คนเชียงใหม่คลั่งกาแฟมาก! ปีนี้มีร้านเปิดเพิ่มอีก 1,700 แห่ง คิดเป็น 5% ของทั้งประเทศ
ตอกย้ำสมญานามดินแดนแห่งฮิปสเตอร์! “LINE MAN” เผย ปี 2567 มีร้านกาแฟเปิดเพิ่มในเชียงใหม่ 1,700 แห่ง คิดเป็นสัดส่วน 5% ของร้านกาแฟเปิดใหม่ทั้งประเทศ สะท้อนตลาดกาแฟเชียงใหม่ยังโตแรง ขณะที่อาหารยอดฮิตตกเป็นของ “ขนมจีน” และ “สุกี้”
แม้ย่านเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ชั้นใน ยังครองแชมป์ยอดสั่งซื้ออาหารบนแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีมากที่สุด เนื่องจากปัจจัยเรื่องค่าครองชีพที่สูงกว่า ทว่า “เชียงใหม่” ก็เป็นอีกเมืองใหญ่ที่มีศักยภาพน่าจับตามองไม่แพ้กัน ประกอบกับการเป็น “เมืองมหาวิทยาลัย” ที่มีสถาบันการศึกษาเนืองแน่น มีการกระจุกตัวของกลุ่มนักเรียน-นักศึกษาค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการใช้งานแพลตฟอร์มเหล่านี้สูงต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยพื้นที่ที่มีการเติบโตมากที่สุด ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอสันทราย และอำเภอสันกำแพง ตามลำดับ
“ยอด ชินสุภัคกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไลน์แมน วงใน (LINE MAN Wongnai) เปิดเผยอินไซต์ที่น่าสนใจกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า เชียงใหม่มีความเป็น “เมืองมหาวิทยาลัย” เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ตัวเลขการสั่งซื้อมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นลงตามช่วงเวลาการเปิดเทอม
สำหรับจังหวัดที่มีความคล้ายคลึงกับเชียงใหม่ ได้แก่ “ขอนแก่น” และ “มหาสารคาม” ซึ่งเป็นเมืองมหาวิทยาลัยเช่นกัน พบว่า เดือนที่ยอดการสั่งซื้อมีอัตราการเติบโตลดลง มักตรงกับช่วงเวลาปิดเทอมเสมอ เนื่องจากเด็กๆ ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในเมือง ฉะนั้น กลุ่มนักศึกษาจึงเป็นดีมานด์ที่มีความสำคัญมาก ต้องหยิบอินไซต์เหล่านี้มาพัฒนาไปสู่การทำแคมเปญที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคในพื้นที่มากขึ้น
-ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไลน์แมน วงใน-
เพราะเป็นเด็กๆ นักศึกษา ยอดการสั่งซื้อต่อบิล หรือ “Bucket Size” จึงไม่สูงนัก แต่มีความถี่มากกว่า แพ็กเกจหรือส่วนลดที่ให้กับลูกค้ากลุ่มนี้จึงต้องดีไซน์ให้สอดคล้องต้องกัน เน้นที่จำนวนความถี่ในการสั่ง แตกต่างจากการทำการตลาดในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีตึกออฟฟิศจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มนี้จะเน้นสั่งปริมาณเยอะ และสั่งของราคาสูงกว่านั่นเอง
สำหรับภาพรวมร้านอาหารในจังหวัดเชียงใหม่ “LINE MAN Wongnai” ให้ข้อมูลว่า อัตราการเปิดร้านอาหารใกล้เคียงกับแนวโน้มทั้งประเทศ พบว่า “เชียงใหม่” มีร้านอาหารเปิดใหม่เพิ่มขึ้นมากถึง 10,000 แห่ง ขณะเดียวกันก็มีร้านอาหารปิดตัวลงทั้งสิ้น 2,000 แห่ง
“ยอด” ให้ความเห็นว่า ธุรกิจร้านอาหารเป็นเซกเมนต์ที่มีอัตราการเติบโตทุกปี แต่พร้อมกันนั้นการแข่งขันก็สูงมากเช่นเดียวกัน ทุกๆ ปี จะมีร้านอาหารปิดตัวราวๆ 20-25% ทั้งยังมีร้านอาหารเปิดใหม่อีก 25% นั่นหมายความว่า ในภาพรวมตลาดจะมีร้านเกิดใหม่ขึ้นมาทดแทนอยู่เสมอ
หากถามว่า ทำไมถึงมีร้านเจ๊งเยอะ ผู้บริหาร “LINE MAN Wongnai” มองว่า การเปิดร้านอาหารเป็นความฝันของผู้คนในประเทศไทย อีกทั้งการเปิดร้านอาหารสักแห่งก็ไม่ใช่เรื่องยากนัก ซึ่งอายุเฉลี่ยของร้านอาหารในไทยจะอยู่ที่ 3-4 ปี อัตราการเปิดปิดก็ยืนระยะอยู่ที่ 25% มองในภาพใหญ่จึงดูเหมือนว่า ตลาดร้านอาหารค่อนข้างปราบเซียน
นอกจากนี้ ธุรกิจ “ร้านกาแฟ” ก็เป็นอีกเซกเมนต์ที่น่าจับตามอง ที่ผ่านมา “เชียงใหม่” ขึ้นชื่อและถูกขนานนามว่า เป็นเมืองแห่งร้านกาแฟ เปิดก็เยอะ ปิดตัวก็มีบ้าง ตลอดปี 2567 พบว่า มีร้านกาแฟเปิดใหม่ในจังหวัดเชียงใหม่ 1,700 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนกว่า 5% ของร้านกาแฟเปิดใหม่ทั่วทั้งประเทศ ขณะเดียวกันก็มีร้านกาแฟปิดตัวไป 400 แห่ง ซึ่งหากเทียบเคียงด้วยตัวเลขนี้ มองว่า อัตราการเติบโตในภาพรวมยังเป็นบวกอย่างชัดเจน
ส่วนพฤติกรรมการบริโภคของคนเชียงใหม่มีความคล้ายคลึงกับคนกรุงเทพฯ และพื้นที่อื่นๆ โดยในปีที่ผ่านมาเป็นปีที่เทรนด์การกินถูกปลุกกระแสผ่าน “อินฟลูเอนเซอร์” คนเลือกสั่งของกินตามกระแสในโซเชียลมีเดียเช่นเดียวกับภาพรวมทั่วประเทศ ด้านเมนูโตแรง 5 อันดับแรกของเชียงใหม่ปีนี้ ได้แก่ ชาไทย เส้นหมี่ไก่ฉีก ข้าวขาหมู หมาล่า และข้าวมันไก่ ส่วนจุดที่ดูจะแตกต่างเล็กน้อย คือเมนู “ขนมจีน” และ “สุกี้” ที่มียอดสั่งซื้อในเชียงใหม่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ
-เค้กจากร้าน “บ้านเปี่ยมสุข”-
ทั้งนี้ มีร้านอาหารดาวรุ่ง หรือ “Rising Star” ที่น่าสนใจมีด้วยกัน 3 ร้าน ได้รับความนิยมจากคนพื้นถิ่นและนักท่องเที่ยวมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “เค้กเปี่ยมสุข” โด่งดังจากเมนูพายมะพร้าวอ่อน “Adirak Pizza” พิซซ่าโฮมเมดจากเตาถ่าน และ “มาม่าฟ้าธานี” ร้านมาม่าเด็ดขวัญใจคนเชียงใหม่ โดดเด่นด้วยพริกสูตรเฉพาะตัว แม้มีวัตถุดิบหลักเป็นมาม่าแต่รสชาติกลับมีเอกลักษณ์ กระทั่งอยู่คู่เชียงใหม่มายาวนาน 30 ปี