เปลี่ยน“ปัญหา”เป็น“ธุรกิจเพื่อสังคม” | ธราธร รัตนนฤมิตศร
ในมุมมองธุรกิจ ปัญหาของผู้บริโภคคือโอกาสของผู้ประกอบการ ยิ่งปัญหาของผู้บริโภคมีมากเพียงใด ก็ยิ่งแสดงถึงโอกาสที่แฝงอยู่ในตัวปัญหามากเพียงนั้น
หากผู้ประกอบการสามารถคิดค้นสินค้าและบริการให้สามารถแก้ไขปัญหา หรือที่เรียกว่า “Painpoint” ของผู้บริโภคได้ สินค้าและบริการเหล่านั้นก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในตลาดได้ ดังนั้น ตราบใดที่ผู้บริโภคยังคงมีปัญหาในชีวิตประจำวัน โอกาสทางธุรกิจก็ไม่มีวันจะหมดสิ้นไป
ยิ่งหากผู้ประกอบการสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์ และราคาถูกกว่าสินค้าและบริการเดิมที่มีอยู่ในตลาด ก็จะยิ่งประสบผลสำเร็จทางธุรกิจมากขึ้นเพียงนั้น นอกจากปัญหาของผู้บริโภคที่เป็นโอกาสของธุรกิจแล้ว เรายังพบ “ปัญหาทางสังคม” ที่ถือเป็นโอกาสสำหรับการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ
โดยเฉพาะในฤดูกาลเลือกตั้งนี้ เหล่าพรรคการเมืองต่างกำลังสรรหาและแข่งขันกันเสนอ “นโยบาย” “กฎหมาย” และ “โครงการ” ต่างๆ ให้ตอบโจทย์ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ให้ซื้อนโยบายของตนเอง เมื่อพรรคใดมีโอกาสได้เข้าไปเป็นรัฐบาลหรืออยู่ในสภาฯ ก็จะสามารถผลักดันนโยบายหรือกฎหมายใหม่ๆ ที่ตนได้สัญญาไว้กับประชาชน
ที่ผ่านมา เรามักพบว่าโครงการพัฒนาหลายๆ โครงการที่ดำเนินการโดยภาครัฐอาจประสบกับปัญหาบางประการ ที่ทำให้โครงการไม่ยั่งยืน
เช่น งบประมาณของโครงการหมดลง การเปลี่ยนรัฐบาลที่ทำให้เปลี่ยนนโยบายซึ่งอาจทำให้บางโครงการไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ หรือแม้แต่ด้วยระบบของการตั้งงบประมาณล่วงหน้าหนึ่งปี ก็อาจทำให้ปัญหาในแต่ละพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเฉพาะในโลกยุคที่หมุนเร็วอย่างทุกวันนี้ ซึ่งเป็นจุดอ่อนของโครงการภาครัฐที่เกิดขึ้นเป็นประจำ
นอกเหนือจากภาครัฐแล้ว เราพบว่ากลไกธุรกิจเพื่อสังคม เป็นอีกกลไกหนึ่งที่น่าสนใจในการแก้ไขปัญหาทางสังคม เพราะธุรกิจเพื่อสังคมสามารถแก้ไขปัญหาจุดอ่อนของภาครัฐดังที่กล่าวไปข้างต้นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากธุรกิจเพื่อสังคมดำเนินการผ่านกลไกทางธุรกิจเพื่อสร้างผลกระทบทางสังคม
ดังนั้น หากธุรกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้ มีรูปแบบโมเดลทางธุรกิจที่ดีและตลาดรองรับเพียงพอ ก็จะทำให้กิจกรรมเพื่อสังคมสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณปีต่อปีเหมือนโครงการภาครัฐ
ธุรกิจเพื่อสังคมยังสามารถเกาะติดกับพื้นที่และปัญหาที่มีพลวัตไปได้อย่างต่อเนื่อง จึงสามารถปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดทางธุรกิจเพื่อสังคมให้สอดรับกับปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไปได้รวดเร็วกว่าการตั้งโครงการของภาครัฐ
นอกจากนี้ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ธุรกิจเพื่อสังคมก็จะไม่ได้รับผลกระทบทางตรงเหมือนเช่นโครงการภาครัฐอื่นๆ ที่อาจถูกยกเลิกไปได้เมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้วหรือจุดเน้นของนโยบายเปลี่ยน ดังนั้น ธุรกิจเพื่อสังคมจึงเป็นกลไกสำคัญที่ประเทศพัฒนาหลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างสูง
ตัวอย่างธุรกิจเพื่อสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศมีอยู่มากมาย แต่ละรายล้วนกำลังแก้ไขปัญหาทางสังคมที่สำคัญๆ กันอย่างขะมักเขม้น เช่น “ธุรกิจเพื่อสังคม OLIO” แห่งสหราชอาณาจักร กำลังแก้ไขปัญหาอาหารส่วนเกิน (food waste) ผ่านการสร้างแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมโยงเพื่อนบ้านเข้าด้วยกัน
เพื่อให้สามารถแบ่งปันอาหารส่วนเกินได้โดยไม่ทิ้งขว้าง จนถึงปัจจุบัน OLIO มีผู้เข้าใช้แอพแบ่งปันอาหารส่วนเกิน 6.3 ล้านคน มีอาหารส่วนเกินที่ได้รับการแบ่งปัน 65.3 ล้านหน่วย เทียบเท่ากับการประหยัดจำนวนไมล์การเดินทาง 191.7 ล้านไมล์
“ธุรกิจเพื่อสังคม Root energy” แห่งเกาหลีใต้ กำลังพัฒนาและจัดการโซลูชั่นสำหรับการเปลี่ยนแปลงพลังงานที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย เช่น เชื้อเพลิงฟอสซิลและการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ให้เป็นพลังงานหมุนเวียน 100% ด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนร่วมกับชุมชน
ผ่านการจัดหาเงินทุนแบบ P2P Financing ช่วยให้ประชาชนสามารถลงทุนโดยตรงในโครงการที่ประชาชนสนใจ โดยเริ่มต้นที่ 100,000 วอน (ประมาณ 84.45 ดอลลาร์สหรัฐ)
โดยเฉพาะคนในท้องถิ่นที่อยู่ใกล้เคียงโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเท่านั้นที่สามารถเข้าร่วมได้การระดมทุนของชุมชน ทำให้โรงไฟฟ้าเป็นของชุมชน ช่วยกระตุ้นการลงทุนและเศรษฐกิจในท้องถิ่น พร้อมกับการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดและปลอดภัย
“ธุรกิจเพื่อสังคม Hello Tractor” หรือ “Uber สำหรับรถแทรกเตอร์” เป็นแพลตฟอร์มช่วยเกษตรกรรายย่อยที่ไม่สามารถเป็นเจ้าของรถแทรกเตอร์ได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงรถแทรกเตอร์ โดยลูกค้ากว่า 80% อาศัยอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน เกือบทั้งหมดมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นและผลตอบแทนที่สูงขึ้นเมื่อใช้บริการเช่ารถแทรกเตอร์
เนื่องจากการใช้เครื่องจักรเร็วกว่าการใช้แรงงานคนประมาณ 40 เท่า ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายประมาณหนึ่งในสามของแรงงานคน Hello Tractor ดำเนินการใน 17 ประเทศ ช่วยให้สามารถนำที่ดิน 9 ล้านเฮกตาร์มาใช้ในการผลิตการเกษตร เพิ่มอาหาร 37 ล้านตัน และสร้างงานใหม่ 2 ล้านตำแหน่ง
ในประเทศไทยก็มีธุรกิจเพื่อสังคมที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น “Vulcan Coalition” กำลังสร้างอาชีพ AI Trainer ให้ผู้พิการ “Buddy HomeCare” กำลังให้การศึกษาแก่ผู้ขาดโอกาสเพื่อไปให้บริการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ “กาแฟอาข่า อ่ามา” กำลังใช้กาแฟเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนอาข่าบนยอดดอย “ปลาออร์แกนิก” กำลังส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืน เป็นต้น
จากปัญหาสังคมมากมายที่มีอยู่รอบตัว คนรุ่นใหม่กำลังเปลี่ยนปัญหาเหล่านี้ให้เป็นธุรกิจเพื่อสังคม นโยบายที่ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคมจึงเป็นนโยบายที่มีวิสัยทัศน์ เพราะหากประเทศไทยมีกองทัพธุรกิจเพื่อสังคมเกิดผุดขึ้นจำนวนมากในประเทศ ก็เชื่อมั่นได้ว่า ประเทศไทยจะมีอนาคตสดใสยิ่งกว่าเดิมอย่างแน่นอน.