ธุรกิจเพื่อสังคม ต้องอยู่รอดได้ด้วย | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ธุรกิจเพื่อสังคม ต้องอยู่รอดได้ด้วย | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ประเทศไทยเคยได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย แต่สุดท้ายกลับไปไม่ถึงเป้าหมายเนื่องจากปัญหาสังคม การเมือง และวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงกว่าหนึ่งทศวรรษ

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดการขับเคลื่อนนวัตกรรมแบบใหม่ทั้งทางด้านเทคโนโลยีและสังคมให้ไปสู่ระดับรากหญ้า นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้เข้าสู่สังคมสูงวัยซึ่งทำให้คนไทยแก่ก่อนรวย

ประชากรสูงวัยจึงต้องการนวัตกรรมแบบใหม่เพื่อยืดอายุการทำงาน และการส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้มีความมั่นคงและยั่งยืน ยิ่งไปกว่านั้นโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในเวลานี้ทำให้สังคมมีความเหลื่อมล้ำสูง ประชากรจำนวนมากเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ

ประเทศไทยจึงจำเป็นที่จะต้องแสวงหาและส่งเสริมเครื่องมือและกลไกใหม่ ๆ ที่เป็นนวัตกรรมทางสังคม เพื่อที่จะมาสนับสนุนและต่อยอดการพัฒนาของภาครัฐ

กิจการและธุรกิจเพื่อสังคมเป็นกระแสใหม่ซึ่งเติบโตอย่างมากในซีกโลกตะวันตก นำไปสู่ปรากฏการณ์ที่พลเมืองออกมาร่วมกันทำสาธารณประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น รวมถึงรูปแบบที่เป็นธุรกิจ

ทฤษฎีที่ใช้อธิบายกิจกรรมเพื่อสังคมในช่วงเริ่มแรกเป็นทฤษฎีการประกอบการทางสังคม (Social Entrepreneurship) ที่ไม่ได้มุ่งธุรกิจเพื่อสังคมแต่เน้นกระบวนการที่ประชาชนพยายามที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคม

เช่น ความยากจน ความเจ็บป่วย การไม่รู้หนังสือ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ คอร์รัปชัน และการกดขี่ข่มเหง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ทำให้สังคมดีขึ้น

ภายใต้ทฤษฎีนี้ ผู้ประกอบการทางสังคมคือผู้ที่เห็นคุณค่าสาธารณะใหม่ ๆ เพื่อที่จะสร้างโอกาสและนวัตกรรมทางนโยบายหรือทางวัฒนธรรมใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่ดุลยภาพใหม่ของสังคม บุคคลต้นแบบรุ่นใหม่ที่มักจะถูกกล่าวถึง คือ Jimmy Wales ผู้ก่อตั้ง Wikipedia

ทฤษฎีธุรกิจเพื่อสังคมเกิดขึ้นจากความสำเร็จของต้นแบบ ซึ่งต้นแบบที่มีชื่อเสียงที่สุดคือธนาคารกรามีน จัดตั้งโดย มูฮัมหมัด ยูนุส ซึ่งทั้งตัวองค์กรและผู้บริหารต่างได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในปี 2016

แต่ก่อนหน้านั้นธนาคารได้มีชื่อเสียงไปทั่วโลกและได้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว จนในบางครั้งถูกขนานนามว่าทุนนิยมรู้แจ้ง (enlightened capitalism) ซึ่งต่างจากทุนนิยมที่มีอยู่ในปัจจุบันคือ

ธุรกิจเพื่อสังคม ต้องอยู่รอดได้ด้วย | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ทุนนิยมรู้แจ้ง ถือเอาเป้าหมายทางสังคมและวัตถุประสงค์เพื่อสังคมเป็นวัตถุประสงค์หลักของการทำธุรกิจ ไม่ใช่การแสวงหากำไรสูงสุดตามแนวคิดทุนนิยมกระแสหลัก ดังนั้น สิ่งที่นักธุรกิจเพื่อสังคมพยายามที่จะแสวงหาจึงไม่ใช่กำไรสูงสุด แต่เป็นผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมสูงสุด

ทฤษฎีธุรกิจเพื่อสังคมจึงไม่ใช่ทฤษฎีเชิงนามธรรม แต่เป็นทฤษฎีที่ถอดแบบมาจากความสำเร็จของธุรกิจเพื่อสังคมที่เป็นรูปธรรมและเห็นผลในเชิงประจักษ์แล้ว ดังนั้น ทฤษฎีธุรกิจเพื่อสังคมจึงเป็นทฤษฎีที่สรุปมาจากประสบการณ์ 

ธุรกิจเพื่อสังคมในความเห็นของยูนุสมีลักษณะดังนี้

1) ธุรกิจเพื่อสังคมจะต้องมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์เพื่อสังคม คำถามแรกในการจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคมคือจะต้องแก้ปัญหาอะไรของสังคม ไม่ใช่ว่าจะผลิตอะไรแล้วได้กำไรสูงสุดให้คุ้มค่าการลงทุน

2) ธุรกิจเพื่อสังคมต้องอยู่รอดได้ด้วยตัวเองและสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน หมายความว่าธุรกิจเพื่อสังคมอาจจะต้องแข่งขันกับธุรกิจประเภทเดียวกันที่เป็นธุรกิจปกติและต้องสามารถแข่งขันได้ด้วยตัวเองไม่ได้พึ่งพาการอุดหนุน ต้องพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืนทั้งทางด้านการเงินและด้านเศรษฐกิจ

ธุรกิจเพื่อสังคม ต้องอยู่รอดได้ด้วย | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

3) ผู้ลงทุนจะได้รับเพียงเงินต้นที่ลงทุนของตนเองคืนโดยไม่มีดอกเบี้ยและเงินปันผล

4) หลังจากที่ได้คืนทุนแก่ผู้ลงทุนแล้ว กำไรที่เหลือจะนำไปขยายผลและปรับปรุงกิจการขององค์กร

5) ธุรกิจเพื่อสังคมต้องเป็นธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

6) บุคลากรของบริษัทหรือธุรกิจเพื่อสังคมจะต้องได้รับค่าตอบแทนตามราคาตลาดและมีเงื่อนไขการทำงานที่ดี

7) ธุรกิจเพื่อสังคมเป็นธุรกิจที่ผู้มีส่วนร่วมทำแล้วมีความสุข

ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น ธุรกิจเพื่อสังคมและกิจการเพื่อสังคมได้วิวัฒนาการจนเส้นแบ่งระหว่างกิจการทั้ง 2 ประเภทนี้จางลง ซึ่งเกิดจากทั้งความจำเป็น ความเป็นไปได้ในแต่ละพื้นที่ หรือสภาพของการแข่งขันทั้งในตลาดสินค้าและบริการ

ทำให้ธุรกิจเพื่อสังคมที่แท้จริงตามคำนิยามของยูนุสนั้นเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากต้องเป็นบริษัทที่แสวงหากำไรแต่ไม่คืนทุนให้แก่ผู้ลงทุน ยกเว้นผู้ลงทุนที่เป็นคนยากจนหรือเป็นบริษัทของคนยากจน

ดังนั้น ธุรกิจเพื่อสังคมในความเป็นจริง จึงอาจเป็นธุรกิจที่แสวงหากำไรสูงสุด แต่ต้องมีเงื่อนไขทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ (mission hybrid)

ธุรกิจเพื่อสังคม ต้องอยู่รอดได้ด้วย | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ Whole Foods ซุปเปอร์มาร์เก็ตเชนในสหรัฐอเมริกาที่ได้มีการผสมผสานทั้งเงื่อนไขการแสวงหากำไรสูงสุดกับการผลิตเพื่อสังคมไว้ด้วยกัน หรือ Oxfam ซึ่งเป็นกิจการเพื่อสังคมที่มีพันธกิจหลักในการลดความยากจน ได้มีธุรกิจขายสินค้ามือสองเพื่อเป็นแหล่งทุนเสริมรายได้นอกเหนือจากการรับบริจาค

คำว่าธุรกิจเพื่อสังคมมีความหมายที่ค่อนข้างกว้างสำหรับภาคเอกชนและคนทั่วไป ซึ่งโดยทั่วไปจะหมายถึง ธุรกิจที่มีส่วนเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ของสังคม และบรรเทาหรือแก้ไขปัญหาสังคม

เช่น ภาคเอกชนที่มีกิจกรรมการคืนกำไรสู่สังคมผ่านกิจกรรมที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (corporate social responsibility) เช่น การปลูกป่า การสร้างโรงเรียน ก็อาจเรียกตัวเองว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคมได้

ส่วนวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์ที่สร้างประโยชน์ให้กับคนในชุมชนที่เป็นสมาชิกของตน หรือองค์กรที่ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็อาจจะประชาสัมพันธ์ตนเองว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคม

มูลนิธิ หรือสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำเพื่อสาธารณประโยชน์พร้อมกับมีกิจกรรมเชิงธุรกิจเพื่อหารายได้ ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจเพื่อสังคมด้วยเช่นกัน

รัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ในการส่งเสริมนวัตกรรมทางสังคม โดยภาครัฐจะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัท หุ้นส่วน ฯลฯ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 ที่มีวัตถุประสงค์ในการจ้างงานบุคคลผู้สมควรได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษหรือเพื่อแก้ไขปัญหาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

โดยกิจการเหล่านี้จะต้องกำหนดสัดส่วนของกำไรที่จะแบ่งปันให้แก่ผู้ที่เป็นหุ้นส่วนและผู้ถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 30 หรือไม่ประสงค์จะแบ่งปันกำไรให้แก่หุ้นส่วนและผู้ถือหุ้นและจะนำส่วนที่ได้นี้ไปใช้เพื่อสังคม

นอกจากนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กำลังสนับสนุนการวิจัยเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคมของคนรุ่นใหม่อยู่เช่นกัน

ในคราวต่อไป ผู้เขียนจะนำองค์กรและบุคคลต้นแบบของธุรกิจเพื่อสังคมมานำเสนอให้ได้ชื่นชมกันค่ะ