แบงก์ชาติ เล็งทบทวน แนวทางกำกับ ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ หวั่นกระทบระบบการเงิน
ธปท.เผยอยู่ระหว่างกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลให้สอดคล้องต่างประเทศ ซึ่งภาพรวมมอง “สเตเบิลคอยน์” ยังมีความเสี่ยงอยู่ ดังนั้น ควรให้ความสำคัญดูแลมากยิ่งขึ้นกำกับดูแลตามทิศทางโลก
นายณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า มุมมอง ธปท.เกี่ยวกับโลกอนาคตของสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเรื่องใหม่ทั้งมุมเทคโนโลยีใหม่อย่างบล็อกเชน และการนำมาใช้ในธุรกิจและการลงทุน
โดยสินทรัพย์ดิจิทัลส่วนใหญ่อาศัยการนำเทคโนโลยีใหม่อย่าง Distributed Ledger Technology (DLT) หรือบล็อกเชนมาใช้ ซึ่งมีจุดเด่นที่การเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ทำให้ข้อมูลถูกปลอมแปลงแก้ไขได้ยาก
สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยเริ่มใช้ในการลงทุนเป็นหลัก โดยไทยเป็นกลุ่มประเทศแรกที่มีกฎหมายกำกับดูแลการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลโดยเฉพาะ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต.การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยได้รับความสนใจมาก โดยข้อมูลจากสำนักงาน ก.ล.ต.ระบุว่ามีนักลงทุนกว่า 2.5 ล้านบัญชี ณ มี.ค.2565 เพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าภายใน 1 ปี
“สหรัฐ EU ญี่ปุ่น รวมถึงไทยกำลังทบทวนแนวทางกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและกำกับดูแลให้เหมาะสม เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการและป้องกันความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน”
ชี้ปัจจัยหนุนเงินดิจิทัล
สำหรับอนาคตการใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัลจะแพร่หลายหรือยั่งยืนหรือไม่ขึ้นกับปัจจัยหลายประการ ทั้งการพัฒนารูปแบบการใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัลว่าก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนหรือภาคธุรกิจได้มากน้อยเพียงใด
เปรียบเทียบกับความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล การส่งเสริมและกำกับดูแลอย่างเหมาะสมเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงและดูแลผู้ใช้บริการให้เกิดความเชื่อมั่น และมีความรู้ความเข้าใจในการเลือกลงทุนหรือใช้บริการได้เหมาะสม
ขณะที่ความเสี่ยงและข้อควรระวังในการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทย เพราะเข้าถึงการลงทุนได้ง่ายและลงทุนจำนวนน้อยได้
ซึ่งมุมหนึ่งเป็นประโยชน์ที่ประโยชน์ที่ประชาชนเข้าการลงทุนมากขึ้น แต่อีกมุมการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเสี่ยงสูงมากกว่าการลงทุนประเภทอื่น เช่น ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลผันผวนมาก
การลงทุนในต่างประเทศ และ Decentralized Finance (DeFi) แม้เข้าถึงง่ายแต่ต้องพิจารณาว่าอาจไม่ได้รับความคุ้มครอง เช่น ถ้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต่างประเทศยักยอกเงินของผู้ลงทุนไปก็ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลในไทยที่ช่วยเหลือได้ หรือถ้ากำหนดปลายทางที่จะโอนสินทรัพย์ดิจิทัลไปผิดจะทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลหายไป
ไม่หนุนชำระค่าสินค้าบริการ
ขณะที่แนวทางกำกับดูแลการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการการที่ ก.ล.ต.ออกเกณฑ์กำกับการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่สนับสนุนใช้สินทรัพย์ดิจิทัลชำระค่าสินค้าหรือบริการ
ซึ่งได้หารือระหว่าง ก.ล.ต.และ ธปท.เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบเสถียรภาพการเงินและระบบเศรษฐกิจ เพราะการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลชำระค่าสินค้าบริการมีความเสี่ยง ดังนี้
ความเสี่ยงต่อประชาชนและร้านค้า ทั้งความผันผวนของราคาสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งทำให้ยอดใช้จ่ายของผู้ใช้ หรือรายรับของ ผู้รับชำระมีความไม่แน่นอนสูง ความเสี่ยงที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน
ด้วยลักษณะของสินทรัพย์ดิจิทัลที่สามารถโอนหรือรับโอนจาก กระเป๋าส่วนตัวที่ผู้ใช้บริการไม่ต้องพิสูจน์ยืนยันตัวตน และความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีเนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลยังไม่มีมาตรฐานหรือการกำกับดูแลเรื่องความปลอดภัย
ดังนั้นจึงมีโอกาสที่ผู้ใช้บริการจะถูกโจรกรรมทางไซเบอร์หรือระบบต้องหยุดชะงักทำให้เสียโอกาส และหากใช้แพร่หลายจะกระทบระบบเศรษฐกิจการเงิน
รวมทั้งทำให้มีระบบการชำระเงินหลายระบบเกิดความซ้ำซ้อนและอาจสร้างความสับสน หรือทำให้เกิดต้นทุนต่อผู้ใช้บริการ ทำให้ต้นทุนการชำระเงินโดยรวมของประเทศสูงขึ้น