พลังของการลงมือทำ | เอด้า จิรไพศาลกุล
เมื่อหลายปีก่อน เอด้าเริ่มงานอาจารย์ด้านการประกอบการสังคม (social entrepreneurship) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยความตั้งใจสร้างนักเปลี่ยนแปลงสังคมรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นอาชีพที่ต่างไปจากแผนการชีวิตที่เขียนไว้ตั้งแต่เรียนมัธยม
แผนการชีวิตที่เขียนไว้ว่าจะเปลี่ยนประเทศ ด้วยการทำนโยบายสาธารณะที่เข้าถึงและเป็นธรรมกับประชาชน ทั้งเรียนและทำงานมาเกินสิบปีในสายงานภาครัฐและการเมืองที่ตรงกับความตั้งใจเดิมนี้ เลยตั้งคำถามกับตัวเองอยู่เรื่อยๆ ว่าการเปลี่ยนมาทำงานภาคประชาชนเป็นทางเลือกที่ถูกต้องแล้วหรือไม่
จังหวะดีที่ในปี 2559 ได้ไปประชุมเรื่องนวัตกรรมสังคมที่เมืองโบโกต้า ประเทศโคลอมเบีย งานวันแรกช่วงเช้าเริ่มจากการฟังเรื่องราวของนวัตกรท้องถิ่น ที่ทำงานขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงเมืองจากภาคประชาชน วิทยากรเป็นหนุ่มอายุสามสิบปลาย บุคลิกจริงจัง ไว้หนวดเคราเล็กน้อย แววตามุ่งมั่น ใส่เสื้อเชิ้ตและกางเกงขายาวสีตุ่นๆ แบบสุภาพแต่พร้อมลุยงานหนัก
“Never doubt that a small group of thoughtful committed citizens can change the world. Indeed, it is the only thing that ever has.” – Margaret Mead
เค้าเล่าด้วยน้ำเสียงทรงพลังแฝงความกราดเกรี้ยว ทำให้คนฟังตื่นและสนใจตลอดเวลาทั้งๆ ที่กำลัง jet lag อยู่ว่าเมื่อก่อนเค้าทำงานอยู่กระทรวงศึกษานี่ล่ะ มีความตั้งใจแรงกล้าอยากเปลี่ยนโครงสร้าง เปลี่ยนนโยบายสำคัญในประเทศ แต่มันเกิดขึ้นได้ช้ามาก
สามปีก่อนนั้นมีลูกเพื่อนที่อยู่ละแวกบ้านเค้าเสียชีวิตจากการโดนรถชนบนทางม้าลาย ซึ่งในเมืองโบโกต้าเองมีสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงมาก และส่วนใหญ่ผู้เสียชีวิตคือคนเดินทางเท้า (pedestrain) ไม่ใช่ผู้ขับขี่ยานพาหนะ
เหตุการณ์นี้ทำให้เค้าซึ่งเป็นคุณพ่อที่มีลูกวัยไล่เลี่ยกันโกรธมาก แล้วรู้สึกว่าทำไมต้องมารอผู้มีอำนาจเปลี่ยนนโยบายเพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ในเมื่อเมืองก็เป็นเมืองของเค้า ชีวิตเค้าก็ต้องดูแลรับผิดชอบกันเอง เลยตัดสินใจว่าจะไม่รอละ
ขอลงมือ เค้าเลยจัดขบวนชวนครอบครัว เพื่อน และคนรู้จัก มาทาสีทางม้าลายให้เห็นชัดและสดใสเป็นกุศโลบายให้ผู้ขับขี่รถและมอเตอร์ไซค์ต้องชะลอและใช้ความระมัดระวัง และเป็นสัญลักษณ์ของการเอาความเป็นเจ้าของเมือง กลับมาอยู่ในมือประชาชนผ่านการมีส่วนร่วมเปลี่ยนเมือง
... จากหนึ่งแยก สู่สอง สามไล่ไปเรื่อยๆ มีกลุ่มเยาวชน กลุ่มพลเมือง และสื่อมวลชนให้ความสนใจ ทำตามจนกลายเป็น civic movement ที่สร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนคนเดินถนน และทำให้พลเมืองของโบโกต้าเริ่มตื่นตัวกับการเข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องอื่นที่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลง
Cebras por la Vida (Crosswalks for Life ในภาษาอังกฤษ) ได้รับรางวัล 2014 Urban Sustainability Award ที่งาน World Urban Forum และรางวัล 2015 Walking Visionaries ที่งาน Walk21 Conference
ณ วันที่เล่า การเคลื่อนไหวทางสังคมนี้ (civic movement) ได้ขยายจากเมืองโบโกต้า ไปยังอีกหลายเมืองในประเทศโคลอมเบีย และเม็กซิโก ฟังอย่างโคตรอินใกล้จบแล้ว ผู้ดำเนินรายการเปิดให้ถามคำถาม
เลยเพิ่งรู้ว่าวิทยากรชื่อเฮอร์มัน ซึ่งจุดประกายความทรงจำทันทีว่าผู้ชายคนนี้เป็นเพื่อนสมัยเรียนปริญญาโทนโยบายสาธารณะมาด้วยกันที่อเมริกา จบงานเลยได้พูดคุยอัพเดทชีวิตกันเพราะจำได้ว่าเฮอร์มันเป็นข้าราชการของรัฐบาลโคลอมเบียที่รักงานตัวเองมาก สมัยเรียนมักจะถามคำถามเยอะในวิชานโยบายสังคมและเศรษฐกิจ
เฮอร์มันเล่าเรื่องชีวิตซึ่งคล้ายๆ ทำงานในภาครัฐเมืองไทยเหมือนกันว่าการขับเคลื่อนจากภายในไปได้ช้า บางทีนโยบายออกได้แต่การผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เปลี่ยนกระดาษเป็นผลลัพธ์ไม่ง่าย
การที่เฮอร์มันออกมาทำงานขับเคลื่อน movement นี้เต็มตัวก็ทำให้เค้าเองได้เห็นจุดคานงัด (lever point) ใหม่ในการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ และมีทุนทางสังคมใช้ต่อรองกับอำนาจรัฐ
ตั้งแต่มี Movement นี้ ประชาชนพลเมืองโบโกต้าก็ออกมามีส่วนร่วมและส่งเสียงร่วมกันต่อคุณภาพชีวิตด้านต่างๆของเมืองมากขึ้น ซึ่งทำให้รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐนิ่งเฉยต่อ collective action & collective voice ของประชาชนไม่ได้
หลายอย่างที่เคยอยากเปลี่ยนมานานก็เกิดเร็วขึ้น และเฮอร์มันเองตอนหลังก็เป็นที่ปรึกษาของนายกเทศมนตรีเมืองเพื่อเป็นตัวแทนจากภาคประชาชนทำงานขับเคลื่อนเมืองไปพร้อมกับกลไกภาครัฐอีกด้วย
การได้ฟังเรื่องของเฮอร์มันทำให้ปีถัดมาตอนที่ เทใจ ซึ่งเป็น civic crowdfunding platform ที่เอด้าร่วมก่อตั้งเมื่อหลายปีก่อน ต้องการเติบโตในโครงสร้างใหม่เป็นธุรกิจเพื่อสังคมและต้องมี CEO
เอด้าไม่ลังเลเลยที่จะกลับมาสู่สนามนักลงมืออีกครั้ง เพียงแต่รอบนี้ขับเคลื่อนผ่านภาคประชาชนด้วยการเป็นเครื่องมือระดมเงินบริจาคให้พลเมืองได้ทำโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม
impact แยกดูรายโครงการอาจจะเล็กน้อยจุ๋มจิ๋ม แต่ความยิ่งใหญ่และพลังที่ต่อยอดได้คือการมีส่วนร่วมของประชาชน และการใช้ศักยภาพความเป็นพลเมืองในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ซึ่งบนแพลตฟอร์มเทใจเองก็มีเคสที่การเริ่มลงมือของประชาชนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับนโยบายแล้วด้วย
คุณหมอเขตต์ ศรีประทักษ์ แพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักการแพทย์เขตสุขภาพที่ 6 (ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด) และคุณหมอมกร ลิ้มอุดมพร ประสาทแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี
เห็นว่าในพื้นที่มีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบอุดตัน (Ischemic stroke) ที่มีโอกาสหาย ไม่ต้องพิการทั้งอัมพฤกษ์และอัมพาต ถ้าได้รับการส่งตัวเข้ากรุงเทพฯเพื่อรักษาต่อด้วยวิธีใส่สายสวนลากลิ่มเลือดสมอง (Cerebral Thrombectomy) ซึ่งอยู่นอกเหนือสิทธิบัตรทองและประกันสังคม แต่ผู้ป่วยหลายรายปฏิเสธการรักษาต่อเนื่องจากไม่สามารถจ่ายค่ารักษาเพิ่มเติมได้
คุณหมอทั้งสองท่านจึงได้ริเริ่มตั้ง กองทุนรักษาโรคลิ่มเลือดสมองอุดตัน ในปี 2561 เพื่อออกค่าใช้จ่ายส่วนต่างนี้ให้กับผู้ป่วย ทำให้ระบบการส่งต่อผู้ป่วย และการรักษาด้วยวิธีใส่สายสวนลากลิ่มเลือดสมองในพื้นที่เขตบริการสุขภาพที่ 6 ดำเนินไปได้อย่างครบวงจร ลดอัตราการเสียชีวิตและกรณีที่ผู้ป่วยต้องพิการ
โดยระดมเงินบริจาคผ่านเทใจเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีความน่าเชื่อถือ และเป็นกลไกกลางที่จ่ายเงินแทนผู้ป่วย ซึ่งตลอดระยะเวลาดำเนินการกว่าสามปี ระดมทุนได้ 1,188,453 บาท จากผู้บริจาค 696 คน สามารถช่วยเหลือค่ารักษาที่อยู่นอกเหนือสิทธิประกันสุขภาพให้กับผู้ป่วยได้ทั้งหมด 12 ราย
ซึ่งผลการรักษาของผู้ป่วยจากโครงการนี้ เป็นข้อมูลที่ชี้ให้เห็นได้ชัดว่า หากไม่มีการติดขัดเรื่องเงินค่ารักษาแล้ว ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้ทันท่วงทีด้วยระบบที่พร้อมรองรับการส่งต่อ ผลการรักษามีประสิทธิภาพสูงมาก
ทำให้เขตบริการสุขภาพอื่นๆ ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติตาม และกรมการแพทย์มีข้อมูลเพียงพอในการนำเสนอนโยบายให้การสวนหลอดเลือดสมองไปอยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพ
ความสำเร็จจากการลงมือขับเคลื่อนเองจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบาย ขยายผลให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิรักษาด้วยวิธีนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น
คุณหมอมกร ลิ้มอุดมพร ซึ่งเป็นประธาน service plan สาขาโรคหลอดเลือดสมองเขตบริการสุขภาพที่ 6 และผู้รับผิดชอบโครงการกองทุนรักษาโรคลิ่มเลือดสมองอุดตัน
ยังคงสานต่อปณิธานที่จะเพิ่มความเท่าเทียมในการเข้าถึงการรักษาในพื้นที่ห่างไกลให้มากขึ้น ทั้งการลดข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยเฮลิคอปเตอร์ และการเพิ่มจำนวนห้องผ่าตัดและเครื่องมือ รวมถึงบุคลากรเพื่อการรักษาด้วยวิธีใส่สายสวนลากลิ่มเลือดสมองในทุกๆ เขตบริการสุขภาพ
หวังว่าสองเรื่องราวจากสองกลุ่มพลเมืองในสองมุมของโลก เปิดพื้นที่และโอกาสใหม่ให้ผู้อ่านได้เลือกใช้อำนาจการเป็นพลเมืองสร้างสังคมแบบที่เราอยากอยู่ เริ่มจากการลงมือของเราค่ะ
คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
เอด้า จิรไพศาลกุล
- กรรมการมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
- CEO เทใจดอทคอม
- อาจารย์ประจำ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์