โลกยุคโลภาภิวัฒน์ จุดเปลี่ยน “ไทยเบฟ” ลงทุนฟาร์มโคนมมาเลเซีย 8,000 ล้านบาท
เกาะรอย “ไทยเบฟ” ลงทุนฟาร์มโคนมในมาเลเซีย เสริมแกร่งความมั่นคงด้านอาหาร - สอดรับยุทธศาสตร์ความความยั่งยืน พร้อมร่วมมือผนึกบิ๊กคอร์ป เคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากไทยแข็งแกร่ง
สำรวจโจทย์หินของธุรกิจไทยในปี 2567 ที่ต้องนำพาองค์กรเติบโต ท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมในโลกมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและคู่แข่งที่มีมากขึ้น ทำให้การกระจายความเสี่ยงของธุรกิจและการมองโอกาสใหม่ ร่วมถึงการมีพาร์ทเนอร์มีความสำคัญเสมอ
ทำในตลอดปีนี้จึงเห็นภาคเอกชนไทยรายใหญ่ ขยายการลงทุนไปในน่านน้ำธุรกิจใหม่ๆ รวมถึงไทยเบฟ ที่เชี่ยวชาญด้านธุรกิจเครื่องดื่มทั้งนอนแอลกอฮอล์และแอลกอฮอล์ ได้ประกาศแผนลงทุนครั้งใหญ่สู่ "ฟาร์มโคนมในมาเลเซีย" วงเงิน 8,000 ล้านบาท รวมถึงอีกบทบาทคือ การร่วมมือบิ๊กคอร์ป เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทยให้แข็งแกร่ง
“ฐาปน สิริวัฒนภักดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวในงาน เสวนาวิชาการ “เปลี่ยนใหญ่ประเทศไทย” ว่า ไทยเบฟ ได้ติดตามสถานการณ์โลกภายหลังโควิด ที่มีการปรับเปลี่ยนไปทั้งหมด หรือ เรียกว่า “โลกในยุคโลกาภิวัฒน์” ทำให้บริษัทย่อยของกลุ่ม ได้มีการขยายเข้าไปลงทุนฟาร์มโคนมในประเทศมาเลเซีย
“ผมได้รับหน้าที่ในการมองโอกาสใหม่ในการลงทุนของบริษัท ในช่วงโควิด ทำให้สนใจต่อยอดธุรกิจไปสู่การทำฟาร์มโคนมในประเทศมาเลเซีย”
ฟาร์มโคนมต่อยอดความมั่นคงทางอาหาร
ทั้งนี้อยู่ภายใต้โครงการ "อะกริ วัลเลย์ : Agri Valley Farm" ในมาเลเซีย มาจากการมอง โลกทุกส่วนต่างเชื่อมโยงและต่างให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของอาหาร (ฟู้ดซีเคียวริตี้) มากขึ้น รวมถึงบริบทในเรื่องการค้าเสรี (อินเตอร์เนชั่นแนลฟรีเทรด) อาจเปลี่ยนแปลงไป เพราะหากเกิดปัญหาดิสรัปชัน หรือมีการปิดกั้นการค้าระหว่างประเทศขึ้นมา อาจมีผลกระทบต่อซัพพลายเชนในแต่ละประเทศได้ทั้งหมด
ดังนั้นการขยายมาสู่ธุรกิจนี้ จึงทำให้บริษัทสามารถส่งมอบสินค้าต่างๆ ไปยังซัพพลายเชนได้ และมีสินค้าที่จำเป็นต้องการดำรงชีวิตต่อเนื่อง โดยมิติเหล่านี้เกี่ยวเนื่องกัน "ด้านมั่นคง" ที่มีความสำคัญอย่างมาก ทั้งหมดจึงเป็นอีกแนวทาง พร้อมรับมือทุกสถานการณ์ในยุคที่ทุกอย่างมีการปรับเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม หากไปสำรวจกลุ่ม ไทยเบฟ ที่ทำธุรกิจในมาเลเซียคือ มีบริษัท "เอฟแอนด์เอ็น" ที่เป็นผู้เล่นใหญ่ของธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีตลาดหลักในประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์ พร้อมมีแบรนด์ในพอร์ตโฟลิที่หลากหลาย ดังนั้นการต่อยอดธุรกิจฟาร์มโคนม จึงสอดรับแผนการเป็นผู้นำในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในภูมิภาคนี้
นอกจากการลงทุนใหญ่ของไทยเบฟเพื่อเสริมแกร่งความยั่งยืน และความมั่นคงทางอาหารแล้ว “ฐาปน” ยังได้ร่วมฉายภาพ มิติการร่วมขับเคลื่อน พลังความยั่งยืนในประเทศไทย ที่มีความร่วมมือกับภาคเอกชนไทยรายใหญ่ต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว
ไทยเบฟผนึก บิ๊กคอร์ป ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก
ทั้งนี้ได้ผนึกกำลังภาคเอกชนไทย “ขับเคลื่อนความยั่งยืน (SX)” ในมิติการร่วมนำพา เศรษฐกิจฐานราก ของประเทศไทย เนื่องจากประเมินว่า บางเรื่องมีการทำซ้ำกันและการทำคนเดียวอาจมีความโดดเดี่ยว จึงได้นำประเด็นความท้าทายและปัญหาในด้านต่างๆ มารวมพลังสร้างประโยชน์ในระยะยาว พร้อมมองหาแนวทางทำงานช่วยประเทศชาติในมิติใหม่ๆ ร่วมสร้างโอกาสมากมาย
“ภาคเอกชนไทย เมื่อมีความร่วมมือกัน มีความเก่งไม่แพ้ใคร โดยที่ผ่านมา จึงเกิดมิติความร่วมมือขับเคลื่อนในด้านยั่งยืน แต่หากมองมิติในการขยายลงทุน อย่างเช่น กลุ่มซีพี เซ็นทรัล โดยเซ็นทรัล มีการบริหารห้างสรรพสินค้าไม่แพ้ใคร กลุ่มซีพี มีการทำครัวไทยสู่ครัวโลก และได้ร่วมมือกับนาซ่า ในการพัฒนาอาหารอวกาศ รวมถึง ไทยเบฟ ขยับขยายธุรกิจและการลงทุนไปสู่ภูมิภาค”
เศรษฐกิจฐานราก หนุนชุมชนแกร่ง
ทั้งนี้ “เศรษฐกิจฐานราก” มีองค์ประกอบคือ “การทำเกษตร” “การแปรรูป” และผลักดันไปสู่การจัดทำ “ท่องเที่ยวชุมชน” โดยการทำเกษตรถือเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวของทุกคน ส่วนการแปรรูป ช่วยในเรื่องถนอมอาหารและการยืดอายุ พร้อมต่อยอดไปสู่การทำท่องเที่ยวชุมชน เพื่อทำให้เกิดการซื้อขายสินค้า และทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาอยู่ในพื้นที่นานที่สุด สร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่
โมเดลการทำงาน ได้เชื่อมโยงกับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน โดยเอกชนได้ทำงานเชิงลึกในแต่ละจังหวัด มีการร่วมมือกับทั้ง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งแต่ละภาคส่วนมีความถนัดแตกต่างกัน และในแต่ละจังหวัดมีบริบทไม่เหมือนกัน อาทิ พื้นที่ตะวันออกมี ปตท. เคมิคอล และเอสซีจี เคมิคอลส์ อยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว ได้เข้าไปร่วมมือพัฒนาชุมชน ส่วนกสิกรไทย ได้เข้าร่วมผลักดันการขยายพื้นที่ป่าในทำเลเป้าหมายที่มีความเชี่ยวชาญ รวมถึง กลุ่มทรู ได้เข้าไปช่วยพัฒนาพื้นที่มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
ทั้งหมดเป็นการสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือ (คอร์ลาบอเรชัน แพลตฟอร์ม) อีกทั้งผนึกกำลังกับเครือข่าย ภาควิชาการ อุดมศึกษาในแต่ละพื้นที่เข้าไปทำวิจัยร่วมพัฒนาสินค้า ส่งผลให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการคิดค้น ค้นคว้า นวัตกรรมต่างๆ มากมาย เพื่อทำให้การพัฒนาสินค้าของผู้ประกอบการในชุมชนสามารถตอบโจทย์ตลาดได้มากที่สุด ร่วมส่งเสริมการค้าขาย ผลักดันสร้างชุมชนเข้มแข็งไปพร้อมกัน
“ภาคเอกชนได้เข้าไปร่วมสร้างตลาดและโอกาสให้เกิดขึ้น โดยภาคองค์กรชั้นนำ หรือภาคธุรกิจเข้าไปร่วมส่งเสริม การเติบโตเศรษฐกิจฐานราก ในมิติการค้าขายระดับลึก พร้อมมีองค์กรมหาวิทยาลัยเข้าไปร่วม ในตลอด 10 ปีที่ผ่านมา คิดค้น ค้นคว้า นวัตกรรมต่างๆ เพื่อร่วมส่งเสริม สร้างชุมชนเข้มแข็งไปพร้อมกัน”
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ชุมชนหลายแห่ง ยกตัวอย่าง จังหวัดสุโขทัย มีการทำผ้าขาวม้า และมีทายาทร่วมออกแบบสินค้าให้ตอบโจทย์ และเกิดการขยายทำตลาดออนไลน์ รวมถึงในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ที่มีการปลูกข้าว ที่กำลังทำแบรนด์และการทำออร์แกนิค อีกทั้งเมื่อประเมินข้าวไทยในแต่ละพื้นที่ ยังไม่เคยมีการวิเคราะห์ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร จึงได้มีอาจารย์มาร่วมวิเคราะห์หาคุณค่าสารอาหารข้าวในแต่ละประเภท และข้าวจีไอในแต่ละพื้นที่ เป็นต้น เพื่อผลักดันการทำตลาดต่อไป
โลกเป็นหนึ่งเดียว ผู้นำต้องเข้าใจองค์รวม-บริบทระหว่างประเทศ
หากประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทย มีพื้นที่เชื่อมโยงกับหลายประเทศ ร่วมสร้างโอกาทางการค้าและเศรษฐกิจ แต่ทุกอย่างต้องติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศ ที่ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ดังนั้นภาคผู้นำจึงต้องมีความเข้าใจในองค์รวมและสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศทั้งหมด เนื่องจากหากเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศขึ้นมา ทุกคนต่างมีโอกาสได้รับผลกระทบเช่นกัน
“ภาคเอกชนไม่ใช่ทำแค่เพียงค้าขายในภาคอุตสาหกรรมและเครือข่าย แต่ต้องเข้าใจในเครือข่ายและพันธมิตรด้วย ต้องมองว่าเครือข่ายหรือพันธมิตรมีปัญหาและขาดในด้านใด เพราะทุกอย่างมีการเชื่อมโยงกัน”
ทั้งนี้มีความเชื่อมั่นว่า จากการร่วมมือสร้าง เศรษฐกิจฐานราก ยังร่วมส่งต่อ สร้างแรงบันดาลใจ และสร้างโอกาส ทำให้ชุมชนไทยเกิดความยั่งยืน เกิด Better community ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอีกด้าน