ถอดบทเรียน CP ดัน 3 เป้าหมายธุรกิจยั่งยืน แนะรัฐหนุนใช้พลังงานสีเขียว
”ซีพี กรุ๊ป” ตั้งเป้า 3 Big Goals ลดของเสียฝังกลบ-เดินหน้าเน็ตซีโร่-หนุนการศึกษาแก้เหลื่อมล้ำ ขับเคลื่อนดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืน
“กรุงเทพธุรกิจ” จัดสัมมนาหัวข้อ “SUSTAINABILITY FORUM 2024” ระหว่างวันที่ 13-14 ธ.ค.2566 โดยมีภาคธุรกิจร่วมนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวในหัวข้อ “Lessons and Learns: Ways toward Sustainability” วันที่ 13 ธ.ค.2566 ว่า การขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเป้าหมายปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (Net Zero) ไม่สามารถทำแค่เพียงการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดแล้วจะสำเร็จ แต่ในเวลาเดียวกันบริษัทจะต้องลดและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
ทั้งนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ตั้งเป้าหมาย 3 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย
1.ลดของเสียที่ต้องนำไปฝังกลบให้เหลือศูนย์ภายในปี 2030 จากที่ปี 2022 ซีพีปริมาณของเสียที่ยังต้องนำไปฝังกลบ 10% หรือ 110,880 ตัน แบ่งเป็นขยะอาหาร สูญเสียจากการผลิต เถ้าถ่าน เปลือกไข่ และอื่นๆ
"สัดส่วนดังกล่าวถือเป็น 10% ที่มีความท้าทายที่ทำได้ยากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากธุรกิจค้าปลีก โดยกระบวนการด้านการขนส่ง การยืดอายุ และบรรจุภัณฑ์จะเป็นกุญแจหลักที่ช่วยลดความสูญเสียได้อย่างมีนัยสำคัญ”
2.บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2030 และเน็ตซีโร่ในปี 2050 จากในปี 2021 ที่เครือซีพีทั้งหมดครอบคลุม 22 ประเทศ มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์รวม 72.99 ล้านตันคาร์บอน
“ตามข้อเท็จจริงแล้ว ถ้าธุรกิจยังขยายตัวและเติบโตอยู่ ก็มีแต่จะสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากขึ้น ดังนั้นกระบวนการที่จะลดลงเป็นศูนย์คือเรื่องยากมาก“
อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนไม่ว่าอุตสาหกรรมอะไรก็ตามสามารถกำหนดแนวทางบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มสัดส่วนพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ใช้ขนส่งพลังงานสีเขียว รถยนต์ไฟฟ้า รถพลังงานไฮโดรเจน หรือจะเป็นไบโอแมส ไบโอแก๊ส ยกเลิกการใช้ถ่านหิน
"หากไม่มีส่วนผสมของการสนับสนุนจากภาครัฐ เอกชนก็จะทำได้ถึงแค่จุดหนึ่งเท่านั้น"
ทั้งนี้ ตัวช่วยที่สำคัญคือการกำหนดนโยบายจากภาครัฐ อาทิ การเพิ่มสัดส่วนผลิตพลังงานสะอาด การเปิดเสรีการใช้พลังงาน การใช้สมาร์ทกริดเพื่อให้ผลิตโซลาร์ฟาร์มจากอีกที่หนึ่งสามารถนำมาใช้กับภาคอุตสาหกรรมได้
3.สนับสนุนการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้คน 50 ล้านคน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ
“เป้าหมายเหล่านี้สอดคล้องกับทั้ง 17 หัวข้อใน SDGs Goal นอกจากนั้นยังได้น้อมนำหลักคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมากำหนดเป้าหมายความยั่งยืนด้วย เพราะพื้นฐานของความยั่งยืนเป็นเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม ลดการสร้างผลกระทบและมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม”