'UN GCNT' เผย 5 ความท้าทาย 'ซีอีโอ' เปลี่ยนผ่านธุรกิจ สู่สังคมคาร์บอนต่ำ
สัญญาณเตือนถึงความท้าทายด้าน 'ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ' ทำให้ซีอีโอระดับโลก ต้องเลือกประยุกต์กลยุทธ์ความยั่งยืน มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่ออนาคตที่มั่นคง หรือยอมรับผลกระทบที่จะตามมา
Key Point :
- ทิศทางสู่สังคมคาร์บอนต่ำที่แต่ละประเทศปักหมุด นับเป็นความท้าทายที่เหล่าซีอีโอทั่วโลกต้องเผชิญ ในการหากลยุทธ์เพื่อเดินหน้าสู่ความยั่งยืน
- ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เราไม่อาจมองเพียงเรื่องของ Mitigation แต่ต้อง Adaptation ด้วย
- ขณะเดียวกัน SDGs Mega Trends 2023 ยังมุ่งเน้นไปยังความหลากหลายทางชีวภาพ การเงินยั่งยืน การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน Green Job และ การเปลี่ยนผ่านพลังงานและนวัตกรรม
จากสัญญาณเตือนถึงความท้าทายระดับโลก ปัจจุบัน สิ่งที่ซีอีโอต้องเลือก คือการประยุกต์กลยุทธ์ความยั่งยืนเพื่ออนาคตที่มั่นคง หรือยอมรับผลกระทบที่จะตามมา จากการไม่ลงมือทำอะไร ยิ่งไปกว่านั้น วาระความยั่งยืนระดับโลกที่ไม่เป็นไปตามแผน ยังส่งผลให้เกิดความท้าทายเพิ่มขึ้นมาก จนเกินขอบเขตที่ธุรกิจทั่วไปจะสามารถควบคุมได้ และกำลังบังคับให้ CEOs ทั่วโลกต้องรับมือความไม่แน่นอนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 ดร.ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการ UN Global Compact Network Thailand กล่าวในหัวข้อ Go Green : Global Overview เวทีสัมมนา Go Green 2023 : Business Goal to the Next Era จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ โดยระบุว่า ทิศทางสู่สังคมคาร์บอนต่ำของประเทศไทยเป็นไปตามกระแสโลก ไม่เพียงภาครัฐ เอกชน แต่ประชาสังคมคนทั่วไปก็ให้ความสำคัญ แต่สิ่งหนึ่งที่ยังขาด คือ การเห็นชอบ เห็นร่วม และทำไปด้วยกัน หากเป็นไปได้ ไม่ต้องนับว่าใครเป็นคนกำหนดทิศทาง แต่จินตนาการไปด้วยกันว่า เรามีสิ่งแวดล้อมที่ดีไปกว่านี้ได้หรือไม่ในอีก 10-20 ปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
5 ประเด็นท้าทายสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
ที่ผ่านมา ได้มีการสำรวจวิสัยทัศน์ มุมมอง และความเห็นของซีอีโอทั่วโลกถึงกุญแจสำคัญของธุรกิจ เพื่อปลดล็อคสู่การฟื้นตัวและสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน นับเป็นการสำรวจความคิดเห็นของผู้นำธุรกิจทั่วโลกเกี่ยวกับความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดและต่อเนื่องที่สุดครั้งหนึ่งของโลก จากซีอีโอมากกว่า 2,600 คน จาก 18 อุตสาหกรรมใน 128 ประเทศ จากการสำรวจครั้งนี้ ตอกย้ำว่า 'ความยั่งยืน' ยังคงเป็นกุญแจดอกสำคัญของภาคธุรกิจ ที่จะใช้ปลดล็อคสู่การฟื้นตัว และสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน โดยพบว่า ร้อยละ 93 ของซีอีโอ กำลังเผชิญกับความท้าทายระดับโลกมากกว่า 10 ประเด็น โดยความท้าทายสูงสุด 5 ประเด็นแรก ได้แก่
1.เงินเฟ้อและความผันผวนของราคา แต่หากเราทำกิจกรรมด้านความยั่งยืนตั้งแต่แรก จะลดต้นทุนการใช้วัตถุดิบ ไม่ห่วงเรื่องราคาที่สวิง
2.บุคลากรขาดความรู้ความสามารถและทักษะที่จำเป็น การทำเรื่องความยั่งยืนไม่ต้องการคนที่เก่ง แต่ต้องการคนคิดเป็นและรู้ว่าตัวเองต้องปรับเปลี่ยนทักษะอย่างไร ของที่มีในอดีตใช้ไม่ได้แล้ว หากเราทำอุตสาหกรรมแบบเดิมๆ ต้องถอดตัวเองและเป็นคนใหม่ อัพสกีลใหม่
3.ภัยคุกคามที่มีต่อสุขภาพ ไม่ใช่แค่อากาศ แต่มลพิษด้านอื่นๆ กำลังคืบคลานเข้ามา บางคนอาจจะไม่รู้ว่าทะเลหรือมหาสมุทรในโลกมีความเป็นกรดสูงขึ้นเรื่อยๆ และในวันที่มีความเป็นกรดจนถึงจุดที่ไม่สามารถกลับไปเป็นสภาพบรรยากาศได้ หญ้าทะเล อาหารทะเลจะหมดไป เกิดการสูญพันธุ์ของสัตว์ทะเล และส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ได้
4.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยอาจจะคุยเรื่อง Mitigation เยอะ แต่สิ่งที่เราลืมไป คือ Adaptation เช่น ปรับตัวในการปลูกพืชพันธุ์ทางการเกษตรให้ทันต่อโลกรวน
5.ข้อกำหนดและกฎระเบียบทางการค้า Carbon Tax จะมาหรือไม่ หากมาในอนาคตประเทศไทยจะได้รับผลตอบแทนที่ดีหรือใครบ้างจะเป็นผู้สูญเสีย หากเป็น SME เตรียมตัวไว้เลยว่าปลายทางไม่เกิน 3 ปีข้างหน้าจะมีการคำนวณคาร์บอนจากสินค้าแน่นอน หากไม่ขายสินค้าต่างประเทศก็จะเหลือเฉพาะบ้านใกล้เรือนเคียงที่ยอมซื้อของที่มีคาร์บอนสูง
5 เทรนด์สู่ความยั่งยืนระดับโลก 2023
ขณะเดียวกัน “SDGs Mega Trends 2023” ในปีนี้ มุ่งเน้นไปที่แนวโน้มสำคัญด้านความยั่งยืนที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ได้แก่
1. ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ต้องเร่งฟื้นฟู
ความอุดมสมบูรณ์ของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ เป็นต้นทุนที่มีคุณค่าและมูลค่า เพราะเป็นปัจจัย
ตั้งต้นของการมีวัตถุดิบที่หลากหลาย สำหรับการผลิตและต่อยอดเป็นสินค้าและบริการมากมาย จึงถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่ต้องการสรรพกำลังในการปกป้อง ดูแล และฟื้นฟู
2. การเงินที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) หัวใจขับเคลื่อนเศรษฐกิจยั่งยืน ภาคการเงิน คือตัวกลางในการจัดสรรเงินทุนในระบบ จึงเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนการลงทุนที่มอบคุณค่า ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาลและมูลค่าจากการประกอบการ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับธุรกิจ ควบคู่ไปกับสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลก
3. การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) บริหารรอบด้าน
เพื่อความยั่งยืนทั้งระบบการทำธุรกิจวันนี้ เปลี่ยนจากรูปแบบเดิมที่เน้นการแข่งขันเชิงปริมาณไปสู่การร่วมมือกันและแบ่งปันความรู้เชิงคุณค่า โดยอาศัยการมีส่วนร่วมทั้งห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนและออกแบบธุรกิจยั่งยืน ให้อยู่ในรูปแบบของเศรษฐกิจหมุนเวียน
4. งานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Job) เทรนด์มาแรงของโลกการทำงานยุคใหม่
งานที่มีส่วนช่วยอนุรักษ์หรือฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นและมีบทบาทสำคัญมากขึ้น เห็นได้ชัดจากการเพิ่มขึ้นของธุรกิจสีเขียวและการที่รัฐบาลไทยพยายามสนับสนุนให้เกิดตำแหน่งงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมผ่านนโยบายต่างๆ
5. การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและนวัตกรรม การลงทุนวันนี้ เพื่อความยั่งยืนวันหน้า
ทิศทางของโลกที่เปลี่ยนไป คือโอกาสใหม่ๆของการลงทุน หนึ่งในนั้น คือ การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนในระดับองค์กร ที่ต้องอาศัยเงินลงทุนจำนวนมาก ซึ่งจะสร้างผลตอบแทนให้เก็บเกี่ยวต่อไปในระยะยาว