ความยั่งยืนที่ “ไม่” นำไปสู่ความยั่งยืนทางธุรกิจ

ความยั่งยืนที่ “ไม่” นำไปสู่ความยั่งยืนทางธุรกิจ

ถ้านึกถึงบริษัทระดับโลกที่เป็นต้นแบบในเรื่องของความยั่งยืน (Sustainability) ที่มุ่งเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม ฯลฯ ชื่อของ Unilever หรือ Patagonia เป็นสองชื่อที่ถูกเอ่ยถึงบ่อยมาก

แต่ช่วงที่ผ่านมาทั้งสองบริษัทกลับประสบปัญหาทางธุรกิจ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของความยั่งยืนอย่างมากนั้น สุดท้ายจะนำไปสู่ความยั่งยืนทางธุรกิจหรือไม่?

Unilever ที่เป็นกรณีศึกษาและต้นแบบการบูรณาการความยั่งยืนเข้ากับทุกส่วนของการทำงาน ปรากฎว่าเมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมากรรมการบริษัทได้มีมติที่จะให้ซีอีโอ Hein Schumacher พ้นจากตำแหน่งและแต่งตั้งอดีตซีเอฟโอ Fernando Fernandez เป็นซีอีโอแทน

Schumacher เพิ่งเป็นซีอีโอได้เพียงแค่สองปี และในช่วงสองปีที่ผ่านมาเขาก็พยายามปรับเปลี่ยน Unilever ให้สามารถทำกำไรได้ดีขึ้น แต่กรรมการบริษัทก็ยังไม่พอใจ เนื่องจากมูลค่าตลาดของ Unilever ยังต่ำกว่าคู่แข่งในระดับเดียวกัน

ที่ผ่านมา Unilever พยายามปรับกลยุทธ์และปรับตัวมาตลอด ทั้งการมุ่งเน้นที่ Power Brands ที่เป็นตัวสร้างรายได้หลักให้กับบริษัท การปรับพอร์ตสินค้าใหม่ การปรับองค์กรให้แบนลง การลดพนักงานลง และการเตรียมการที่จะ Spin-off ธุรกิจไอศกรีม เพื่อแยกเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ทำให้เกิดคำถามว่า การเป็นบริษัทต้นแบบในเรื่องของความยั่งยืน ไม่ได้ส่งผลลัพธ์ต่อผลการดำเนินงานด้านธุรกิจแบบที่คาดไว้จริงหรือ? จนถึงขั้นต้องปลดซีอีโอที่เพิ่งตั้งขึ้นมาได้สองปี

ถ้าย้อนกลับไปดูจะพบว่าเมื่อเดือนเมษายน 2024 Schumacher เองก็ได้ปรับเป้าหมายของบริษัทในเรื่องของความยั่งยืนใหม่ ให้มีความเป็นไปได้มากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้พลาสติกและบรรจุภัณฑ์จากรีไซเคิล

สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดที่พยายามมองเรื่องของความยั่งยืนในมุมของความเป็นไปได้และไม่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายทางธุรกิจมากจนเกินไปนัก 

 

สำหรับ Patagonia ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับเสื้อผ้าและอุปกรณ์เครื่องใช้ เป็นอีกบริษัทที่เป็นต้นแบบในเรื่องของความยั่งยืนและการให้ความสำคัญกับบุคลากรมาตลอด

ผลประกอบการของ Patagonia ยังคงมีกำไรอยู่ แต่เมื่อปี 2024 บริษัทก็เผชิญกับความท้าทายทางธุรกิจ จนนำไปสู่การประกาศนโยบายหลายๆ ประการที่อาจจะดูขัดแย้งกับความเป็น Patagonia

จากยอดขายที่ลดลง ทำให้บริษัทปลดพนักงานออก 130 คน เพื่อลดต้นทุน ปรับลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน มีการปรับเปลี่ยน KPI ภายในบริษัทให้เน้นในเรื่องประสิทธิภาพและทางด้านการเงินมากขึ้น

รวมทั้งปรับเปลี่ยนนโยบายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน จนทำให้พนักงานจำนวนหนึ่งมองว่าบริษัทได้สูญเสียคุณค่าและจิตวิญญาณหลักไป

ถึงแม้ Patagonia จะยังคงยืนยันในความมุ่งเน้นในเรื่องของความยั่งยืน แต่จากสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2024 ก็เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าบริษัทก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับบริบททางธุรกิจที่เปลี่ยนไป และพยายามสร้างความสมดุลระหว่างความยั่งยืนกับความอยู่รอดของธุรกิจด้วย

นอกจาก Unilever และ Patagonia แล้วยังมีบริษัทอื่นๆ อาทิเช่น British Petroleum หรือ Wells Fargo ที่เคยเป็นผู้นำในการประกาศเป้าหมายในด้านสิ่งแวดล้อม

แต่ล่าสุดมีการปรับเป้าหมายด้านความยั่งยืนเสียใหม่ให้ผ่อนคลายลง มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และไม่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายทางธุรกิจ

เมื่อมองย้อนกลับไป จะพบว่าจากความตื่นตัวอย่างมากในเรื่องของความยั่งยืนในช่วงแรก ทำให้หลายบริษัทได้มีการประกาศเป้าหมายและแนวปฏิบัติในเรื่องของความยั่งยืนที่ดูดีและท้าทาย จนอาจจะละเลยต่อผลกระทบของการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวต่อผลการดำเนินงานทางธุรกิจ

แต่เมื่อเวลาผ่านไปและบริบททางธุรกิจไม่ได้สดใสเท่าที่ควร ทำให้บริษัทเหล่านี้ต้องกลับมาทบทวนถึงความเป็นไปได้ และผลกระทบของเป้าหมายในด้านความยั่งยืนต่อผลประกอบการทางธุรกิจ มีการปรับเป้าและแนวปฏิบัติในด้านความยั่งยืน ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและเป้าหมายทางธุรกิจมากขึ้น

ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ธุรกิจก็ยังจะต้องอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้ ดังนั้นเมื่อสถานการณ์และบริบททางธุรกิจไม่เป็นใจ สิ่งที่ผู้บริหารจะต้องตัดสินใจก็คือทำให้ธุรกิจอยู่รอดก่อนเป็นสำคัญ

การทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการมุ่งเน้นในเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน กับ เป้าหมายทางธุรกิจ เป็นประเด็นสำคัญและท้าทายสำหรับผู้บริหารในปัจจุบัน.