ไทยเบฟ ผุด 2 บริษัทใหม่ รุกธุรกิจอาหาร เสริมแกร่งอาณาจักรแสนล้าน!

ไทยเบฟ ผุด 2 บริษัทใหม่ รุกธุรกิจอาหาร เสริมแกร่งอาณาจักรแสนล้าน!

หลังจากเป็นเจ้าตลาดเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย ล่าสุด “ไทยเบฟ” เดินหน้าจัดตั้ง 2 บริษัท หวังต่อยอด “ธุรกิจอาหาร”

ถือเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวของบริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่แห่งภูมิภาคเอเชีย บริษัท  ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ “ไทยเบฟ” หลังจากธุรกิจ “เครื่องดื่ม” สามารถสร้างรายได้ระดับ "หลายแสนล้านบาท" อย่างแข็งแกร่ง และล่าสุดยังเดินหน้าต่อยอด “ธุรกิจอาหาร” อย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยการแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ถึงการจัดตั้ง 2 บริษัทใหม่ เพื่อดำเนินการเสริมแกร่งธุรกิจ 

โดยบริษัท “ธุรกิจอาหาร” ในเครือ ที่ไทยเบฟได้ทำการลงทุน ได้แก่

บริษัท ฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด

จัดตั้งขึ้นในประเทศไทย โดยไทยเบฟถือหุ้น 99.9999% ในขณะที่ผู้ถือหุ้นอีกรายหนึ่งถือหุ้น 1 หุ้น

โดย ฟู้ดส์ กรุ๊ป มีทุนจดทะเบียน 10,000,000 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญ 1,000,000 หุ้น มีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท

บริษัท โออิชิ โฮลดิ้ง จำกัด

จัดตั้งขึ้นในประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งไทยเบฟถือหุ้น 99.9999% ในขณะที่ผู้ถือหุ้นอีกรายหนึ่งถือหุ้น 1 หุ้น

โดย โออิชิ โฮลดิ้ง มีทุนจดทะเบียน 9,900,000 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญจำนวน 990,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท

สำหรับการลงทุนของ “ไทยเบฟ” ในครั้งนี้ได้รับเงินทุนผ่านกองทุนที่จัดตั้งขึ้นภายในบริษัท และคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อหุ้นและสินทรัพย์ของไทยเบฟสำหรับงบปีการเงินนี้

ทั้งนี้กรรมการและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของไทยเบฟจะไม่มีส่วนได้เสียทั้งทางตรงหรือทางอ้อม (ยกเว้นกรณีการถือหุ้นใน THBEV) ในการจัดตั้งบริษัทใหม่ ทั้ง ฟู้ดส์ กรุ๊ป และ โออิชิ โฮลดิ้ง

ย้อนการจัดทัพธุรกิจ

ต้นปี 2566 หนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญของไทยเบฟคือการตัดสินใจ "เพิกถอนหุ้นโออิชิ กรุ๊ป" หรือ OISHI ออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) พร้อมกับเล็งรื้อโครงสร้างธุรกิจอาหารซึ่ง "โออิชิ" เป็นกุญแจสำคัญ เนื่องจากคร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจร้านอาหารมาอย่างยาวนาน ทั้งบุฟเฟต์ อาหารญี่ปุ่น อาหารพร้อมทาน ไปจนถึงบริการเดลิเวอรี เป็นต้น 

นอกจากนี้ กลยุทธ์ดังกล่าว ยังแยก "ธุรกิจอาหาร" ออกจาก "เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์" อย่างชาเขียวพร้อมดื่มโออิชิด้วย แผนเพื่อทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการบริการจัดการ รวมถึง "ความคล่องตัว" รองรับหมากรบในอนาคต ส่วนเหตุผลอื่นๆ คือการลดภาระ "ต้นทุน" ด้วย 

แม่ทัพนายกองมาครบ

สำหรับรายนามคณะกรรมการบริษัทใหม่ที่จะรุกอาหาร ยังเต็มไปด้วยขุนพลข้างกายของ "ฐาปน สิริวัฒนภักดี" แม่ทัพใหญ่ของไทยเบฟ รวมถึงทีมงานมือฉมัง ไม่ว่าจะเป็น 3 มือบริหารรุ่นเก๋า “อวยชัย ตัณฑโอภาส - สิทธิชัย ชัยเกรียงไกร - พิษณุ วิเชียรสรรค์”

เสริมด้วย “โฆษิต สุขสิงห์” ที่คุมทัพธุรกิจในประเทศ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ “ประภากร ทองเทพไพโรจน์” ขุนคลังบริษัทและคุมทัพธุรกิจต่างประเทศ รวมทั้ง “นงนุช บูรณะเศรษฐกุล” ดอกไม้เหล็กวงการอาหาร ที่ขับเคลื่อนแบรนด์โออิชิ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอาหารในประเทศไทยมีมูลค่าราว 4 แสนล้านบาท ล้วนเป็นสนามของขาใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มไมเนอร์ ฟู้ด ที่มีสารพัดแบรนด์และร้านอาหารนับ "พันสาขา" ทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ, เอ็มเค เรสโตรองส์ กรุ๊ป อาณาจักรหมื่นล้านของ "ฤทธิ์ ธีระโกเมน" ที่แบรนด์หัวหอกอย่าง เอ็มเค สุกี้ ทำเงินให้อู้ฟู่

"เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป" ของ "ตระกูลจิราธิวัฒน์" มีแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอจำนวนมาก  ร้านอาหารทะลุพันสาขา จากแบรนด์ใหญ่ เช่น เคเอฟซี อานตี้แอนส์ มิสเตอร์ โดนัท ฯ ดังนั้นการจัดทัพ ตั้งบริษัทใหม่ จึงเป็นการต่อจิ๊กซอว์ของ "ไทยเบฟ" เสริมแกร่งธุรกิจอาหารเพื่อชิงขุมทรัพย์ตลาดนี้เช่นกัน