ออมสินพร้อมปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำหนุนสภาพคล่องกองทุนน้ำมัน
ออมสินพร้อมปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่กองทุนน้ำมัน หลังครม.อนุมัติให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ คาดกองทุนฯจะใช้แนวทางประมูลเพื่อให้สถาบันการเงินเข้ามาแข่งขันราคา
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเปิดเผยว่า หากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีแผนที่จะขอกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องของกองทุนน้ำมัน ธนาคารก็พร้อมที่จะให้กู้ในอัตราที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้
อย่างไรก็ตาม เขาคาดว่า สำนักงานกองทุนน้ำมันฯ คงจะใช้วิธีเปิดประมูลหรือ Bid เพื่อให้สถาบันการเงินที่สนใจเข้ามาแข่งเสนอราคา สำหรับพันธบัตรของกองทุนน้ำมัน ที่จะออกมาเพื่อเสริมสภาพคล่องของกองทุน โดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกันตามกฎหมาย
“สำหรับธนาคารออมสิน หากเข้าร่วมแข่งขัน ก็จะเสนออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดเท่าที่ธนาคารจะทำได้ เนื่องจาก เห็นว่า เข้าข่าย โครงการเพื่อสังคม”
นายวิทัยกล่าวอีกว่า การ Bid ตัวพันธบัตรของกองทุนน้ำมันฯ จะได้ในราคาเท่าไหร่นั้น ยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่สำนักงานกองทุนน้ำมันฯ จะกำหนดขึ้น โดยภายใต้สถานการณ์อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น หากต้องการพันธบัตรอายุยาว และเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ ต้นทุนของพันธบัตรก็สูงกว่า การออกพันธบัตรที่อายุสั้นกว่า และเป็นดอกเบี้ยแบบลอยตัว
สำหรับความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ให้กับกองทุนน้ำมันฯ เนื่องจาก กองทุนฯจะต้องเป็นผู้ชำระหนี้เองทั้งหมดนั้น นายวิทัยกล่าวว่า เนื่องจากกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน หากกองทุนฯ ไม่สามารถชำระเงินคืนได้กระทรวงการคลังก็จะต้องรับผิดชอบชำระหนี้แทน ดังนั้น จึงถือว่า ไม่มีความเสี่ยงใดกับธนาคาร
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รัฐบาลได้สั่งให้กองทุนน้ำมันเข้าไปตรึงราคาน้ำมัน ที่มีราคาผันผวน จากผลกระทบของสงครามรัสเซียและยูเครน ทำให้ส่งผลกระทบต่อ ซัพพลายน้ำมันของโลก เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า ที่ผ่านมา กองทุนน้ำมัน ซึ่งมีฐานะการเงินที่ติดลบ เพราะต้องเข้าไปอุดหนุนราคาพลังงาน มีความต้องการที่จะขอกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศ แต่ไม่มีสถาบันการเงินรายใดปล่อยเงินกู้ให้ เนื่องจาก กังวลปัญหาการชำระหนี้คืนตามสัญญา จนในที่สุด เมื่อวันที่ 16 ส.ค.นี้ ครม.ได้อนุมัติร่าง พรก.อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกำหนดวงเงินค้ำประกันไว้ไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท
ณ วันที่ 21 ส.ค.นี้ กองทุนน้ำมันมีสถานะติดลบรวม 1.18 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็น การติดลบของกองทุนที่เข้าไปอุดหนุนราคาน้ำมันอยู่ 7.67 หมื่นล้านบาท และติดลบจากการเข้าไปอุดหนุน LPG อยู่ 4.12 หมื่นล้านบาท รวมกองทุนติดลบ 1.18 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซียและยูเครนทำให้การอุดหนุนราคาพลังงานในช่วง 4 เดือน ที่ผ่านมา (มี.ค.-มิ.ย.) กองทุนน้ำมันอุดหนุนติดลบเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละประมาณ 2 หมื่นล้านบาท และทำให้สถานะกองทุนน้ำมัน
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้กระทรวงพลังงานประเมินว่าหากไม่มีการเพิ่มสภาพคล่องให้กองทุนน้ำมัน หรือยังคงอุดหนุนราคาพลังงานในระดับปัจจุบันจะทำให้กองทุนติดลบ 2 แสนล้านบาท ในช่วงปลายปีนี้