ลด 'คาร์บอน' ตลอดซัพพลายเชน รับมาตรการ CBAM สู่เป้า Go Green
มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ CBAM ทำให้ผู้ที่ต้องการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังยุโรปต้องปรับตัว สิ่งหนึ่งก็คือ ทำฐานข้อมูล Carbon Footprint of Product จัดการทั้งซัพพลายเชน เพื่อให้เป็นไปตามที่มาตรการกำหนด
เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2566 “รองเพชร บุญช่วยดี” รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ในช่วงเสวนา Go Green : นโยบายรัฐ เวทีสัมมนา Go Green 2023 : Business Goal to the Next Era จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ถึงมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป โดยมองว่าเป็นมาตรการปรับสินค้าที่นำเข้าโดยเปรียบเทียบกับ Carbon emission ของสินค้าประเภทเดียวกันที่อยู่ในยุโรป
"หากเข้าใจง่ายๆ คือ หากอยากขายต้องทำสินค้าที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับเขา สิ่งที่ต้องเตรียม คือ ฐานข้อมูล จัดการทั้งซัพพลายเชน เพราะ Carbon emission เกิดตั้งแต่แหล่งผลิตไปจนออกมาเป็นสินค้า สิ่งหนึ่งก็คือ ทำฐานข้อมูลเรื่อง Carbon emission หรือ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product) เพื่อให้รู้ว่าจะสามารถบริหารจัดการได้อย่างไร โดยทาง อบก. ได้เตรียมข้อมูลกับสินค้าหลายประเภทที่ต้องควบคุม เช่น ซีเมนต์ เหล็ก เป็นต้น"
“สินค้าที่มาขอ Carbon Footprint of Product อาจไม่ได้มองเรื่องภาษี และเป็นการประกาศตัวเองว่าได้ลดการปล่อยมลพิษของสินค้าที่ผลิตลงเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน ในส่วนของภาษี ประเทศพัฒนาแล้วที่มีการจัดเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งบางประเทศสูงมากในระดับ 120 เหรียญดอลลาร์ต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น สวีเดน ดังนั้น การปรับโครงสร้างการเก็บภาษีเป็นการ Fade out เทคโนโลยีเก่าๆ ออกไป”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
การลด Emission ถือเป็น Benefit
ทั้งนี้ การจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ สีเขียว ความยั่งยืนสูง สีเหลือง อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน และสีแดง อาจจะเป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องถอยออกไป
รองเพชร มองว่า อุตสาหกรรมที่อาจจะต้อง Fade out ในกลุ่มสีแดง คือ พลังงานและขนส่ง เพราะเซกเตอร์ต้นทางของทุกอย่าง คือ พลังงาน โรงไฟฟ้าอาจจะต้องมีระบบ CCS พ่วงด้วยหรือไม่ หากมองเรื่องของ Carbon emission หรือ Carbon Pricing การปล่อย Emission ถือเป็นต้นทุน การลด Emission ถือเป็น Benefit เป็นรูปแบบการบริหารจัดการธุรกิจรูปแบบหนึ่ง
ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนรูปแบบการคำนวณภาษี ไม่ทำให้ต้นทุนภาษีเพิ่มขึ้น และอาจทำให้ภาษีเชื้อเพลิงบางตัวลดลง เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ หรือ Biofuel ขึ้นกับมุมมองว่ามาตรการทางภาษีจะมาช่วยสร้างศักยภาพทางการแข่งขันของเอกชนอย่างไร อยากให้มาตรการทางภาษีเป็นการส่งเสริมด้านศักยภาพ มากกว่าเป็นมาตรการที่ไปบริหารจัดการควบคุมคาร์บอน
ความท้าทายสู่เป้าหมาย Go Green
ท้ายนี้ รองเพชร กล่าวถึง ความท้าทายที่จะนำไปสู่เป้าหมาย Go Green หรือ อาจจะต้องใช้คำว่า Goals Green คือ กฎระเบียบ จะเข้าถึงเรื่องของพลังงานสะอาดได้อย่างไร ลดความเหลื่อมล้ำ ความเท่าเทียม ไม่เช่นนั้นก็จะต้องใช้พลังงานตามที่จัดสรร ดังนั้น แนวทางอาจจะต้องใช้พื้นที่ เช่น พื้นที่เศรษฐกิจอย่างอีอีซีให้เข้าถึงพลังงานสะอาดได้โดยตรง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกแข่งขันได้จริง
ขณะเดียวกัน การมีส่วนร่วมของประชาชน สิ่งสำคัญ คือ Mindset และการประชาสัมพันธ์ว่าทำไมเราถึงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราจะอยู่รอดอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ต้องทำ คือ การปรับตัว เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางที่เราจะอยู่รอดให้ได้