เปิด 5 แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ‘แพทองธาร’ แก้หนี้ - เพิ่มรายได้ - เร่งดึงลงทุน
“แพทองธาร” เผยนโยบายเคลื่อนประเทศ ชี้ไทยเข้าช่วงเวลาดีที่สุดในการลงทุน เปิดแผนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 5 ด้าน ระยะสั้น - ยาว ดันอสังหาฯ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ยกระดับภาคเกษตร หนุนท่องเที่ยว พร้อมลงทุนเอกชน ตอบโจทย์ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
KEY
POINTS
- “แพทองธาร” โชว์วิชั่น Forbes Global CEO Conference ชี้ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงเวลาดีที่สุดในการลงทุน มีเสถียรภาพการเมืองนโยบายต่อเนื่อง
- เปิดแผนรัฐบาลดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 5 ด้าน ระยะสั้น-ยาว ดันอสังหาฯ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ยกระดับภาคเกษตร หนุนการท่องเที่ยวรายได้สูง
- พร้อมเร่งลงทุนเอกชนทั้งใน BOI และ EEC ตอบโจทย์ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ หวังคนไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง
เศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และยังมีความเสี่ยงจากหลายปัจจัยทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐยังมีความจำเป็น ซึ่งนอกจากการกระตุ้นระยะสั้นโดยการแจกเงิน 10,000 บาท รัฐบาลยังมีแผนปรับโครงสร้างการผลิต และสร้างการเติบโตระยะยาว
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมซีอีโอระดับโลก “Forbes Global CEO Conference” ครั้งที่ 22 เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2567 พร้อมทั้งขึ้นเวทีนำเสนอวิสัยทัศน์ ว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไม่เพิ่มขึ้นอย่างที่หวัง ซึ่งไทยต้องการแหล่งเงิน และการลงทุนใหม่เข้ามา
ทั้งนี้หลังการเปลี่ยนรัฐบาลมีนักลงทุนหลายรายกังวล และต้องการความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลใหม่จะสนับสนุนการลงทุนตามเดิม ซึ่งยืนยันว่าให้ความสำคัญการลงทุน และมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนต่อเนื่อง
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายเพื่อต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะเป็นด่านหน้าอำนวยความสะดวกการดำเนินธุรกิจ (Ease of Doing Business)
ขณะนี้บีโอไอกำลังเจรจาอีกหลายดีลที่จะตัดสินใจมาลงทุนไทยในอีกไม่นาน ขณะที่หลายบริษัทระดับโลกตัดสินใจลงทุนไทยแล้ว อาทิ เอดับบลิวเอส, ไมโครซอฟต์ และกูเกิล ซึ่งการลงทุนดังกล่าวจะสร้างการสร้างงาน และรายได้ อีกทั้งรัฐบาลมุ่งพัฒนาการศึกษาและทักษะแรงงานเร็วที่สุด
“นักลงทุนห่วงกังวลที่สุดคือ ความมั่นคง การเติบโตของธุรกิจ และความสะดวกการดำเนินธุรกิจ ซึ่งรัฐบาลต้องทำให้เรื่องนี้เป็นไปได้ รัฐบาลเชื่อว่าการที่การเมืองไทยกลับเข้าสู่จุดที่มั่นคง และจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงอีก หวังว่านโยบายที่รัฐบาลวางไว้จะต่อเนื่อง และคนไทยจะหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง”
ดันซอฟต์พาวเวอร์หนุนท่องเที่ยว
สำหรับการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวที่เป็นหนึ่งในเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า ไทยมีมรดกทางวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์ และความเป็นไทยเป็นที่รู้จักในสายตาชาวโลกทั้งอาหาร และผู้คน รัฐบาลจึงมีแผนเดินหน้านโยบาย “ซอฟต์พาวเวอร์” เพื่อสร้างความจดจำประเทศไทยในระดับสากล
นอกจากนี้ รัฐบาลเตรียมมาตรการช่วย SME ที่คิดเป็น 75% ของธุรกิจทั้งหมด โดยจัดซอฟต์โลนแหล่งเงินต้นทุนต่ำให้ตั้งตัวได้ อีกทั้งจะทบทวนกฎหมาย และกฎระเบียบธุรกิจที่ล้าหลังและไม่ครอบคลุมการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี
สำหรับนโยบายการค้าระหว่างประเทศท่ามกลางความกดดันระหว่างสหรัฐ-จีนนั้น ไทยยืนยันตลอดในการเป็นผู้สนับสนุนความสงบ และการค้าเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ทั้งนี้แม้การเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ จะมีแนวคิดการค้าที่ต่างไป แต่ไทยพร้อมปรับนโยบาย และเตรียมมาตรการรองรับ
รัฐบาลเตรียม 5 แผนดันเศรษฐกิจ
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า คณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเห็นชอบแผนขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และระยะยาว โดยมีเป้าหมายเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย การแก้ปัญหาหนี้สิน และกระตุ้นลงทุน
รวมทั้งมีเป้าหมายระยะสั้นให้เศรษฐกิจเติบโตเต็มประสิทธิภาพ โดยกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี 2567 ถึงปี 2568 ให้ต่อเนื่อง โดยการสร้างความเชื่อมั่น และกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่การบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย และเพิ่มโอกาสประกอบอาชีพ
ส่วนเป้าหมายระยะยาว เพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจ รวมถึงปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และพัฒนาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ (New Growth Engine) ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ และการบูรณาการด้านเทคโนโลยี เพื่อต่อยอดภาคการผลิต ภาคการเกษตรและการบริการ รวมถึงปรับโครงสร้างหนี้ และการเสริมสภาพคล่องให้เศรษฐกิจเติบโตยั่งยืนและมั่นคง
ทั้งนี้ แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจครอบคลุมภาคอสังหาริมทรัพย์ การลงทุน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ภาคการเกษตร การท่องเที่ยวและบริการ และการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน รวม 5 ด้าน ดังนี้
1.มาตรการภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นภาคหนึ่งที่เป็นเสาหลักสำคัญของเศรษฐกิจที่ส่งผลเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การก่อสร้าง การผลิตวัสดุ ก่อสร้าง การผลิตเฟอร์นิเจอร์
มาตรการระยะสั้น ได้แก่ การให้สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารโรงแรม เพื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจโรงแรม รวมทั้งกระตุ้นการลงทุน และการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยเริ่มดำเนินการในเดือนธ.ค.2567
ส่วนสินเชื่อเพื่อซื้อ สร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย หรือซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกเสริมสภาพคล่องให้ประชาชนนำไปซื้อ สร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ทำให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง รวมทั้งกระตุ้นการลงทุน และการจ้างงานจะเริ่มดำเนินการภายในปี 2568
มาตรการระยะยาว ได้แก่ มาตรการส่งเสริมการลงทุนสร้างที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยด้วยการปล่อยเช่าที่ดินภาครัฐระยะยาว ส่งเสริมผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่ในราคาเหมาะสม โดยใช้กลไกการให้เช่าที่ดินรัฐเพื่อช่วยให้ราคาที่อยู่อาศัยลดลง ซึ่งกระตุ้นการลงทุน และการจ้างงานอสังหาริมทรัพย์จะเริ่มดำเนินการภายในปี 2568
2.การลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจที่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยรัฐบาลมีนโยบายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง และพลังงาน
มาตรการระยะสั้น ได้แก่ นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะเริ่มดำเนินการภายในเดือนก.ย.2568 และการเร่งลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงปรับปรุงหลักเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุน โดยจะเริ่มดำเนินการภายในปี 2568
มาตรการระยะยาว ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและเชื่อมระบบขนส่งของเขตเศรษฐกิจสำคัญในประเทศ โครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อพัฒนา และเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ของประเทศให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้า และโลจิสติกส์ โดยจะเริ่มดำเนินการภายในปี 2572 มาตรการดึงดูดการลงทุนด้วยพลังงานสะอาดที่ต้นต่ำเพื่อพัฒนาระบบการผลิตพลังงานภายในประเทศไทย คาดว่าจะเริ่มดำเนินการภายในปี 2568
3.ภาคการเกษตร ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเพิ่มมูลค่า และการลงทุนในภาคการเกษตร
มาตรการระยะสั้น ได้แก่ โครงการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผ่านโครงการไร่ละ 1,000 บาท เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินให้เกษตรกร และช่วยเกษตรกรมีต้นทุนเพาะปลูกรอบการผลิตต่อไป ซึ่งจะเริ่มดำเนินการเดือนม.ค.2568 รวมทั้งแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร
มาตรการระยะยาว ได้แก่ การจัด Zoning ภาคการเกษตรสนับสนุนการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ ปริมาณน้ำ และสภาพภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะเพิ่มผลผลิตการเกษตร และเพิ่มรายได้เกษตรกรระยะยาว จะเริ่มดำเนินการภายในปี 2568 รวมทั้งนำเทคโนโลยีเพิ่มผลิตภาพและราคาผลผลิตการเกษตร รักษาความมั่นคงด้านอาหารเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดโลก
4.ภาคการท่องเที่ยวและบริการ โดยเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งต้องรักษาความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับ value-chain เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
มาตรการระยะสั้น ได้แก่ โครงการของขวัญปีใหม่ 2568 เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย และการเดินทางท่องเที่ยวช่วงเทศกาลปีใหม่ และสร้างรายได้เพิ่มให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยว โดยเริ่มดำเนินการต้นปี 2568
รวมถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เช่น โครงการแอ่วเหนือคนละครึ่ง การจัด งานเฟสติวัลในช่วงเทศกาล เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายท่องเที่ยว และฟื้นฟูการท่องเที่ยวแต่ละภูมิภาค เช่น ภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 2567 จะเริ่มดำเนินการต้นปี 2568
มาตรการระยะยาว ได้แก่ มาตรการเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations) เช่น สวนสนุก สถานบันเทิงครบวงจร การนำคอนเสิร์ต เทศกาล การแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในไทย โดยดึงกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานทางไกล (Digital Nomads) จะเริ่มดำเนินการภายในปี 2568
5.การบริโภคภาคเอกชน โดยดำเนินมาตรการระยะสั้นเพื่อส่งเสริมการบริโภคที่กระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้เร็ว และบรรเทาความเดือดร้อนพร้อมทั้งดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน โดยมีรายละเอียดมาตรการที่เป็นระยะสั้น ได้แก่ โครงการจ่ายเงินอุดหนุนค่าครองชีพโดยเริ่มจากกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้มีบัตรสวัสดิการผู้สูงอายุ
โครงการสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้มีรายได้ประจำ เสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพ หรือนำไปชำระหนี้นอกระบบ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการภายในปี 2568
โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ให้แก่บุคคลธรรมดาและSMEs ที่เริ่มมีปัญหาการผ่อนชำระ โดยการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF ) และกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIF)
ทั้งนี้ เพื่อภาระและผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้ของตนเอง ครอบคลุมถึงลูกหนี้ 2.3 ล้านบัญชี
โครงการจ่ายเงินอุดหนุนค่าครองชีพ โดยเริ่มจากกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้มีบัตรสวัสดิการ ผู้สูงอายุ และกลุ่มอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพและกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ผ่านการจ่ายเงินอุดหนุนของรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการภายในปี 2568
โครงการสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้มีรายได้ประจำ ลูกจ้าง พ่อค้า แม่ค้า หรือผู้รับจ้างให้บริการต่าง ๆให้มีเงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพ หรือนำไปชำระหนี้นอกระบบ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการภายในปี 2568
โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สิน เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ให้แก่บุคคลธรรมดาและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่เริ่มมีปัญหาการผ่อนชำระโดยการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF ) และกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIF)
เพื่อลดภาระและผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้ของตนเอง ครอบคลุมถึงลูกหนี้ 2.3 ล้านบัญชี
นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจยังต้องช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านมาตรการรวมหนี้เพื่อลดภาระดอกเบี้ย และภาระการผ่อนชำระ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการภายในปี 2568
โครงการ Soft Loan Ari Score Sand Box เพื่อพัฒนาแนวทางในการประเมินความเสี่ยงของลูกหนี้กลุ่มเปราะบางและสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยและ ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการภายในปี 2568
โครงการสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SME(กระทรวงการคลัง)เพื่อสนับสนุนเงินทุนเสริมสภาพคล่อง และเงินทุนเพื่อการลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการให้แก่ผู้ประกอบการSMEs และเพื่อปรับปรุงการผลิตให้บรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการภายในปี 2568
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์