับในรอบเครื่องยนต์ที่ไม่สูงเกินไป และใช้เกียร์ให้เหมาะสมกับองศาความชัน หรือให้เหมาะสมกับระยะความยาวของทางขึ้นเนินสูงนั้น ๆ หากพบว่าเข็มจากมาตรวัดความร้อนชี้สูงขึ้น ให้หาพื้นที่ข้างทางที่ปลอดภัย จอดพักรอจนเครื่องยนต์เย็นลง แล้วจึงค่อยเดินทางต่อไป
สิ่งสำคัญสำหรับการขับรถขึ้นลงภูเขาสูงชันก็คือ ในช่วงการขับลงทางลาดชันหรือลงจากภูเขา ซึ่งคนขับรถทั่วไปมักจะประมาทว่าง่ายกว่าขับขึ้นทางชัน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การขับขึ้นทางชันหากผิดพลาด หรือเครื่องยนต์ทนทานไม่ไหว อย่างเก่งก็มีความเสียหายที่เครื่องยนต์เท่านั้น แต่ในกรณีที่เป็นการขับลงจากทางลาดชันหรือลงจากภูเขา หากมีความผิดพลาดจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง จนถึงขั้นเสียชีวิตขึ้นมาดังที่เป็นข่าวบ่อยๆได้
เพราะฉะนั้นเมื่อต้องขับรถลงจากภูเขา หรือลงจากทางลาดชันมาก ๆ หรือเป็นทางลาดชันที่มีองศาไม่มาก แต่มีทางลงเป็นระยะทางยาว ๆ ผู้ทำหน้าที่ขับรถจึงต้องทำหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง ต้องใช้เกียร์ต่ำให้สัมพันธ์กับความเร็วของรถที่ไหลลง และต้องเรียนรู้วิธีการใช้เบรกที่ถูกต้อง โดยไม่ใช้เบรกแบบที่เรียกกันว่าเลียเบรก หากมีกลิ่นไหม้เกิดขึ้นไม่ว่าจากเบรกหรือจากคลัทช์ก็ตาม ต้องหาพื้นที่ปลอดภัยเพื่อจอดพักรถให้ความร้อนลดลง
ปัจจุบันนี้มีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจำนวนมาก ซึ่งผู้ขับรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามักจะคิดว่า รถยนต์ของตนเองไม่มีเครื่องยนต์ จึงไม่มีปัญหาเรื่องความร้อนสูงจัดหรือโอเวอร์ฮีท ทำให้เกิดความประมาทขึ้นมา โดยลืมไปว่าในรถยนต์พลังงานไฟฟ้านั้น แม้จะมีระบบอัดประจุไฟฟ้าย้อนกลับ หรือที่เรียกกันว่า KERS มาช่วยหน่วงความเร็วของรถขณะลงทางลาดชันได้ แต่ในทางปฏิบัติจริงแล้ว เมื่อลงทางลาดชันยาว ๆ จนไฟฟ้าถูกอัดประจุย้อนกลับไปสู่แบตเตอรี่จนเต็ม ระบบชาร์จหรืออัดประจุไฟฟ้าย้อนกลับ จะหยุดทำการทันที ทำให้รถยนต์ที่กำลังแล่นลงจากทางลาดชันหรือลงจากภูเขา ไม่มีระบบใดๆมาช่วยหน่วงความเร็ว นั่นคือผู้ขับต้องอาศัยการชะลอความเร็วด้วยเบรกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทำให้เกิดอันตรายจากเบรกที่จะเกิดความร้อนสูงขึ้นมาได้
จึงมีคำพูดบอกต่อกันมานานปีแล้วว่า “ขึ้นเขาไม่ไหวก็แค่เครื่องยนต์พัง แต่หากลงเขาแล้วเอาไม่อยู่ อาจจะถึงตายได้” ความหมายก็คือการขับรถขึ้นเขา มีอันตรายน้อยกว่าขับรถลงเขานั่นเอง ดังนั้นในช่วงปลายปีอย่างนี้ หากใครมีแผนที่จะขับรถไปรับอากาศเย็นบนดอยสูง ก็ให้คำนึงถึงคำพูดดังกล่าวเอาไว้ด้วย
หากไม่มั่นใจว่าตนเอง หรือรถยนต์ที่ตนเองขับ จะมีขีดความสามารถเพียงพอ ต่อการขึ้นและลงจากภูเขาได้หรือไม่ ก็ใช้บริการของรถยนต์ท้องถิ่นจะดีกว่านะครับ