‘เอ็มเจ็ท’ ผนึก ‘วิงส์โอเวอร์เอเชีย’ หวังเป็นผู้นำธุรกิจเจ็ทส่วนตัว

‘เอ็มเจ็ท’ ผนึก ‘วิงส์โอเวอร์เอเชีย’ หวังเป็นผู้นำธุรกิจเจ็ทส่วนตัว

อานิสงส์ท่องเที่ยวบูม กลุ่มมั่งคั่งแสวงหาประสบการณ์เหนือระดับ หนุนเครื่องบินส่วนตัวบูม “เอ็มเจ็ท” เข้าลงทุน “วิงส์โอเวอร์เอเชีย” ผู้ให้บริการเครื่องบินส่วนตัวสัญชาติสิงคโปร์ เดินหน้าซินเนอร์ยีธุรกิจรับดีมานด์ สานเป้าหมาย “เบอร์ 1” ภูมิภาคเอเชีย

เอ็มเจ็ท (MJets) ผู้ดำเนินธุรกิจเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวและการบินส่วนบุคคลครบวงจรหนึ่งธุรกิจในอาณาจักรไมเนอร์ของ “วิลเลียม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค” ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ปลุกปั้นธุรกิจมายาวนาน 17 ปี ประกาศเข้าลงทุนใน บริษัท วิงส์โอเวอร์เอเชีย จำกัด (WingOverAsia) ผู้ให้บริการเครื่องบินส่วนตัวสัญชาติสิงคโปร์ เพื่อขยายเครือข่ายการให้บริการไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศในเอเชียได้ครอบคลุม รับการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องบินส่วนตัวในภูมิภาคดังกล่าวที่พบว่ามีความต้องการสูงขึ้นต่อเนื่อง

วิลเลียม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค เจ้าของร่วมและกรรมการ บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจเครื่องบินเจ็ทและการบินส่วนบุคคลในเอเชียขยายตัวสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย Mordor Intelligence ระบุการเติบโตถึง 14.36% คาดว่า มูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นจาก 463.39 ล้านดอลลาร์ ในปี 2567 สู่ 906.39 ล้านดอลลาร์ ในปี 2572 จากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว

รวมถึงการเพิ่มของลูกค้ากลุ่มสินทรัพย์สูงและสูงพิเศษ (High & Ultra-High Net Worth Individuals) ที่แสวงหาประสบการณ์การเดินทางเหนือระดับรวมถึงการจัดกิจกรรมทางธุรกิจ อาทิ การประชุม มหกรรม หรือการพูดคุยระหว่างองค์กรในภูมิภาคดังกล่าวมากขึ้น 

‘เอ็มเจ็ท’ ผนึก ‘วิงส์โอเวอร์เอเชีย’ หวังเป็นผู้นำธุรกิจเจ็ทส่วนตัว -วิลเลียม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค เจ้าของร่วมและกรรมการ บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด-

นับเป็นปัจจัยบวกและโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญ ทำให้เอ็มเจ็ทเพิ่มการลงทุนและขยายเครือข่ายการบินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น สานเป้าหมายผู้นำธุรกิจด้านเครื่องบินส่วนตัวครบวงจรระดับเวิลด์คลาสของเอเชีย

สำหรับ “เอ็มเจ็ท” ปัจจุบันมีบริการครอบคลุม 7 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1. บริการเช่าเครื่องบินเหมาลำ 2. บริการเครื่องบินพยาบาล 3. การบริหารเครื่องบิน 4. บริการอาคารผู้โดยสารส่วนบุคคลพร้อมห้องรับรองพิเศษ 5. บริการซ่อมบำรุงเครื่องบิน 6. บริหารธุรกิจการบินส่วนบุคคลและบริการภาคพื้นแบบครบวงจร และ 7. บริการให้คำปรึกษาและดำเนินการซื้อขายเครื่องบิน 

โตติดสปีดดับเบิลดิจิต

นายณัฏฐภัทร สีบุญเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด กล่าวว่า อุตสาหกรรมการบินส่วนตัวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มการเติบโตดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกื้อหนุนให้ธุรกิจของเอ็มเจ็ทเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ส่วนหนึ่งเพราะได้รับอานิสงส์จากเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงโควิด-19 ด้วย

“ช่วงเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นจังหวะทำให้เอ็มเจ็ทย้อนกลับมาทบทวนและปรับธุรกิจให้เข้ากับสถานการณ์มากยิ่งขึ้น เนื่องจากธุรกิจเครื่องบินพาณิชย์หยุดให้บริการทั้งหมด กลุ่มลูกค้าที่สามารถเข้าถึงเครื่องบินส่วนตัวได้จึงหันมาใช้บริการมากขึ้น เพราะไม่มีตัวเลือกอื่นในตลาด เมื่อได้ลองใช้แล้วก็เริ่มมองเห็นประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะเรื่องเวลาซึ่งเป็นทรัพยากรที่แพงที่สุด มีเงินมากเท่าไรก็หาซื้อไม่ได้ ด้วยปัจจัยนี้จึงทำให้ธุรกิจเครื่องบินส่วนตัวติดสปีดแบบในอัตราสองหลักหรือดับเบิลดิจิตติดต่อกันหลายปี”

สำหรับสถานการณ์ของธุรกิจเครื่องบินส่วนตัวที่บินเข้าออกประเทศไทยตอนนี้กว่า 80 ถึง 90% เป็นเครื่องบินของเอ็มเจ็ททั้งสิ้น ซึ่งบริษัทมีบริการครอบคลุมในประเทศไทย และแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางส่วน เช่น เวียดนาม เมียนมา ฯลฯ รวมถึงตลาดอินเดียขยายธุรกิจการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรองรับเครื่องบินส่วนตัวของเอ็มเจ็ทเรียบร้อยแล้ว 100% โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการขอใบอนุญาต และจะเปิดทำการภายใน 1 ถึง 2 เดือนที่จะถึงนี้

‘เอ็มเจ็ท’ ผนึก ‘วิงส์โอเวอร์เอเชีย’ หวังเป็นผู้นำธุรกิจเจ็ทส่วนตัว

มั่นใจศักยภาพเสริมแกร่งธุรกิจ

นายอึ้ง โหย่ว เหมง ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิงส์โอเวอร์เอเชีย จำกัด กล่าวว่า มั่นใจศักยภาพของวิงส์โอเวอร์เอเชียจะเป็นพันธมิตรเสริมความแข็งแกร่งร่วมกับเอ็มเจ็ทต่อยอดธุรกิจการบินส่วนบุคคล ผลักดันให้ก้าวสู่ผู้เล่นอันดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป้าหมายสูงสุดมุ่งสู่เบอร์ 1 ในเอเชียให้สำเร็จ จากการต่อยอดจุดแข็งของวิงส์โอเวอร์เอเชียคือการมีฐานลูกค้าที่แข็งแรงมากโดยเฉพาะในสิงคโปร์ ส่วนเอ็มเจ็ทมีฐานที่แข็งแกร่งในเมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย

“ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า เอ็มเจ็ทตั้งเป้าขยายครอบคลุมทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมดูลู่ทางบุกตลาดประเทศอื่นๆ ในเอเชียต่อเนื่อง มุ่งสู่เอเชีย เพลย์เยอร์หรือเป็นที่สุดของไพรเวทเจ็ทในเอเชียสามารถแข่งขันกับบิ๊กเพลย์เยอร์ระดับโลกในอนาคตได้”

สำหรับฝูงบินของเอ็มเจ็ท ปัจจุบันมีทั้งหมด 5 ลำ เครื่องลำเล็กที่สุด คือ Cessna Citation Bravo ความจุ 6 ที่นั่ง เครื่องใหญ่ที่สุด คือ Gulfstream G550 ความจุ 14 ที่นั่ง ลูกค้าที่ใช้บริการกว่า 90% เป็นลูกค้าองค์กร บินเพื่อทำธุรกิจเป็นหลัก มีเพียง 10% ที่ใช้ในส่วนไลฟ์สไตล์ ทว่า เป็นไลฟ์สไตล์ที่ผสมผสานระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวมากกว่า กล่าวคือ ใช้บริการเครื่องบินส่วนตัวเพื่อประหยัดเวลาในการทำงาน รวมถึงใช้เพื่อการพักผ่อนไปในตัวด้วย

บริษัทยังวางแผนอนาคตเพื่อขยายการลงทุนเพิ่ม โดยเฉพาะการนำเครื่องบินใหม่เข้ามาทดแทนของเดิม รวมถึงสร้างฐานรากของบริษัทให้แข็งแรง ขณะเดียวกันยังต้องการพาร์ทเนอร์ในการทำธุรกิจเพิ่มเติมด้วย และมองว่า การได้รับความร่วมมือจากภาครัฐที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

‘เอ็มเจ็ท’ ผนึก ‘วิงส์โอเวอร์เอเชีย’ หวังเป็นผู้นำธุรกิจเจ็ทส่วนตัว

โบอิ้ง 747 ไพรเวทเจ็ทใหญ่และแพงที่สุดในโลก

อย่างไรก็ดี ในภาพรวม “เครื่องบินส่วนตัว” หรือ ไพรเวทเจ็ท มีหลายรุ่นหลายขนาด โดยไพรเวทเจ็ทที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน คือ เครื่องบินรุ่น “โบอิ้ง 747” ซึ่งใหญ่ระดับที่ถูกเรียกว่า “คฤหาสน์ลอยฟ้า” และมีมูลค่าสูงถึงกว่าหมื่นล้านบาทต่อลำ

ด้วยขนาดใหญ่ยักษ์ พร้อมพิสัยการบิน 7,700 ไมล์ทะเล ครอบคลุมระยะทางไกลในเส้นทางต่างๆ ได้ เช่น นิวยอร์ก - ฮ่องกง, เคปทาวน์ - ชิคาโก และ ลอสแอนเจลิส - เมลเบิร์น ทำให้เครื่องบินพลเรือนลำยักษ์รุ่นนี้ ถูกขายให้กับเหล่าอีลีทระดับโลก ทั้ง VIP ของรัฐบาล จนถึงอภิมหาเศรษฐี อย่างเช่น รัฐบาลสหรัฐ ที่ทุ่มเงินถึง 650 ล้านเหรียญ สำหรับ โบอิ้ง 747-200B จำนวน 2 ลำ นำมาดัดแปลงใช้งานสำหรับประธานาธิบดี หรือที่รู้จักในชื่อ “แอร์ ฟอร์ซ วัน” หรือลำละ 325 ล้านดอลลาร์

หากเจาะไปที่ไพรเวทเจ็ทที่แพงที่สุดในโลก ต้องยกให้ โบอิ้ง 747-8i ซึ่งถูกขายให้เศรษฐีตะวันออกกลาง ที่นำมาตกแต่งเพิ่มเติมแบบสุดหรู นอกจากจะสะดวกสบายไม่ต่างกับอยู่บ้าน มีทั้งห้องสวีทหรูหรา มีห้องนอน ห้องรับรอง ห้องรับประทานอาหารครบครันแล้ว

ที่พิเศษคือ ห้องอาบน้ำ ซึ่งถือเป็นจุดขายสำคัญเพราะไม่ใช่ไพรเวทเจ็ททุกลำจะมีห้องอาบน้ำ

นอกจากนี้ ห้องนอนใหญ่ ยังมีตำแหน่งอยู่ที่จมูกของเครื่องบิน ซึ่งอยู่ใต้ห้องนักบินพอดี โดยเป็นจุดที่ส่วนตัวที่สุดและเงียบที่สุดเนื่องจากอยู่ห่างจากเครื่องยนต์ โดยความหรูข้างต้นก็เป็นที่มาของราคาขายที่คาดว่า กระโดดไปถึง 400 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.4 หมื่นล้านบาท