‘เมียนมา’ ขึ้นแท่นผู้ผลิต ‘ฝิ่น’ ใหญ่ที่สุดของโลก สงครามภายในซ้ำเติมวิกฤติยาเสพติด
‘เมียนมา’ กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตฝิ่นรายใหญ่ที่สุดในโลก สืบเนื่องจากความขัดแย้งภายในประเทศที่ยืดเยื้อและเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ทำให้ประชาชนจำนวนมากหันไปปลูกฝิ่นเพื่อเลี้ยงชีพ
เว็บไซต์นิกเกอิ เอเชียรายงานว่า “เมียนมา” (พม่า) ได้ครองตำแหน่ง “ผู้ผลิตฝิ่นรายใหญ่ที่สุดของโลก” แทนอัฟกานิสถานแล้ว โดยนับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจ เกิดเศรษฐกิจตกต่ำ และจุดชนวนสงครามกลางเมืองหลายด้านตามมา จนประชาชนจำนวนไม่น้อยหันไปปลูกฝิ่นกัน ตามการสำรวจของสหประชาชาติ
“ปริมาณฝิ่นที่ผลิตในเมียนมายังคงใกล้เคียงกับระดับสูงสุดที่เคยเห็นมาตั้งแต่เราวัดครั้งแรกเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว” มาซูด คาลิมิปัวร์ ตัวแทนภูมิภาคในกรุงเทพของสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) กล่าว
“เนื่องจากพลวัตของความขัดแย้งในเมียนมายังคงรุนแรง และห่วงโซ่อุปทานฝิ่นทั่วโลกมีจำกัด จากการผลิตในอัฟกานิสถานที่ถูกแบน (จากผู้ปกครองตาลีบัน) เราเห็นความเสี่ยงอย่างมากที่ฝิ่นจะขยายตัวต่อในอีกหลายปีข้างหน้า” คาลิมิปัวร์กล่าว
UNODC ประมาณการว่า เมียนมาผลิตฝิ่น เกือบ 1,000 ตันในปี 2567 หรือเกือบสองเท่าของอัฟกานิสถาน
ตามรายงานของ UNODC – “Myanmar Opium Survey 2024: Cultivation, Production and Implications” ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา การผลิตฝิ่นของพม่าแสดงให้เห็นถึงสัญญาณบางอย่างของการหยุดชะงักในปีนี้ โดยพื้นที่เพาะปลูกมีการลดลง 4% เป็น 45,200 เฮกตาร์ และผลผลิตต่อเฮกตาร์ลดลงเล็กน้อย ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกฝิ่นในเมียนมาเคยแตะระดับสูงสุดที่ 58,000 เฮกตาร์ในปี 2556 และให้ผลผลิตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 22.9 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ในปี 2566
“รัฐฉาน” รัฐหนึ่งในภาคเหนือของประเทศที่ถูกสงครามทำลายล้าง และไร้กฎหมาย ผลิตฝิ่น 88% ของทั้งประเทศ โดยมีรายงานการเพิ่มขึ้น 10% ตามแนวชายแดนตะวันออกกับลาวและไทย นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มขึ้น 18% ในรัฐชิน ซึ่งการเพาะปลูกฝิ่นส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ใกล้ชายแดนกับอินเดีย และเพิ่มขึ้น 8% ในรัฐคะยาห์ อย่างไรก็ตาม การเพาะปลูกกลับลดลง 10% ในรัฐกะฉิ่น ใกล้ชายแดนจีน และในส่วนอื่นๆ ของรัฐฉาน
UNODC อ้างถึงการลดลงเล็กน้อยโดยรวมของผลผลิตในปีนี้ว่า เป็นผลมาจากการลดลง 8% ของราคา “ฟาร์มเกต” (เงินที่เกษตรกรได้รับโดยตรง โดยที่ไม่จำเป็นต้องผ่านโรงสีหรือผู้ค้าอีกที) ซึ่งสำหรับฝิ่นแห้งลงไปอยู่ที่ราว 304 ดอลลาร์หรือราว 1 หมื่นบาทต่อกิโลกรัม แต่เตือนว่าราคานี้อาจจะดีดตัวกลับขึ้นมาอีกได้
“การขาดแคลนยาแก้ปวดกลุ่ม Opiates ทั่วโลก อันเนื่องมาจากการลดลงของผลผลิตในอัฟกานิสถาน อาจส่งผลให้ราคาที่จ่ายให้แก่เกษตรกรในเมียนมาเพิ่มสูงขึ้น ส่งเสริมให้ผู้คนหันมาเพาะปลูกฝิ่นมากขึ้น” UNODC กล่าวในแถลงการณ์
UNODC ประมาณการมูลค่ารวมของเศรษฐกิจฝิ่นของพม่า รวมถึงการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกฝิ่นและเฮโรอีนสำหรับปี 2567 อยู่ที่ 589 ล้านดอลลาร์ถึง 1,570 ล้านดอลลาร์ สูงถึง 2.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2566
“เกษตรกรที่ปลูกฝิ่นในพม่าไม่ได้ร่ำรวย เพียงแค่พยายามหาเลี้ยงชีพและตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของครอบครัว ท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทาย" ยัตตา ดาโกวา ผู้จัดการประจำประเทศของ UNODC ประจำพม่ากล่าว “เรายังมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงแนวโน้มทางเศรษฐกิจของชุมชนเหล่านี้ โดยการสนับสนุนโอกาสในการสร้างรายได้ระยะยาวที่ยั่งยืน ป้องกันไม่ให้มีผู้คนหันมาเพาะปลูกฝิ่นมากขึ้น”
คาลิมิปัวร์ ตัวแทนภูมิภาคในกรุงเทพฯของ UNODC กล่าวว่า “การเพิ่มขึ้นของการเพาะปลูกฝิ่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจสีดำของเมียนมาเท่านั้น การผลิตยาเสพติดสังเคราะห์เติบโตอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจผิดกฎหมายรอบ ๆ คาสิโนออนไลน์ และแหล่งกบดานมิจฉาชีพกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เลวร้ายลง”
อ้างอิง: nikkei