พัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีด้วย AI หรือ gen AI

พัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีด้วย AI หรือ gen AI

กิตติศัพท์ความเก่งกาจของ เอไอ หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” ที่สามารถทำงานหลายๆ อย่างแทนมนุษย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการสร้างภาษา ข้อความ การแปลภาษา การสร้างทำนองเพลง การสร้างภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ไปจนถึงความสามารถในการโต้ตอบกับมนุษย์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และยังมีพัฒนาการต่อยอดสมรรถนะของ เอไอ ขึ้นไปเป็น เจน-เอไอ (gen-AI หรือ Generative AI) ที่มีความสามารถยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถเพิ่มความรู้หรือสร้างความรู้ใหม่ๆ ต่อยอดการเรียนรู้ที่ไม่ซ้ำเดิมได้ไปเรื่อยๆ ด้วยตัวมันเองจากการได้รับข้อมูลใหม่ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

 

ในปัจจุบัน ได้มีการนำ เอไอ และ เจน-เอไอ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีกันบ้างแล้ว ในรูปแบบของการช่วยแปลเอกสาร การแก้ไขข้อความภาษาเขียนที่เป็นภาษาอังกฤษ การช่วยหาข้อมูลในการทำรายงาน หรือทำแผนงานที่ต้องใช้แหล่งข้อมูลจากหลายแหล่งหรือมีจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ความสามารถในการประมวลภาษา หรือการเรียบเรียงจัดระเบียบข้อมูลให้เป็นระบบ

ซึ่งเป็นการช่วยให้การทำงานภายในของธุรกิจเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น โดยใช้เวลาทำงานน้อยลงกว่าเดิมมาก

สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี พนักงานที่มีความคิดริเริ่ม อาจนำเอไอเข้ามาใช้ประกอบในการทำงานโดยที่เจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารไม่ทราบว่าผลงานส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดเกิดขึ้นจากสมองของ “ปัญญาประดิษฐ์” ที่สั่งการโดยตัวพนักงานเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการขึ้นมาได้

หรือในเอสเอ็มอีที่เจ้าของธุรกิจ เป็นคนรุ่นใหม่ สนใจในเรื่องของเทคโนโลยีอยู่แล้ว เป็นตัวผลักดันให้พนักงานของตนเองแสวงหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อนำเอไอ หรือ เจน-เอไอ มาใช้ประกอบในการทำงาน

พัฒนาการต่อไปที่น่าจะเป็นไปได้สำหรับการนำเอไอ หรือ เจน-เอไอ มาใช้ในธุรกิจเอสเอ็มอี ก็อาจเป็นเรื่องของการนำมาประยุกต์ใช้งานในเชิงการสร้างประสิทธิภาพในการบริหารการผลิต การบริหารโรงงาน หรือ การพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เช่น การใช้แอปพลิเคชั่นเอไอ มาช่วยในการจัดการการซ่อมบำรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์ในโรงงาน เพื่อช่วยลดต้นทุนในการซ่อมแซม ลดอัตราการสูญเสียผลผลิตเนื่องจากเครื่องจักรเสียหาย และการเก็บข้อมูลบันทึกประวัติการทำงานของเครื่องจักรอุปกรณ์ ซึ่งเอไอสามารถทำได้รวดเร็วและแม่นยำกว่าการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยหัวหน้างานหรือวิศวกรซ่อมบำรุง

และหากนำเจน-เอไอ มาใช้ ก็จะสามารถวิเคราะห์และเสนอแนะช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อลดค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุง ทำให้เครื่องจักรมีอายุใช้งานได้นานขึ้น หรือช่วยทำให้ชั่วโมงการทำงานของเครื่องจักรให้สร้างผลผลิตได้สูงสุด

หรือ การนำมาใช้โดยตรงในกระบวนการผลิต ตั้งแต่การวางแผนการผลิต การควบคุมปริมาณวัตถุดิบ การควบคุมของเสียและของเหลือทิ้ง ที่สามารถเก็บข้อมูลและรายงานผลได้ทันที ทำให้สามารถปรับแต่งกระบวนการผลิตได้ทันเวลา

ในธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้น ก็จะมี เอไอ หรือ เจน-เอไอ ที่จะมาช่วยในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ปรับแต่งผลิตภัณฑ์ให้คุณภาพหรือการใช้งานได้ดีขึ้น ลดการใช้ชิ้นส่วนซ้ำซ้อน หรือลดการใช้วัตถุดิบที่ไม่จำเป็นลงได้ หรือแม้กระทั่งลดระยะเวลาในการลองผิดลองถูกระหว่างการพัฒนาออกแบบสินค้าหรือดีไซน์ใหม่

แอปพลิเคชั่นเอไอ และเจน-เอไอสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ยังอาจรวมไปถึงการใช้งานด้านการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ การตรวจสอบคุณภาพด้วยตัวเองแบบอัตโนมัติ การควบคุมระบบโลจิสติกส์และการจัดส่ง และการบริหารจัดการสต็อคสินค้าและวัตถุดิบที่สามารถเรียนรู้เพื่อลดความสูญเสียที่ไม่จำเป็นลงได้

แม้ว่าพัฒนาการของเอไอ และเจน-เอไอ ที่จะมาช่วยพัฒนาเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอีในปัจจุบันยังจะมีไม่แพร่หลายในประเทศไทย

แต่เจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารที่ต้องการสร้างความเติบโตให้แก่ธุรกิจของตนเองอยู่ตลอดเวลา ก็จะนิ่งดูดายโดยไม่เริ่มต้นที่จะเตรียมตัวศึกษาให้พร้อมเพื่อรับอนาคตของการนำ “ปัญญาประดิษฐ์” มาใช้เสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของท่านในทุกด้าน

ไม่ได้อย่างแน่นอน!!??!!