เอกชน-ภาคประชาชน เดินหน้าต่อชงแก้มาตรา 32 ปลดล็อกน้ำเมา โฆษณาได้

เอกชน-ภาคประชาชน เดินหน้าต่อชงแก้มาตรา 32  ปลดล็อกน้ำเมา โฆษณาได้

ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นสุราขาว สุราสี ไวน์ เบียร์ ฯ มีมูลค่ารวมกัน “หลายแสนล้านบาท” ทว่า การเติบโตกลับถูกจำกัดจากกฎหมาย เนื่องจากถูกตีตราเป็นสินค้าบาป แม้จะมีการเสียภาษีให้กับภาครัฐประมาณ 1.5 แสนล้านบาทต่อปี ก็ถูกเรียกว่า “ภาษีบาป” ไปโดยปริยาย

หนึ่งในกฎหมายสำคัญที่ค่อนข้างสร้างผลกระทบแก่ผู้ประกอบการ รวมถึงผู้บริโภค คือ “มาตรา 32” ของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์(พ.ร.บ.) ที่ว่าด้วยเรื่องการโฆษณา ทำให้เมื่อเร็วๆนี้ วงคุยคณะกรรมาธิการ(กมธ.)แก้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฝั่งประชาชน ผู้ประกอบการ โดยสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบธุรกิจคราฟท์เบียร์ (สมาคมคราฟท์เบียร์) ได้อัพเดทการเดินหน้ายกเครื่องกฎหมาย ที่มีการบ่งชี้มาตรา 32 คุมโฆษณานั้น “สุดโต่งไม่แก้ปัญหา ล้าสมัย ไม่สมดุล” ผ่านการเสวนา “32 Civilized, No More Total Ban: ยกเครื่องกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สู่สังคมที่ดีกว่า”

สำหรับร่างพระราชบัญญัติร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ..... ขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สภาผู้แทนราษฎร

ปลดล็อกเวลาห้ามขาย สถานที่ห้ามดื่ม และการโฆษณา

เขมิกา รัตนกุล นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย และคณะกรรมาธิการฯ ฉายภาพว่า การประชุมคณะกรรมาธิการฯ เพื่อยกร่างพระราชบัญญัติจาก 5 ร่างฯ ที่สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการ โดยยึดเอาร่างฯ ของคณะรัฐมนตรีเป็นหลัก ดำเนินการแล้ว 30 ครั้ง ใช้เวลากว่า 200 ชั่วโมง(ชม.) นับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การพิจารณาเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากต้องใช้เวลาหารือ ถกเถียง และทำความเข้าใจถึงข้อมูล เหตุผลความจำเป็น และข้อเสนอของแต่ละร่าง อย่างรอบคอบก่อนจะมีมติร่วมกัน ซึ่ง 5 ร่างฯ ดังกล่าว ผู้ประกอบการและประชาชน ฝ่ายรณรงค์ พรรคการเมือง และรัฐบาลเป็นผู้เสนอ มีจุดยืนและหลักการที่แตกต่างกันมาก โดยเฉพาะการควบคุมการโฆษณาและสื่อสารการตลาด ซึ่งตั้งอยู่บนรากฐานความไม่ไว้วางใจผู้ประกอบการและวุฒิภาวะของผู้บริโภค

อย่างไรก็ดี คณะกรรมาธิการฯ มุ่งมั่นที่จะทำให้พระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นกฎหมายแห่งอนาคต เป็นกฎหมายของส่วนรวมที่ประชาชนมีส่วนร่วมและให้การยอมรับ ปฏิบัติได้ สร้างสมดุลกับนโยบายอื่นของรัฐ และมีประสิทธิภาพในการคุ้มครองสุขภาวะของประชาชน โดยไม่สร้างอุปสรรคหรือภาระแก่ผู้ประกอบการจนเกินสมควร รัฐเองต้องเร่งสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้ประชาชนมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับโทษภัยของการดื่มที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะการดื่มจนขาดสติ เมาแล้วขับ และการดื่มก่อนวัยอันควร

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่คณะกรรมาธิการฯ เห็นชอบร่วมกันในหลักการ มีดังนี้ 1.การยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 ซึ่งใช้มานานกว่า 51 ปี ที่กำหนดเวลาห้ามขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, 2.การเพิ่มโทษแก่ผู้ขายที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์และผู้ที่เมาจนครองสติไม่ได้ 3.การปลดล็อคสถานที่ห้ามดื่มและขายบางสถานที่เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว และที่สำคัญสุดคือ 4.การเปลี่ยนผ่านมาตรการการควบคุมการโฆษณาจากลักษณะ near total ban หรือห้ามเกือบเด็ดขาด เป็นการผ่อนคลายมากขึ้นในลักษณะ partial ban หรือห้ามเป็นบางส่วน โดยการให้ข้อเท็จจริงของผลิตภัณฑ์สามารถกระทำได้ แต่จะปลดล็อกมากน้อยเพียงใดยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา

เห็นพ้องทีดีอาร์ไอ แก้มาตรา 32 ให้โฆษณาได้

ขณะที่การรับผิดชอบต่อสังคมเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะการปกป้องและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยง่าย ทว่า มาตรการที่เข้มข้นจนเกินจำเป็นของรัฐในปัจจุบันแก้ไม่ตรงจุด สัดส่วนการดื่มของกลุ่มเด็กและเยาวชนไม่ได้ลดลง จึงเห็นพ้องข้อเสนอของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในประเด็นแก้ไขมาตรา 32 ให้ผู้ประกอบการโฆษณาได้ โดยให้ข้อเท็จจริงมิใช่อวดอ้างสรรพคุณ ต้องกำหนดขอบเขตเนื้อหาที่สามารถโฆษณาได้ และต้องไม่มุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี

นอกจากนี้ การเพิ่มบทลงโทษผู้ประกอบการที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และผู้ที่มึนเมาจนขาดสติ ซึ่งปัจจุบันมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ในขณะที่การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท รวมถึงเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ผู้ซื้ออายุต่ำกว่า 20 ปี โดยการมีส่วนร่วมของชุมขน

“เราตระหนักถึงความห่วงใยของสังคมที่มีต่อกลุ่มเด็กและเยาวชน ดังนั้นจำเป็นต้องยกเครื่องมาตรการทางกฎหมายโดยมองไปในอนาคตและเล็งผลสัมฤทธิ์ในการแก้ไขและป้องกันปัญหาอย่างยั่งยืน มีความชัดเจน ปฏิบัติได้ ลดการใช้ดุลยพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ ก่อให้เกิดความสมดุลทั้งด้านสังคม สาธารณสุข และเศรษฐกิจ”

เอกชนนิยาม พ.ร.บ.ต้านเหล้า

ด้าน น.ส.ประภาวี เหมทัศน์ เลขาธิการสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจคราฟท์เบียร์ (สมาคมคราฟท์เบียร์) และโฆษกคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า มาตรา 32 ของกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับปัจจุบันบัญญัติไว้กว้างๆ โดยไม่ได้กำหนดรายละเอียดข้อห้ามการโฆษณาว่าสิ่งได้ทำได้หรือไม่ได้ไว้อย่างชัดเจน ประชาชนและผู้ประกอบการไม่สามารถปฏิบัติได้ถูกต้อง ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจในการตีความอย่างกว้างขวางว่าการกระทำใดเป็นความผิดหรือไม่ กำหนดโทษอาญา โทษจำคุก และโทษปรับที่สูงไม่ได้สัดส่วนกับลักษณะการกระทำผิด

นอกจากนี้ การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ยังลิดรอนสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อของผู้บริโภค อีกด้านสร้างอุปสรรคในการทำธุรกิจสุจริต และอาชีพของผู้ประกอบการรายเล็กและผู้ผลิตในชุมชน ผู้ประกอบการรายใหม่ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ เพราะไม่สามารถแนะนำหรือให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์เพื่อทำให้ผู้บริโภครู้จัก รัฐยังออกมาตรการห้ามขายทางช่องทางออนไลน์ ซ้ำเติมผู้ประกอบการและทำร้ายอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างแท้จริง หรืออีกนัยคือส่งเสริมการผูกขาดโดยผู้เล่นเพียงไม่กี่ราย ย้อนแย้งนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการผลิตสุราชุมชน การสร้างความเข้มแข็งศรษฐกิจฐานราก

ที่ผ่านมา ยังมีประเด็นประชาชนธรรมดาถูกดำเนินคดีจำนวนมาก จากการโพสต์โดยรู้เท่าไม่ถึงการในสื่อสังคมออนไลน์หรือ Social Media แม้จะไม่ได้ชักจูงหรือเพื่อประโยชน์ทางการค้า ทำให้ผู้ประกอบการรวมตัวต่อสู้ เริ่มจากการขอแก้ไขมาตรา 32 ก่อนที่จะขอให้ทบทวนมาตราที่สร้างความเดือดร้อนเกินจำเป็นอื่น เช่น เวลาและสถานที่ดื่มและขาย

“เราเรียกกฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบันว่าพ.ร.บ.ต้านเหล้า กฎหมายนี้มุ่งเน้นกำจัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งสร้างรายได้ภาษีสรรพสามิตกว่า 1.5 แสนล้านต่อปี ไม่รวมภาษี earmarked หรือภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ ภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) อีกหลายหมื่นล้าน อย่างไรก็ตาม การมีส่วนร่วมในการยกร่างกฎหมายให้มีความสมดุล โปร่งใส ปฏิบัติได้ เพื่อเห็นมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สมเหตุสมผลและมีประสิทธิผลอย่างแท้จริง คาดหวังว่าความพยายามจะสะท้อนออกมาเป็นรูปธรรมในพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ ที่จะแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฉบับปัจจุบันให้ก้าวหน้า เหมาะสมกับสังคมและเศรษฐกิจทั้งปัจจุบันและอนาคต และสร้างความเป็นธรรมเท่าเทียม”

มาตรา 32 โทษแรง!!

ผศ.ดร.เจริญ เจริญชัย นักวิซาการด้านเทคโนโลยีอาหารและเครื่องดื่ม ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ... รองประธานคณะกรรมาธิการฯ รวมถึงเป็นแอดมินเว็บไซต์และเพจเฟสบุ๊คสุราไทย กล่าวว่า กฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์สร้างอุปสรรคในการทำมาหากินหรือสร้างสรรค์สินค้าที่มีคุณภาพ และภายใต้กฎหมายดังกล่าว การให้ข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความสุ่มเสี่ยงจะถูกดำเนินคดี แม้แต่การโพสต์ภาพหรือพูดถึงโดยไม่ได้ชักจูงหรือโฆษณาเพื่อประโยชน์ทางการค้าก็ยังถูกจับ ปรับ ในอัตราโทษที่สูง หากไม่ยอมจ่ายค่าปรับอาจต้องไปสู้คดีความในศาล อีกมิติอาจมีแรงจูงใจในการดำเนินการบังคับกฎหมายที่เข้มข้นมาจากสินบนรางวัลที่สูงถึง 60-80% ของค่าปรับหรือไม่

อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และมาตรการต่างๆ ที่ออกตามมา ไม่ได้ช่วยลดปัญหาเมาแล้วขับ หรือป้องกันการเข้าถึงแอลกอฮอล์ของผู้เยาว์อย่างถูกที่ถูกทาง

ด้านนายอาทิตย์ ศิวะหรรษาพันธ์ ตัวแทนภาคประชาชน และทำเพจคราฟต์เบียร์ ซึ่งเคยนำเสนอเกี่ยวกับสุนทรียศาสตร์ส่วนตัวเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บอกเล่ารสชาติ ข้อเท็จจริงของผลิตภัณฑ์ ซึ่งมองว่าเป้นสิทธิเสรีภาพของตนเอง แต่กลับถูกหมายเรียกเมื่อปี 2562 และดำเนินคดีอาญา ตามความผิดมาตรา 32 โดยมีโทษปรับ 5 หมื่นบาท ซึ่งตนไม่จ่าย เนื่องจากมองว่าการจ่ายเงินค่าปรับไม่ได้เข้ารัฐ และยังมีส่วนแบ่งสินบนรางวัลนำจับ 80% เข้าหน่วยงานเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ทั้งนี้ การตัดสินใจสู้คดี กลายเป็นบทเรียนสำคัญ เนื่องจากปี 2565 ศาลชั้นต้น และศาลอุธรณ์มีคำพิพากษาให้แพ้และต้องจ่ายค่าปรับ 2.5 แสนบาท หรือจำคุก 8 เดือน แต่เนื่องจากผิดครั้งแรก จึงลดโทษให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 1.5 แสนบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการชดใช้ค่าปรับ

นายอาทิตย์ ระบุว่า ความผิดที่เกิดขึ้นของตนเอง เมื่อเปรียบกับโทษเมาแล้วขับ กลับโดนปรับเพียง 6 หมื่นบาท ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ ทำให้เกิความสุญเสียได้ ขณะที่ตนเขียนบรรยายเกี่ยวกับรสชาติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นสุนทรยภาพส่วนตัว กลับกลายเป็นความผิดร้ายแรงมาก และเป็นอาญากร ซึ่งเมื่อต้องการเดินทางออกนอกประเทศที่ต้องขอวีซ่า จะต้องให้ทนายยื่นคำร้อง ขออนุญาตศาล รายงานว่าไปไหน ทำอะไร ฯ เพื่อนำเอกสารไปยื่นยังกองบังคับการตรวจคนเข้าเมืองที่แจ้งวัฒนะ

“โทษจากมาตรา 32 ภายใต้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ มีความรุนแรงมาก ที่ผ่านมาผมต่อสู้คนเดียวเพื่อพิสูจน์การมีสิทธิ เสรีภาพด้านสุนทรียศาสตร์เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของตนเอง ขณะที่ส่วนใหญ่ 95% เลือกจะเสียค่าปรับ เพื่อให้เรื่องสิ้นสุด ไม่ต้องเสียเวลา และเป็นอาชญากร”