ถอดรหัสความคิด ‘แพทองธาร’ ชู 3 ข้อ โอกาส-ทางรอด เศรษฐกิจไทย
“แพทองธาร” ชูโอกาสเศรษฐกิจไทย ผ่านการผลักดัน 3 เรื่อง หารายได้เข้าประเทศ ชูเรื่องอาหาร – สุขภาพ – ซอฟต์พาวเวอร์ รับการเติบโตเศรษฐกิจปี 2568 ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตในระยะต่อไป
การดึงการลงทุนจากต่างประเทศถือว่าเป็นหนึ่งในแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยในปี 2568 ประกาศจะดึงการลงทุนในสาขาที่สำคัญๆเข้ามาช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้น รวมไปถึงเร่งรัดการลงทุนจริงของบริษัทที่มีการขอคำส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และเร่งการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของไทย
ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 อุตสาหกรรมที่ประเทศไทยต้องการส่งเสริม ที่สามารถส่งเสริมให้มีการลงทุนเพื่อเป็นการต่อยอดจากจุดแข็งของไทย และสร้างการเติบโตใหม่ที่เป็น New S curve ของประเทศ ประกอบไปด้วย 12 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย ยานยนต์สมัยใหม่, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, การแปรรูปอาหาร ,การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, หุ่นยนต์, การบินและโลจิสติกส์, การแพทย์ครบวงจร, เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, ดิจิทัล, การป้องกันประเทศ, การพัฒนาบุคลากรและการศึกษา ซึ่งแต่ละรัฐบาลที่เข้ามาก็มีการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป
โดยในระยะหลังๆมีการโฟกัสไปตามอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มที่จะมีการลงทุนมากขึ้นในช่วงนั้น เช่น การสนับสนุนยานยนต์สมัยใหม่ ในส่วนที่เป็นรถไฟฟ้า(EV) ส่วนธุรกิจในสาขาดิจิทัล ก็มาเน้นในส่วนของการสนับสนุนดาต้าเซ็นเตอร์ เช่นเดียวกับอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะก็มาเป็นการส่งเสริมการลงทุนชิปและเซมิคอนดักเตอร์
อย่างไรก็ตามเมื่อฟังจากนายกรัฐมนตรีที่ได้พูดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในงานสัมมนา PRACHACHAT THAILAND 2025 โอกาส,ความหวัง,ความจริง และกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ประเทศไทย : โอกาส- ความหวัง-ความจริง” นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ารัฐบาลพยายามสร้างโอกาสที่จับต้องได้ให้กับประชาชนคนไทย เพราะมองเห็นศักยภาพของคนไทยที่มีอยู่สูงแต่บางทีเข้าไม่ถึงโอกาส สิ่งที่รัฐบาลจะทำเป็นอย่างแรกคือกระตุ้นเศรษฐกิจให้คนไทยกินอยู่สบาย ถ้าปากท้องอิ่ม ศักยภาพในตัวก็จะออกมา ยืนยันเราจะขยายโอกาสให้มากที่สุดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
นายกรัฐมนตรีบอกว่าประเทศต้องหาเม็ดเงินใหม่ๆเข้าประเทศ ต้องดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามา โดยมีโอกาส และ 3ทางรอดคือ
1.โอกาสเรื่องอาหารของไทยที่มีความแข็งแรง ทุกคนมองไทยเป็นครัวโลก เราจะนำเทคโนโลยีถนอมอาหารเข้ามาส่งเสริมตรงนี้ เพื่อให้อาหารไทยสามารถส่งออกไปและคุณภาพยังเหมือนเดิม
2. โอกาสด้านอุตสาหกรรมสุขภาพ จากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ได้พัฒนาเป็น 30 บาทรักษาทุกที่ทั่วโลกยอมรับและอยากทำตาม การรักษาพยาบาลในประเทศไทยมีชื่อเสียงในต่างประเทศ หลายคนอยากเข้ามารักษาตรงนี้ เราต้องร่วมกันพัฒนาให้ไทยเป็นฮับด้านสุขภาพ ต้องทำให้ทั่วโลกคิดว่าอยากรักษาสุขภาพต้องมาที่ประเทศไทย
และ 3.การผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ โดยไทยมีวัฒนธรรมที่ต่างชาติให้ความสนใจ เราพยายามผูกทุกเทศกาลไว้ด้วยกัน และให้ต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวได้ทั้งปีให้เขาอยู่เมืองไทยนานขึ้นและใช้เม็ดเงินในไทยนานขึ้น
“อย่างที่ต่างชาติให้การสนใจคือการใช้ไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่งปีที่ผ่านมามีเม็ดเงิน เข้ามาในประเทศถึง 190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เราสนับสนุนตรงนี้เพื่อดึงเม็ดเงินเข้ามา อีกทั้งต่างชาติชื่นชอบในหนังไทยอย่างเช่นเรื่องหลานม่า รวมถึงมวยไทยก็เป็นที่ชื่นชมในต่างประเทศ ประเทศอังกฤษมีค่ายมวยกว่า 40,000 ค่าย เราจะผลักดันตรงนี้เพื่อสร้างรายได้ให้คนไทย และรัฐบาลพยายามจะสร้างฮีโร่ในทุกอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์เพื่อไปคุยกับใครเราจะภูมิใจ เวลาไปคุยกับใครทั่วโลกว่าประเทศไทยมีคนเก่ง”
นอกจากนั้นจากการเดินทางไปประชุมประเทศต่างๆ ต่างชาติสนใจลงทุนในเมืองไทย ถ้าการเมืองเรามีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น นักธุรกิจและต่างชาติจะมั่นใจในการลงทุน นายกฯมีหน้าที่ไปบอกทุกคนถึงความเชื่อมั่นตรงนี้ว่าเราจะสามารถอยู่จนครบเทอมจนมีการเลือกตั้งได้ และเราจะเดินหน้านโยบายที่ประกาศไว้ไม่ให้สะดุด
ส่วนการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมา ที่ได้ประธานาธิบดีคนใหม่หลายฝ่ายมองว่ามาตรการทางเศรษฐกิจเขาจะพุ่งเป้าไปยังประเทศที่สหรัฐฯขาดดุล ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในนั้นเพราะจีดีพีของประเทศเราอยู่ที่การส่งออก 60% ไทยเราส่งออกไปสหรัฐฯถึง 10%
ดังนั้นหากมีการตอบโต้จากสหรัฐฯ เราจะเตรียมมาตรการรองรับว่าเราจะปรับสมดุลอย่างไรไม่ให้เสียโอกาสของประเทศ ขณะที่ในส่วนของประเทศจีนที่มองกันว่าเราอาจจะสู้เรื่องการผลิตไม่ได้ เราจะใช้มาตรการด้านภาษี และกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อช่วยการค้าขายออนไลน์รวมถึงเอสเอ็มอีของเรา และหากมองภาพรวมประเทศจีนพื้นที่การเกษตรของเขาไม่เพียงพอกับความต้องการในประเทศต้องพึ่งสินค้าการเกษตรจากประเทศอื่นและไทยมีจุดแข็งตรงนี้ เราต้องมาช่วยทำให้เกษตรกรไทยแข็งแรงมากขึ้น นำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมเพื่อเพิ่มมูลค่า
สำหรับอีกเรื่องคือเรื่องของต้นทุนด้านพลังงานที่นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องนี้ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องพลังงาน อย่างในอ่าวไทยมีการประเมินว่าก๊าซจะใช้ได้อีก 10 ปี ก๊าซจะหมดไปจากอ่าวไทย ฉะนั้นอย่างที่เป็นกระแสกันอยู่ในเรื่อง MOU44 ที่เราจะคุยกับกัมพูชา เราต้องคุยกันว่าเราจะแบ่งใช้ก๊าซธรรมชาติร่วมกันอย่างไร ซึ่งทำให้ต้องมีการคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพูดคุยกันในเรื่องนี้ ส่วนเรื่องของเกาะกูดไม่ใช่เนื่องจากเกาะกูดเป็นของเราอยู่แล้ว