‘Rolling Loud Thailand’ ปีแรกยังไงก็ขาดทุน ‘มอร์ มันนี่’ ยกไทยฮับเฟสติวัลโลก

‘Rolling Loud Thailand’ ปีแรกยังไงก็ขาดทุน ‘มอร์ มันนี่’ ยกไทยฮับเฟสติวัลโลก

บทเรียนทำงานเทศกาลดนตรีระดับโลก "Rolling Loud Thailand" 2 แม่ทัพมอร์ มันนี่ฯ ทุ่มเงินกว่า 1,000 ล้านบาท ปลุกเศรฐกิจ ดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยผงาด ปักหมุดเป็น "ฮับ" มิวสิค เฟสติวัล ปีแรกแลก "ขาดทุน" เพื่อสร้างประสบการณ์อเมซซิ่งให้คนไทย

หากกล่าวถึงเทศกาลดนตรีระดับโลก เชื่อว่าในลิสต์ขอแฟนๆ ต้องมีหลากหลายทั้งสายตื๊ดอย่างอีดีเอ็มต้องไปงาน “ทูมอร์โรวแลนด์” ที่เบลเยี่ยมซักครั้งในชีวิต หรืองานที่คนรักดนตรีและศิลปะไม่ควรพลาดอย่าง “เทศกาลแกลสตันบูรี” ที่ประเทศอังกฤษ รวมถึงเทศกาลดนตรีฮิปฮอประดับโลก “โรลลิ่งลาวด์”(Rolling Loud)ที่สหรัฐฯ

บางงานได้ยกทัพมาจัดในไทยแล้ว อย่าง Rolling Loud Thailand และมีความพยายามดึงทูมอร์โรว์แลนด์มาปักหมุดเพิ่มด้วย

สำหรับงาน Rolling Loud Thailand มี “มอร์ มันนี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์” ซึ่งเป็นบริษัทโดยอ้อมของ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด(มหาชน) ถือหุ้นอยู่ด้วย

‘Rolling Loud Thailand’ ปีแรกยังไงก็ขาดทุน ‘มอร์ มันนี่’ ยกไทยฮับเฟสติวัลโลก

งาน “AP Thailand presents CREATIVE TALK CONFERENCE 2024” Creative Generation มีการถอดบทเรียนการทำงานระดับโลกในไทย ผ่านเทศกาลดนตรีอย่าง “Rolling Loud Thailand" โดย 2 ผู้บริหาร ศิรวัฒน์ เทพเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มอร์ มันนี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด และ วาสนา อินทะแสง กรรมการบริหาร บริษัท มอร์ มันนี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด บอกเล่าเรื่องราว

เที่ยวทั่วโลกต่อยอดสู่ธุรกิจยก

ศิรวัฒน์ เป็นนักเรียนนอก จบสถาปัตยกรรมศาสตร์ ครอบครัวทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จึงมีโอกาสเดินท่องเที่ยวทั่วโลก และได้สัมผัสกับประสบการณ์ความบันเทิงหรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์ระดับโลก และมีความตั้งใจจะนำโปรเจคใหญ่ๆมาสู่เมืองไทย

ก่อนเริ่มงานใหญ่ทำงานสเกลเล็ก เทศกาลดนตรีที่ต่างประเทศมาก่อนแล้ว ซึ่งมีคนเข้าร่วม 1,000-2,000 คน การได้เห็นรอยยิ้ม ผู้คนมีความสุข จึงเริ่มจริงจัง ประกอบกับเพื่อนชวนไปร่วมเทศกาลดนตรีฮิปฮอปสุดยิ่งใหญ่ Rolling Loud สหรัฐฯ จึงบินไปดู และพบความอเมซซิ่ง!

“สนใจธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์เพราะผมเที่ยวทั่วโลก รวมถึงเทศกาลดนตรีระดับโลกทั้ง Coachella เทศกาลดนตรีที่อังกฤษ แต่ทำไมในไทยยังไม่มีมิวสิค เฟสติวัลสเกลใหญ่”

เมื่อเล็งเป้า Rolling Loud ไว้ จึงเริ่มเจรจากับพันธมิตรสหรัฐ กินเวลาร่วม 1 ปี จึงได้สิทธิดึงงานมาจัดในประเทศไทย ภายใต้สัญญาปี 2566-2572 ซึ่งเป็นสิทธิขาดในภูมิภาคเอเชียและเป็นที่แรกในทวีปเอเชียด้วย

เจอ Fake News สบประมาท ทำได้จริงไหม?

วาสนา กล่าวเสริมว่า ก้าวแรกของการทำโปรเจคยักษ์ ต้องต่อสู้กับ Fake News เพราะถูกตั้งคำถามว่า Rolling Loud Thailand จะเกิดได้จริงหรือ? บริษัทจะทำงานระดับโลกได้เหรอ เพราะนี่คือเทศกาลดนตรีฮิปฮอประดับโลก เป็นสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดในไทย

“มีกระแสข่าวหรือเฟกนิวส์ เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา เพราะไม่มีใครเชื่อว่าเราจะดึงแทรวิส สก็อต (Travis Scott) คาร์ดิ บี(Cardi B)มาเมืองไทย แต่ปีแรก 2566 เราทำได้สุดยอดมาก เอนเกจเมนต์การรับชมเกี่ยวกับงานทะลุ 500 ล้านวิว นี่คือสิ่งที่ Rolling Loud Thailand ทำและสะท้อนให้ทั่วโลกเห็นประเทศไทย”

กว่าจะเป็น Rolling Loud Thailand มีความยากมากมายตั้งแต่การทำงานร่วมกับทีมงานสหรัฐ มาตรฐานระดับโลกต่างๆ การได้ลิขสิทธิ์(ไลเซนส์) จัดงาน รวมถึงเนรมิตพื้นที่จัดงานให้ยิ่งใหญ่อลังการ..ไม่ง่าย! เช่น ทีมงานต้องมาตรวจสอบพื้นที่จัดงานเอง ปรับพื้นที่ให้สอดคล้องกับความต้องการ แปรพื้นที่ 100 ไร่ จากป่าให้เป็นปูนภายใน 30 วัน เป็นต้น

‘Rolling Loud Thailand’ ปีแรกยังไงก็ขาดทุน ‘มอร์ มันนี่’ ยกไทยฮับเฟสติวัลโลก

“เฉพาะเตรียมพื้นที่ใช้เงินร้อยล้านบาท เพราะ Rolling Loud Thailand เป็นกลุ่มคนระดับพรีเมียมมาร่วมงาน คนที่ซื้อบัตรราคาหลักหมื่นบาท แต่งหน้าแต่งตัว ต้องไม่เดินลุยดิน ฝนตกต้องไม่เปียก บริการทางการแพทย์ เดินทางต้องสะดวก เที่ยวได้ต่อได้ เราจึงปักหมุดพัทยาเป็นที่จัดงาน”

เคาะศิลปิน หินไม่แพ้กัน

ชื่อเทศกาลดนตรีระดับโลก การันตีศิลปินมาร่วมงานต้องท็อปเทพแถวหน้าเท่านั้น แต่การลิสต์ศิลปินเพื่อเคาะดึงมาร่วมงานไม่ง่าย และเต็มไปด้วยเงื่อนไข ศิลปินบางรายสนใจมาไทย แต่ไม่สามารถนั่งเครื่องบินกว่า 20 ชั่วโมงข้ามโลกได้ ต้องปัดตก มาแล้วการดูแลเอาใจใส่หรือเทกแคร์ต้องเป๊ะปัง ระหว่างทางมาเจอสื่อห้อมล้อม จะทำให้ขยาด รู้สึกไม่ปลอดภัย จึงใช้ทีมรักษาความปลอดภัยจากสหรัฐ 100 ชีวิตมาทำหน้าที่

เนื่องจากงานมีคนหลากหลายเข้าร่วม อาหารและเครื่องดื่มต้องดูแลให้ถูกปากพอๆกับถูกใจ และการแสดงคือหัวใจสำคัญต้องจัดการให้กลมกล่อม เดินไปจุดไหนอย่างไร การทำงานตัดต่อเบื้องหลังเป็นทีมจากสหรัฐ 40 ชีวิต ประกบกับทีมไทย เป็นต้น

‘Rolling Loud Thailand’ ปีแรกยังไงก็ขาดทุน ‘มอร์ มันนี่’ ยกไทยฮับเฟสติวัลโลก

“เวทีการแสดงของ Travis Scott ใช้เวลาเปลี่ยน 45 นาที ภายใต้งบ 15 ล้านบาท นั่นของศิลปินคนเดียวที่เป็นเฮดไลน์นิ่งของแต่ละวัน ซึ่งต้องโคลนเวทีขึ้นมาใหม่ โปรดักชันสำคัญมาก เราต้องทำถึง”

ทุ่มกว่า 1,000 ล้านบาท ปีแรกยังไงก็ขาดทุน!

การจัดเทศกาลดนตรีระดับโลกในประเทศไทย มอร์ มันนี่ฯ ใช้เงินกว่า 1,000 ล้านบาท สร้างความยิ่งใหญ่ ทว่า ผลลัพธ์ทางธุรกิจปีแรก ยังเผชิญขาดทุน เพราะอยู่ในช่วงการรับรู้ให้กับคนไทย ซึ่งเข้าร่วมงานราว 20% ส่วนใหญ่ยังเป็นนักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติมามันส์กระจาย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ยุโรป จีน อินเดีย ฯ

ส่วนปี 2567 การจัดงานจะมีขึ้น 22-24 พฤศจิกายน และเปิดขายบัตร พร้อมประกาศไลน์อัพศิลปินเรียบร้อยแล้ว ผลตอบรับจากแฟนๆค่อนข้างดี โดยเฉพาะคนไทยที่สัดส่วนเพิ่มขึ้น 38% บัตรเทียร์ 1 ราคา 354 ดอลลาร์ หรือ 12,400 บาท(Early Bird) ขายเกลี้ยงใน 48 ชั่วโมง จากตั้งใจขาย 4 วัน รวมถึงโต๊ะ VVIP สำหรับ Loud Club ที่จะมีโอกาสใกล้ชิดศิลปินแถวหน้าที่ต่อโต๊ะขายบัตร 2.5 ล้านบาท มียอดจอง 40% ทั้งที่ยังไม่เผยไลน์อัพศิลปิน (ปัจจุบันทยอยเผย เช่น Tyla,  Ski Mask the Slump God, WIZKHALIFA และASAP ROCK ฯ)ขณะที่บัตรเทียร์ 2-3 Final Tier และ VIP ราคาตั้งแต่ 471-829 ดอลลาร์ หรือ 14,600-28,999 บาท ยังมีให้จับจองต่อเนื่อง

‘Rolling Loud Thailand’ ปีแรกยังไงก็ขาดทุน ‘มอร์ มันนี่’ ยกไทยฮับเฟสติวัลโลก ราคาบัตรแต่ละเทียร์

“ปีแรกยังไงก็ขาดทุน เพราะเราลงทุนเยอะมาก ไม่คาดหวังว่าเราจะได้กำไร คิดตั้งแต่ทำ feasibility นี่คือประสบการณ์ สิ่งที่ลองทำให้ดีสุด ถ้าไม่ผ่านปีแรก ไม่มีทางทำปีที่ 2 ได้ เราจะทำให้ดีกว่าเดิม แต่ปีนี้หวังว่ามีกำไรแล้ว..จะเอาเงินแล้วล่ะ”

ปลุกเศรษฐกิจวินมอเตอร์ไซต์ถึงผงาดซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่โลก

มอร์ มันนี่ฯ คาดการณ์ปี 2567 Rolling Loud Thailand จะมีคนเข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 1 แสนคนต่อวัน ทว่า เป้าหมายใหญ่กว่าตัวเลข คือ 1.ต้องการปลุกเศรษฐกิจให้คึกคัก 2.งานระดับโลกโชว์ศักยภาพคนไทยทำได้ 3.เป็นสะพานเชื่อมโยงธุรกิจอื่นๆ 4.เปิดพื้นที่ให้ศิลปินไทยมีโอกาสโชว์ความสามารถให้ทั่วโลกเห็นว่ามีดี หากทำได้ยอดเยี่ยม “เงิน” จะตามมาเอง อย่างปีที่แล้วทุ่มทุนพันล้านบาท เฉพาะผับบาร์บางแห่งทำเงินได้ 20 ล้านบาท จากนักท่องเที่ยวในวันเดียว ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ด้านเศรษฐกิจ ยังเชื่อว่าช่วยกระตุ้นตั้งแต่วินมอเตอร์ไซต์ แม่ค้าขายข้าวมันไก่ ทุเรียน โรงแรม ที่พัก ร้านอาหารต่างๆ รวมถึงรอยยิ้ม ที่สำคัญการผลักดัน “ซอฟต์พาวเวอร์ไทย” มิติต่างๆให้ผงาดโลก เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ถูกรับรู้(Awareness)อีกมากในสายตาประชากรโลก

“ปีนี้ตั้งใจอยากขับเคลื่อนสุดคือวัฒนธรรม รอยยิ้มสยาม อาหารไทย และเศรษฐกิจ เรามองว่าประเทศไทยเหมาะสมมากสุดในการเป็น Status of World Class เราต้องพิสูจน์ตัวเองว่าเราทำได้ ไทยเหมาะสมกับการจัด Rolling Loud Thailand เราทำได้หลายอย่าง ศิลปินระดับโลกมาไทยก็เที่ยวต่อ เม็ดเงินที่กระตุ้นเศรษฐกิจในงานเราคาดการณ์ระดับ 1,000 ล้านบาท” วาสนา กล่าว

‘Rolling Loud Thailand’ ปีแรกยังไงก็ขาดทุน ‘มอร์ มันนี่’ ยกไทยฮับเฟสติวัลโลก Central Cee จบการแสดงแล้วไปเที่ยวภูเก็ต นำชื่อภูเก็ตไปอยู่ในเพลง รวมถึงชื่นชอบยาดมหงส์ไทยมากๆ

ขณะที่ ศิรวัฒน์ เสริมว่า การลงทุนครั้งนี้ เพื่อมอบประสบการณ์ระดับโลกให้คนไทยได้สัมผัส และถือว่า “คุ้มค่า” กับการให้คนทั้งประเทศ Aware ไม่ใช่มองโจทย์เงินด้านเดียว

“มากกว่าเงิน คือประสบการณ์ที่คนได้สัมผัส รับรู้ประเทศไทย มูลค่ากว่าพันล้านบาทเยอะในเชิงโปรโมทหรือพีอาร์ประเทศ และยังกระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาล อย่างปีก่อนจัดสงกรานต์ พัทยาเงียบ แต่เราทำให้รถติดเป็นชั่วโมง โรงแรมที่พักเต็มทุกที่ ทุกคนแฮปปี้หมด ที่สำคัญ Rolling Loud Thailand เกิดแล้วเพื่อผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางหรือฮับของเทศกาลดนตรีระดับโลกทั้งหมด”

อย่ากลัว-ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ บทเรียนทำงานระดับโลก

อย่างไรก็ตาม ถอดบทเรียนการทำงานระดับโลก วาสนา ทิ้งท้าย Keyword สำคัญ คือ “ fearless nothing can stop me” ไม่มีอะไรในโลกที่ตนเองทำไม่ได้ตลอดเส้นทางการทำงาน 15 ปี ตั้งแต่งานล้างจาน เป็นเจ้าของธุรกิจ

“ไม่มีอะไรในโลกที่เมย์ทำไม่ได้ ต้องกล้าท้าทาย ถ้าทำเต็มที่ ส่วนที่ทำแล้วล้มเหลว เพราะยังทำไมาเต็มที่พอ ศักยภาพคนเริ่มจากตัวเอง อย่าปิดประตูขีดความสามารถตัวเอง ขณะที่เป้าหมายไปสู่ความสำเร็จ ต้องมีผิดพลาด เรียนรู้ เส้ทางบนโลกไม่ได้สวยงาม หากมองอุปสรรคตั้งแต่แรก ก็จะยากไปหมด”

‘Rolling Loud Thailand’ ปีแรกยังไงก็ขาดทุน ‘มอร์ มันนี่’ ยกไทยฮับเฟสติวัลโลก หวังโปรโมทประเทศไทยและผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยผงาดโลก

กฎการทำงานยังเชื่อในเรื่อง One Team เคียงบ่าเคียงไหล่ ยืนข้างกัน วิธีคิดหรือ Mindset ต้องเหมือนกันเต็ม 100% หาก 99.5% ไม่เอา เพราะ 0.5 นั่นจะกลายเป็นความยากในการทำงาน รวมถึงเชื่อมั่น(Trust)ต่อกัน

ส่วน ศิรวัฒน์ ยกวรรคทอง “nothing imposible” ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ ต้องทำได้หมด ทำไม่ดีก็ต้องพยายาม ไม่ยอมแพ้ตั้งแต่เริ่มต้น นั่นเป็น Goal แนวคิดนี้ได้แรงบันดาลใจจากแม่ที่เป็นผู้หญิงทำงานอย่าง “ศิริญา เทพเจริญ” หญิงเหล็กแห่งนุศาศิริด้วย