ไขปรากฏการณ์ ‘หมูเด้ง’ อิมแพ็คท่องเที่ยวไทย ความสำเร็จนี้ ไม่มีคำว่าฟลุ๊ค!

ไขปรากฏการณ์ ‘หมูเด้ง’ อิมแพ็คท่องเที่ยวไทย  ความสำเร็จนี้ ไม่มีคำว่าฟลุ๊ค!

นับตั้งแต่เกิดปรากฏการณ์ “หมูเด้ง” ลูกฮิปโปแคระดาวดวงใหม่แห่ง “สวนสัตว์เปิดเขาเขียว” ไวรัลสุดคิวต์ โด่งดังบนโลกโซเชียลมีเดียเมื่อเดือน ก.ย. 2567 กระจายมวลความสุขแก่คนไทยและทั่วโลก สร้างอิมแพ็คต่อภาคธุรกิจ

ดึงดูดกระแส “นักท่องเที่ยว” ทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางมาเช็กอินสวนสัตว์เขาเขียวเติบโตมากถึง 4 เท่า เพื่อเข้าคิวชมความน่ารักของเจ้า"หมูเด้ง"ด้วยตาเนื้อ!

อรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยถึงผลลัพธ์ความสำเร็จจากการปั้น“หมูเด้ง”ที่ปัจจุบันเพิ่งมีอายุครบ 5 เดือนว่า ยอดนักท่องเที่ยวเข้าชมสวนสัตว์เขาเขียวเติบโตพุ่งแรงถึง 4 เท่า จากเดิมเคยมี 3,000-4,000 คนต่อวัน เพิ่มเป็น 12,000 คนต่อวัน บางวันพีคถึง 14,000 คนต่อวันก็มี หนุนยอดนักท่องเที่ยวเข้าชมสวนสัตว์เขาเขียวตลอดปี 2567 มากกว่า 1 ล้านคน ฟื้นตัวกลับไปใกล้เคียงยอด 1.2 ล้านคนเมื่อปี 2562 ก่อนโควิดระบาด

กระแสฟีเวอร์ของหมูเด้งช่วยกระตุ้น “เศรษฐกิจการท่องเที่ยว” ให้แก่จังหวัดชลบุรี เติบโตเพิ่มจากเดิมตลอด 4-5 เดือนที่ผ่านมาราว 5% โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในพื้นที่ศรีราชา พัทยา บางแสน และบางพระ โดยโรงแรมที่พักและร้านอาหารมียอดจองเข้าใช้บริการอย่างต่อเนื่อง มากถึง 90% ในช่วงวันหยุดยาว

“ความสำเร็จของหมูเด้ง ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจากการวางแผนไว้เมื่อ 7 ปีที่แล้ว เราวางไทม์ไลน์ไว้ชัดว่าจะเริ่มปั้นดาวดวงใหม่ มีวิธีการสื่อสารอย่างไร ทุกอย่างไม่มีคำว่าฟลุ๊ค”

ไขปรากฏการณ์ ‘หมูเด้ง’ อิมแพ็คท่องเที่ยวไทย  ความสำเร็จนี้ ไม่มีคำว่าฟลุ๊ค!

โดยเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ได้มีการฝึก “Zookeeper” หรือ ผู้ดูแลสวนสัตว์ เช่น “พี่เบนซ์” พี่เลี้ยงหมูเด้ง ให้เรียนรู้การทำคอนเทนต์ นำเสนอเรื่องราวเพื่อให้สวนสัตว์เป็นที่รู้จักผ่านเพจ “ขาหมู แอนด์เดอะแก๊ง” ซึ่งก่อนหน้านี้มีการทำคอนเทนต์เกี่ยวกับสัตว์ต่างๆ อาทิ คาปิบารา รวมถึง “หมูตุ๋น” ฮิปโปแคระจนมีฐานแฟนคลับ และต่อยอดมาถึง “หมูเด้ง” ในยุคที่โซเชียลมีเดียบูมกว่าแต่ก่อน หนุนให้หมูเด้งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกและไปไกลกว่าที่คาด โดยปัจจุบันได้จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาไว้แล้ว เพื่อต่อยอดสร้างรายได้ต่อไป

“เราไม่เคยคิดว่าจะเห็นภาพความสำเร็จแบบทุกวันนี้ ตอนนั้นเราคิดแค่ว่าเราจะทำสวนสัตว์ให้เป็นที่รู้จักของคนไทยมากขึ้น ดึงคนให้กลับมาเที่ยวสวนสัตว์มากขึ้นเท่านั้น เราก็ค่อยๆ สร้างมา แต่ด้วยจังหวะของหมูเด้งมันพอเหมาะพอเจาะ ครบทุกองค์ประกอบ ทำให้โด่งดังไปทั่วโลก โจทย์สำคัญต่อจากนี้คือการสร้างคอนเทนต์เพื่อให้กระแสของหมูเด้งสามารถไปต่อได้อย่างยั่งยืน”

ไขปรากฏการณ์ ‘หมูเด้ง’ อิมแพ็คท่องเที่ยวไทย  ความสำเร็จนี้ ไม่มีคำว่าฟลุ๊ค!

นอกจากนี้ หมูเด้งฟีเวอร์ยังหนุนให้ “สวนสัตว์เปิดเขาเขียว” มีรายได้เพิ่มขึ้น! จากปกติคาดว่าจะมีรายได้ 170 ล้านบาทต่อปี แต่พอปีนี้มี หมูเด้ง ขึ้นทำเนียบดาราหน้าใหม่ กระแสดีไม่มีตก จึงตั้งเป้าว่าจะมีรายได้เพิ่มเป็น 210 ล้านบาท นับเป็นสวนสัตว์ที่มี “รายได้สูงสุด” และ “พอเลี้ยงตัวเองได้” จากสวนสัตว์ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบขององค์การสวนสัตว์ฯ ทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่ เขาเขียว เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี และสงขลา

แต่ถ้าดูภาพรวมรายได้ขององค์การสวนสัตว์ฯ ในปีนี้ ตั้งเป้าไว้ที่ 570 ล้านบาท ซึ่งในแต่ละปีมีค่าใช้จ่ายทั้งเงินเดือนและค่าอาหารสัตว์อยู่ที่ 800-900 ล้านบาทต่อปี ซึ่งรัฐบาลช่วยสนับสนุน 40% ที่เหลือองค์การสวนสัตว์ฯ ต้องดำเนินการหารายได้เอง

ไขปรากฏการณ์ ‘หมูเด้ง’ อิมแพ็คท่องเที่ยวไทย  ความสำเร็จนี้ ไม่มีคำว่าฟลุ๊ค!

อรรถพร เล่าเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ องค์การสวนสัตว์ฯ กำลังก่อสร้าง “สวนสัตว์แห่งใหม่” บนที่ดินพระราชทาน ขนาด 300 ไร่ ใน จ.ปทุมธานี แถบคลองหก ตรงข้ามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คาดแล้วเสร็จในปี 2571 หลังจากเพิ่งเริ่มสร้างได้ 1 ปีกว่าๆ ความคืบหน้าการก่อสร้างตอนนี้อยู่ที่ 30% แล้วจากการปรับพื้นที่จากที่ดินเปล่า เปลี่ยนฐานรากให้มีระบบสาธารณูปโภค ขุดสระทำแหล่งน้ำ สวนสาธารณะ และอาคารอื่นๆ เช่น โรงพยาบาล ศูนย์ต้อนรับ อาคารเฉลิมพระเกียรติ เป็นต้น โดยภาครัฐได้ให้งบลงทุนเต็มโครงการก่อสร้างระยะ 5 ปีที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท

ถือเป็นสวนสัตว์ที่มีขนาดไม่ได้ใหญ่มาก เพราะตั้งบนที่ดิน 300 ไร่ ต่างจากสวนสัตว์เขาเขียวที่มีขนาด 2,000 ไร่ ทั้งนี้สัตว์ต่างๆ จะมาจากทุกที่ของประเทศไทย ด้วยมีในทุกพื้นที่ขององค์การสวนสัตว์ฯ อยู่แล้ว สามารถแบ่งไปอยู่แห่งใหม่ได้ และอีกส่วนหนึ่งก็น่าจะต้องดึงจากต่างประเทศมาเติมเพิ่ม

“พื้นที่ของสวนสัตว์แห่งใหม่ในจังหวัดปทุมธานีตั้งอยู่บนทุ่งรังสิต เราก็มองว่าเป็นการฟื้นชีวิตทุ่งน้ำขึ้นมา สัตว์ทุกชนิดในนั้นจะเป็นตัวแทนจากทุ่งน้ำทุกทวีป เช่น ทุ่งน้ำเอเชีย และทุ่งน้ำแอฟริกา”