แบงก์ชาติ เตรียมออก‘พร้อมบิท’เอื้อชำระเงินภาคธุรกิจ ไตรมาส4นี้

แบงก์ชาติ เตรียมออก‘พร้อมบิท’เอื้อชำระเงินภาคธุรกิจ ไตรมาส4นี้

แบงก์ชาติ เตรียม เปิดโครงการพร้อมบิท สิ้นไตรมาส4ปีนี้ คาดพร้อมใช้ไตรมาสแรกปีหน้า หวังช่วยเอสเอ็มอีชำระเงินผ่านดิจิทัลคล่อง ลดต้นทุน สะดวกขึ้น

      ปัจจุบันการทำธุรกรรมผ่าน “ดิจิทัล” เติบโตก้าวกระโดด ตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา เป็นตัวเร่งสำคัญหนุนให้คนหันไปใช้ดิจิทัลเพื่อการชำระเงินมากขึ้น

     ส่งผลให้วันนี้ประเทศไทย ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีการใช้โมบายแบงกิ้งเป็นอันดับหนึ่งของโลกเรียบร้อยแล้ว
 

    “รณดล นุ่มนนท์” รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวในงาน National ITMX Day 2022 : National ITMX Digital Verse Financial Connectivity หัวข้อ “โอกาสและความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ยุค Digital Transformation ของประเทศไทย” ว่า ปัจจุบันระบบการชำระเงินไทย มีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ทัดเทียมนานาประเทศ

      ซึ่งปัจจุบันได้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน การชำระเงินที่ภาคประชาชนใช้กันอย่างแพร่หลาย  

     เช่น ผ่านพร้อมเพย์ ที่มีปริมาณธุรกรรมเฉลี่ยถึงวันละ 36 ล้านรายการ มูลค่าเฉลี่ยกว่า 1 แสนล้านบาท และได้เชื่อมโยงกับ 6 ประเทศแล้วในภูมิภาค

      ทั้งนี้ การเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ต้องสอดรับกับพัฒนาการที่หลากหลายของภาคการเงิน ซึ่ง ธปท. ได้ตระหนัก และวางแนวนโยบายให้รองรับ ภายใต้นโยบาย “ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน” หรือ New Financial Landscape

      สาระสำคัญใน Financial Landscape คือ การผลักดันระบบการชำระเงิน ปี 2565-2567 โดยมีหลักการสำคัญ คือ การเปิดกว้างให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน (Openness), การใช้บริการชาระเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่างเข้าถึงและเข้าใจ (Inclusivity) และการกำกับดูแลที่ยืดหยุ่นและเท่าทัน (Resiliency) แผนกลยุทธ์ด้านการชำระเงินจะเผยแพร่ในเร็วๆนี้

      จุดเปลี่ยนที่สำคัญ ระยะต่อไป คือ การปรับเปลี่ยนภาคธุรกิจไปสู่การดำเนินงานแบบดิจิทัล ผ่านโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับกระบวนการทำงาน และการชำระเงินแบบดิจิทัล หรือระบบ PromptBiz ที่ทุกภาคส่วนร่วมผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อให้ธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอี สามารถส่งข้อมูลการค้าควบคู่กับข้อมูลการชำระเงิน ช่วยลดระยะเวลา ข้อผิดพลาด และต้นทุน

      รวมทั้งสามารถต่อยอดข้อมูล digital footprint ไปยังการเข้าถึงบริการทางการเงินอื่นได้  ซึ่งคาดว่าสามารถออกแนวทางของโครงการ “พร้อมบิท” ได้ราวไตรมาส 4 ปีนี้ และออกใช้ได้ไตรมาสแรกปีหน้า

      “ผยง ศรีวณิช” ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า  ปัจจุบันหากดูการใช้งานพร้อมเพย์ พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ล่าสุดอยู่ที่ 70 ล้านหมายเลข เพิ่มขึ้น 22.1% จากปีที่ผ่านมา และมีการโอนเงินเฉลี่ย 38.7 ล้านรายการต่อวัน เพิ่มขึ้น 59.3% โดยมีมูลค่ารวมที่ 1.21 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.6% จากปีก่อน

     ส่วนใหญ่กว่า 90% เป็นรายการที่มียอดโอนประมาณ 690 บาทต่อรายการ

      ดังนั้น “พร้อมเพย์” ถือว่าช่วยผลักดัน ดิจิทัล เพย์เมนต์ ของประเทศให้เติบโตต่อเนื่อง โดยปี 2564 มีธุรกรรมชำระเงินระหว่างธนาคารกว่าหมื่นล้านรายการ มีเงินหมุนเวียนผ่าน ITMX รวมถึง 39 ล้านล้านบาท คิดเป็น 2.4เท่าของจีดีพี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

     และคาดว่าสิ้นปีนี้ NITMX มีแผนจะเพิ่มศักยภาพระบบให้สามารถรองรับการทำธุรกรรมได้ถึงหมื่นรายการต่อวินาที จากก.พ.ที่ผ่านมา ที่อยู่เพียง 6 พันรายการต่อวินาที เพิ่มขึ้นกว่า 40 เท่าจากปี 60 ที่เพิ่งเริ่มใช้พร้อมเพย์แรกๆ

     “สันติธาร เสถียรไทย”ประธานทีมเศรษฐกิจ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ Sea Group กล่าวว่า หากดูแนวโน้มการใช้ดิจิทัลในระยะข้างหน้า จะถอยลงหรือไม่ หรือก้าวกระโดดไปในระยะข้างหน้า จากการศึกษา พบว่า สุดท้ายจะเห็นการใช้ดิจิทัลก้าวต่อไปได้ เพราะการเติบโตผ่านดิจิทัลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เฉพาะคนอยู่บ้านมากขึ้น แต่พบว่า 80% ของคนที่มีการใช้ดิจิทัลแล้ว เมื่อมีทักษะ และเกิดการเรียนรู้ในการใช้ดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง และอยากใช้ดิจิทัลมากขึ้นไปอีก

       ดังนั้น ดิจิทัล เพย์เมนต์ ถือเป็นทั้งสะพานและประตู ด้านแรกดิจิทัล เพย์เมนต์ เปรียบเหมือนสะพานเป็นอินฟราสตรัคเจอร์สำคัญ ให้คนสะดวกสบาย ใช้งานดิจิทัลง่ายมากขึ้น ก้าวข้ามปัญหาต่างๆ ได้เร็วขึ้น ทำให้มีถนนหลายเลนขึ้น เหล่านี้ คือการต่อยอดซึ่งกันและกันเป็นวงจร

      อีกด้าน ดิจิทัล เพย์เมนต์ เปรียบเสมือนประตูทำให้ก้าวไปสู่บริการทางการเงินอื่นๆ อีกมาก สามารถต่อยอดได้ ส่งเสริมให้การเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น

     “อนุชิต อนุชิตานุกูล” อดีตที่ปรึกษา คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธ์ศาสตร์ national epayment กระทรวงการคลัง กล่าวว่า หากถามว่า ดิจิทัล เพย์เมนต์ ถึงจุดสูงสุด หรือเวอร์ชันสุดท้ายแล้วหรือไม่ เชื่อว่า ทุกอย่างไม่มีเวอร์ชั่นสุดท้าย การพัฒนายังต้องเกิดอย่างต่อเนื่อง วันนี้การพัฒนาทางการเงินเกิดขึ้นมากมาย

     และยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่มีการนำออกมาใช้ เช่น ไอดีประเภทต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ นอกเหนือจากบัญชีธนาคาร เลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์มือถือ เช่นการใช้อีเมลต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับอินฟราสตรัคเจอร์อื่นๆ ที่วางไว้ เช่น NDID และเปิดช่องให้เกิดอินโนเวชั่นต่างๆ  ดังนั้น ในอนาคต ยังมีไอดีอีกมากที่สามารถนำมาใช้ยืนยันตัวตน ที่จะเกิดการพัฒนาอีกในระยะข้างหน้า 

      เรื่องสำคัญ ประเทศไทย มียังมีดาต้าอีกมาก ที่ทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับประเทศ ดังนั้นเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือในการนำมาใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น ซึ่งหากเราสามารถ “อันล็อก” ประเด็นเหล่านี้ได้ จะมีมิติใหม่ ไม่ใช่แค่การทำนโยบายเพื่อสาธารณะ แต่เป็นการ หรือการสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อ

      “สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา”ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบชำระเงิน(ธปท.) กล่าวว่า ระยะข้างหน้า ทิศทางการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล คงไม่สามารถหยุดยั้งในการเดินต่อไปข้างหน้า วันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือ ดิจิทัลเพย์เมนต์

     แต่ระยะข้างหน้า จะมีการสนับสนุนการชำระเงินของเอสเอ็มอีมากขึ้น ผ่านพร้อมบิท และข้างหน้า สิ่งเหล่านี้ยังต้องเกิดการผลักดันขึ้นต่อเนื่อง ภายใต้การร่วมมือภาครัฐ เอกชน เพื่อให้เกิดการใช้งาน ดิจิทัล เพย์เมนต์ ร่วมกัน สุดท้ายการใช้ดาต้าร่วมกัน หวังว่าจะเกิดประโยชน์ และเกิดการต่อยอดได้ทั้งกับประชาชนทั่วไป ภาคธุรกิจ

      “วรรณา นพอาภรณ์” กรรมการผู้จัดการ ITMX กล่าวว่า ปัจจุบันนวัตกรรมการเงินเกิดขึ้นเร็วมาก และอนาคตข้างหน้า เป้าหมายสำคัญ คือ ต้องการทำให้ ดิจิทัล เพย์เมนต์ สามารถช่วยให้กิจกรรมทางการเงิน เสริมสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์

     โดยการผลักดันระบบการชำระเงินหลักๆ ก็เพื่อดูแลคอนซูมเมอร์ทั้งหมด รองรับดิจิทัลซัพพลายเชน รองรับการใช้งานระหว่างประเทศ ผ่านการเชื่อมต่อกับโลกภายนอก

     ทั้งนี้ มองว่า ไฟแนนเชียล เซอร์วิส เป็นสิ่งที่ต้องทรานส์ฟอร์เมชั่นอีกมากที่ต้องทำให้เกิดการต่อยอด ให้การให้บริการทางการเงินต่างๆ เกิดขึ้น