กรมบัญชีกลางสั่งปรับ 2 แสนบาท กรณีอุทธรณ์จัดซื้อภาครัฐเป็นเท็จ
กรมบัญชีกลางเร่งแก้กฎหมายเก็บค่าใช้จ่ายกรณีอุทธรณ์จัดซื้อภาครัฐเป็นเท็จ ส่งผลให้การเบิกจ่ายหน่วยงานภาครัฐมีความล่าช้า โดยสั่งปรับสูงสุด 2 แสนบาทต่อกรณี ล่าสุดในปีงบ 65 มียอดอุทธรณ์ 703 เรื่อง แต่เป็นเท็จถึง 41%
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างการปรับปรุงพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ..ในประเด็นการเก็บเงินสำหรับการอุทธรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความคล่องตัวมากขึ้น
โดยจะใช้รูปแบบการอุทธรณ์ออนไลน์แทนการรับ-ส่งหนังสือ เพื่อลดขั้นตอน และลดระยะเวลาการดำเนินการ ลดภาระของผู้ประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐอีกด้วย อีกทั้ง จะมีการกำหนดอัตราค่าใช้จ่าย และค่าธรรมเนียมตามมูลค่าของโครงการที่มีการอุทธรณ์ โดยจะคืนค่าใช้จ่ายในกรณีที่การอุทธรณ์เป็นไปอย่างสมเหตุสมผล
“การปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว จะช่วยลดปัญหาการอุทธรณ์ที่ผู้อุทธรณ์มีเจตนาไม่สุจริต ประวิงเวลา หรือเพียงแค่ใช้สิทธิของตนตามกฎหมายเท่านั้น ซึ่งส่งผลกระทบให้การจัดซื้อ จัดจ้างภาครัฐ และการเบิกจ่ายมีความล่าช้า กระทบไปถึงภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศด้วย”
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการจัดเก็บค่าใช้จ่าย และธรรมเนียมสำหรับการอุทธรณ์ด้วย ประกอบด้วย 1.อัตราค่าใช้จ่าย และค่าธรรมเนียมในการอุทธรณ์ค่าใช้จ่าย ครั้งละ 1 พันบาท ค่าธรรมเนียม ในอัตรา 0.2% ของมูลค่าของโครงการที่มีการอุทธรณ์ แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท อย่างไรก็ดี กรมฯ จะคืนค่าใช้จ่ายให้กรณีที่เห็นว่า การอุทธรณ์มีข้อเท็จจริง
ทั้งนี้ สถิติการอุทธรณ์ในปี 2563 อยู่ที่ 2,002 เรื่อง พบว่า ไม่ใช่การอุทธรณ์โดยสมเหตุผล 301 เรื่อง หรือ คิดเป็น 24% ในปี 2564 มีเรื่องที่อุทธรณ์ 1,977 เรื่อง ไม่ใช่การอุทธรณ์ที่สมเหตุผล 832 เรื่อง คิดเป็น 42% ในปี 2565 มีเรื่องอุทธรณ์ 703 เรื่อง ไม่ใช่การอุทธรณ์ที่สมเหตุผล 290 เรื่อง หรือ คิดเป็น 41%
สำหรับสาเหตุของการอุทธรณ์นั้น ผู้อุทธรณ์เห็นว่า 1.หน่วยงานของรัฐพิจารณาผลไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารประกวดราคาหรือ TOR 2.ผู้อุทธรณ์มีเจตนาที่ไม่สุจริต อาจจะเพื่อประวิงระยะเวลาไว้หรือเพียงแค่อยากจะอุทธรณ์ตามสิทธิที่ตนมีตามกฎหมายเท่านั้น 3. ผู้อุทธรณ์สงสัยในคุณสมบัติของผู้ชนะการเสนอราคาว่า หน่วยงานของรัฐพิจารณาถูกต้องหรือไม่ ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้อุทธรณ์ไม่ใช่ผู้ชนะในครั้งนั้น
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการอุทธรณ์ที่ไม่สมเหตุผล ได้ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐมีความล่าช้ามาก และยังส่งผลกระทบไปถึงการเบิกจ่ายเงินของ ภาครัฐล่าช้ากระทบไปถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย
นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ หรือ New e-GP ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding เดิม ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยนำปัญหา และอุปสรรคในการ
เข้าใช้งานระบบ e-bidding เดิม มาทบทวน และปรับปรุงกระบวนงานให้มีความทันสมัย สอดรับกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบ และป้องกันความเสี่ยงในการรั่วไหลของข้อมูลการเสนอราคา e-bidding
โดยได้ปรับปรุง กระบวนการเผยแพร่ประกาศ และการยื่นข้อเสนอ รวมทั้งลดระยะเวลาการยื่นข้อเสนอเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการรั่วไหลของข้อมูลราคา โดยนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลการเสนอราคา e - bidding และนำ Smart Contract มาใช้ในการควบคุมสิทธิและระยะเวลาในการเข้าถึงข้อมูล พร้อมทั้ง เพิ่มความปลอดภัยในกระบวนการพิสูจน์ และยืนยันตัวตนของผู้เสนอราคา เป็นแบบสองขั้นตอน (Two-Factor Authentication)
นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบช่องโหว่ในระบบ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนตรวจสอบช่องโหว่ระบบ e- bidding ที่พัฒนาขึ้นใหม่ด้วย
อธิบดีกรมบัญชีกลางยังกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมากรมฯ ได้มีการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ภายใต้เจตนารมณ์ของการออกกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่2) พ.ศ. 2563 ได้แก่ 1.ส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างกับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และ 2.ส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตภายในประเทศ (สินค้า Made In Thailand) ส่งผลให้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีผลการจัดซื้อจัดจ้างผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับงานกับหน่วยงานของรัฐทั้งสิ้นมูลค่า 4.21 แสนล้านบาท จากมูลค่าจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด 8.04 ล้านบาท หรือคิดเป็น 52.44% ของวงเงินงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์