ถอดรหัส 'กระทิงแดง' ปี67 เดินแผนลงทุนจีนหมื่นล้าน-ขยายพอร์ตเครื่องดื่ม

ถอดรหัส 'กระทิงแดง' ปี67 เดินแผนลงทุนจีนหมื่นล้าน-ขยายพอร์ตเครื่องดื่ม

เจาะแผนกระทิงแดง ปี 67 ลุยสร้างน่านน้ำใหม่ต่างประเทศ เดินแผนลงทุนโรงจีนแห่งที่สาม หมื่นล้านบาท เริ่มผลิตปี 68 รุกขยายพอร์ตโฟลิโอเครื่องดื่มใหม่เสริมทัพ ชี้ตลาดชูกำลังไทยแข่งหนัก พร้อมเปิดโฉม 'TCP Legacy Museum' จ.ปราจีนบุรี ครั้งแรก เปิดเส้นทางประวัติศาสตร์แบรนด์

KEY

POINTS

  • เจาะยุทธศาสตร์โตของ TCP ในปี 2567 
  • รุกขยายการผลิตเรดบูลในจีน เนปาล ตามเทรนด์ตลาดโต
  • ชี้ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังไทยแข่งขันราคาหนัก ย้ำคงราคาเดิม
  • วางแผนเปิดเครื่องดื่มใหม่เข้ามาทำตลาด 
  • เปิดตัว “TCP Legacy Museum” มิวเซียมถ่ายทอดประวัติศาสตร์แบรนด์กระทิงแดง ครั้งแรก 

เส้นทางกว่า 68 ปีของแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังแบรนด์ “กระทิงแดง” หรือที่ทั่วโลก คุ้นเคยกับ “เรดบูล” (Redbull) สามารถสร้างปรากฎการณ์แบรนด์ไทยลูกครึ่ง เติบโตไปทั่วโลก ภายใต้การมีทายาทรุ่นสองของผู้ก่อตั้ง “เฉลียว อยู่วิทยา” เข้ามาร่วมบริหารงานกับ “สราวุฒิ อยู่วิทยา” ได้วางแผนนำพาแบรนด์พอร์ตโฟลิโอกลุ่มเครื่องดื่มในเครืออื่นๆ ให้แข็งแกร่ง ก้าวไปสู่การเป็นโกลบอลแบรนด์ในระยะยาว พร้อมปักธงขยายลงทุนในต่างประเทศ และปรับโรงงานในไทยไปสู่ สมาร์ทแมนูแฟคเจอริง

สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ฉายภาพรวม ตลาดเครื่องดื่มในประเทศในปี 2567 มีการแข่งขันที่รุนแรงและมีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ารุกตลาดเครื่องดื่มชูกำลังมากขึ้น ซึ่งทุกแบรนด์ต่างเผชิญกับการแข่งขันในตลาด และต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่มีสูงมากขึ้น ทำให้ภาพรวมตลาดในช่วงไตรมาสแรกมีขยายตัว 4-5% สอดรับกับภาพรวมเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศไทย

 

  • คงราคาขายเท่าเดิม แม้ต้นทุนค่าแรงเพิ่ม

ทั้งนี้จากภาพรวมกำลังซื้อที่อยู่ในภาวะทรงตัว ทำให้ผู้ประกอบการเครื่องดื่มชูกำลัง บางส่วนตรึงราคาไว้ที่ 10 บาทเท่าเดิม แต่มีผู้ประกอบการบางส่วนทยอยปรับราคาไปเมื่อปี 2566 รวมถึงกระทิงแดง มีปรับราคา 1 รายการ สู่ราคา 12 บาท จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไป 10% โดยในปีนี้ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามทั้งเรื่องต้นทุนสูงขึ้น และแนวโน้มค่าแรงที่อาจปรับขึ้นไปสู่ 400 บาทต่อวัน แต่กระทิงแดง ยังไม่มีแผนปรับขึ้นราคาสินค้าแต่อย่างใด จะมุ่งบริหารต้นทุนให้ดีที่สุด เพื่อร่วมดูแลค่าครองชีพให้แก่ลูกค้า

อย่างไรก็ตาม หากประเมินว่า ภาพรวมเครื่องดื่มในครึ่งปีหลัง ตลาดเริ่มมีปัจจัยหนุนจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศมากขึ้นและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงมีผลจากอากาศที่ร้อน อาจทำให้ตลาดรวมเครื่องดื่มในประเทศไทยกลับมาขยายตัวได้ทั้งปีที่ระดับ 10%

 

“การกำหนดราคาสินค้าเครื่องดื่มชูกำลังไว้ที่ 10 บาท ทุกรายเหนื่อยหมด มีผลกำไรแบบหืดขึ้นคอ เพราะในปัจจุบันต้นทุนทุกรายสูงมาก เราเป็นประเทศเดียว ที่มีการแข่งขันในเรื่องราคา แต่ในประเทศอื่นๆ ไม่ได้เน้นแข่งขันในด้านนี้ ทำให้ผู้ประกอบการไทยรายใหญ่ ต่างมุ่งไปขยายตลาดในต่างประเทศแทน”

ถอดรหัส \'กระทิงแดง\' ปี67 เดินแผนลงทุนจีนหมื่นล้าน-ขยายพอร์ตเครื่องดื่ม

  • กระทิงแดง รุกขยายโรงงานจีนแห่งที่ 3

แผนของกระทิงแดงในปี 2567 จะมุ่งขยายตลาดออกไปในต่างประเทศ และการขยายพอร์ตโฟลิโอกลุ่มสินค้าใหม่ๆ เข้ามาเสริมธุรกิจ โดยในปีนี้จะมุ่งขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ ผ่านการมีโรงงานที่ได้เข้าไปลงทุนแล้ว ทั้งในประเทศจีน ได้มีการขยายสร้างโรงงานฐานผลิตเรดบูลแห่งที่ 3 เมืองกวางสี ได้ใช้งบลงทุนในการก่อสร้างรวมประมาณ 10,000 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มผลิตในช่วงต้นปี 2568 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทิงแดงมีโรงงานในจีนอยู่สองแห่งแล้ว  โดยภาพรวมปัจจุบันแบรนด์มีส่วนแบ่งการตลาดในประเทศจีนประมาณ 40%

พร้อมเดินเครื่องสายการผลิตผ่าน โรงงานใหม่ในประเทศเนปาล ผ่านการร่วมมือกับพันธมิตรในประเทศ กลุ่มธุรกิจเคทาน (Khetan Group) โดยโรงงานแห่งแรกในอมราปุรี ประเทศเนปาล ซึ่งจะช่วยรองรับการขยายตลาดใหม่ และประเทศใกล้เคียงในอนาคต สำหรับโรงงานแห่งนี้ได้เริ่มผลิตไปเมื่อช่วงปี 2566 ที่ผ่านมาแล้ว

ขณะเดียวกันอีกตลาดที่มีความสำคัญกับประเทศเวียดนาม เป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพเติบโตสูง โดยจะเร่งทำตลาดมากขึ้น เพื่อให้พร้อมรับมือกับตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงไป และมีแบรนด์ระดับโลกเข้ามาแข่งขันในตลาด ซึ่งภาพรวมในปัจจุบัน เรดบูล นับเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งในประเทศเวียดนาม ด้วยส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 50%

ถอดรหัส \'กระทิงแดง\' ปี67 เดินแผนลงทุนจีนหมื่นล้าน-ขยายพอร์ตเครื่องดื่ม

  • ปรับโรงงานสู่ สมาร์ทแมนูแฟคเจอริง

สำหรับโรงงานในประเทศไทย ที่มีจำนวน 8 โรง อยู่ในปราจีนบุรี มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 60% หรือประมาณ 1,550 ล้านลิตร มีแผนปรับไปสู่การเป็น สมาร์ทแมนูแฟคเจอริง จำนวน 5 ไลน์การผลิตภายในปีนี้ จากในปัจจุบันมีโรงงานที่เป็น สมาร์ทแมนูแฟคเจอริง แล้ว 1 แห่ง เพื่อมุ่งใช้เทคโนโลยีมาเสริมศักยภาพการผลิตให้สูงขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระยะยาว รวมถึงการร่วมลดต้นทุนได้ดีมากขึ้น

ทั้งนี้ภาพรวมการผลิตสินค้าในไทย จะผลิตป้อนตลาดในประเทศไทย ประมาณ 39% และส่งออก 61% โดยตลาดหลักในการส่งออก ได้แก่ ประเทศเวียดนาม สัดส่วน 75% มาเลเซีย 10% เมียนมา 6% ลาวและสิงคโปร์ สัดส่วนใกล้กันที่ 1-2% 

สำหรับ พื้นที่โรงงานปราจีนบุรี มีขนาดใหญ่ประมาณ 2,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ในการผลิตสินค้ารวม 800 ไร่ ส่วนอีก 1,200 ไร่ เป็นพื้นที่จัดเก็บวัตถุดิบและแหล่งน้ำ ส่วนพนักงานในองค์กร TCP มีรวมประมาณ 1,800 คน แบ่งเป็น ฝ่ายผลิต 1,200 คน และ 600 คน เป็นฝั่งออฟฟิศ

แผนการเร่งโตในประเทศไทย ท่ามกลางตลาดเครื่องดื่มชูกำลังที่แข่งขันรุนแรง ทำให้บริษัทวางแผนขยายกลุ่มสินค้าอื่นๆ ในกลุ่มกลุ่มเครื่องดื่มสปอร์ตดริงก์ คือ สปอนเซอร์ กลุ่มเครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ดริงก์ คือ แมนซั่ม และไฮ่! X DHC กลุ่มเครื่องดื่มชาพร้อมดื่ม และเครื่องดื่มกลุ่มให้พลังงานในเช็คเมนต์พรีเมียม ที่มีการขยายตัวมากกว่า 20% ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีแผนเปิดตัวสินค้ากลุ่มใหม่เข้ามาสู่ตลาด 2 รายการในปีนี้

ถอดรหัส \'กระทิงแดง\' ปี67 เดินแผนลงทุนจีนหมื่นล้าน-ขยายพอร์ตเครื่องดื่ม

  • วางสปอนเซอร์ เรือธงโกลบอลแบรนด์ในอนาคต

พร้อมกันนี้วางแผนขยายแบรนด์ สปอนเซอร์ ไปสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดในภูมิภาคอาเซียน และผลักดันแบรนด์สปอนเซอร์ กลายเป็น หัวหอกในการเป็น โกลบอลแบรนด์ในระยะยาว เหมือนกับกระทิงแดง หรือ เรดบูล ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว โดยเรดบูล กว่าที่จะก้าวสู่แบรนด์ต้นๆ ในยุโรปได้ใช้เวลาประมาณ 5 ปี

“ตลาดเครื่องดื่มให้พลังงงานในประเทศไทย ยังมีศักยภาพในการขยายตัว จากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีความต้องการเครื่องดื่มให้พลังงานในระดับสูง”

ทั้งนี้ประเมินว่าภาพรวมในสิ้นปี 2567 จะสร้างสร้างการเติบโตได้ในระดับตัวเลขสองหลัก ส่วนในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ธุรกิจมีการขยายตัวประมาณ 6-7% ขณะที่ปีก่อนธุรกิจมีการขยายตัวในระดับหลัก และมีผลกำไรที่ชะลอตัวจากต้นทุนสูงขึ้น ทั้งนี้บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มเครื่องดื่มให้พลังงานในประเทศไทยประมาณ 17-18%

อย่างไรก็ตาม มีความมั่นใจจากแผนการมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีนวัตกรรม และสร้างการเติบโตที่ดีแบบยั่งยืน จะนำพาองค์กรก้าวสู่การเป็นผู้นำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในภูมิภาคเอเชีย

ถอดรหัส \'กระทิงแดง\' ปี67 เดินแผนลงทุนจีนหมื่นล้าน-ขยายพอร์ตเครื่องดื่ม

  • เปิดโฉมครั้งแรก “TCP Legacy Museum” อยู่ที่โรงงานปราจีนบุรี

สราวุฒิ กล่าวเสริมว่า นอกจากการมุ่งขยายธุรกิจในประเทศและต่างประเทศแล้ว อีกสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่สอดรับการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยแผน “TCP Sustainability” ประกอบด้วย 3 ด้านหลัก คือ “Integrity”, “Quality” และ “Harmony” สอดรับกับกลยุทธ์ที่วางไว้ ได้แก่ ปลุกพลังแบรนด์สินค้า ปลุกพลังธุรกิจเติบโต และปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม ร่วมสร้างธุรกิจขยายตัวแข็งแกร่ง

อย่างไรก็ตาม ในโอกาสฉลองครบรอบ 68 ปี การก่อตั้งกลุ่มธุรกิจ TCP ได้เปิดตัว “TCP Legacy Museum” อยู่ที่โรงงานจังหวัดปราจีนบุรี โดยเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มธุรกิจ รวมประวัติศาสตร์และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มให้พลังงาน การสร้างแบรนด์กระทิงแดงและเรดบูล โดยตั้งเป้าหมายว่า TCP Legacy Museum จะกลายเป็นจุดเช็กอินแห่งใหม่ที่มีส่วนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของจังหวัดปราจีนบุรีในระยะยาว พร้อมเป็นแหล่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นใหม่ และผู้ประกอบการต่างๆ ในระยะยาว

ถอดรหัส \'กระทิงแดง\' ปี67 เดินแผนลงทุนจีนหมื่นล้าน-ขยายพอร์ตเครื่องดื่ม

ถอดรหัส \'กระทิงแดง\' ปี67 เดินแผนลงทุนจีนหมื่นล้าน-ขยายพอร์ตเครื่องดื่ม

ถอดรหัส \'กระทิงแดง\' ปี67 เดินแผนลงทุนจีนหมื่นล้าน-ขยายพอร์ตเครื่องดื่ม