ธ.ก.ส.ชี้ระยะ1-2ปีความสามารถชำระหนี้เกษตรกรลด

ธ.ก.ส.ชี้ระยะ1-2ปีความสามารถชำระหนี้เกษตรกรลด

ธ.ก.ส.ชี้ในระยะ 1-2 ปีนี้ความสามารถชำระหนี้ของเกษตรกรจะลดลง หลังได้รับผลกระทบทั้งจากสถานการณ์โควิดและปัจจัยด้านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เผยขณะนี้ระดับหนี้เสียพุ่งถึง 10% แต่จะคุมให้อยู่ในระดับไม่เกิน 9% พร้อมช่วยเหลือลูกหนี้และตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ให้นานที่สุด

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ประเมินว่า ในระยะ 1-2 ปี เกษตรกรอาจจะมีการชำระหนี้น้อยลง แต่ในอนาคตเกษตรกรมีโอกาสที่จะมีศักยภาพมากขึ้น แต่เราก็จะเข้าไปดูแลลูกหนี้ทั้งผ่านโครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่นยืน ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่อยากเห็นสถาบันการเงินเข้าไปช่วยเหลือลูกค้า  และธ.ก.ส.ก็จะมีการสร้างอาชีพเสริมให้กับเกษตรกร โดยต้องเข้าไปดูศักยภาพของแต่ละชุมชน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ขณะนี้ ระดับหนี้เสียของธนาคารได้ปรับตัวสูงขึ้น โดยในเดือนมิ.ย.-ก.ค.อยู่ที่ระดับ 10% เป็นผลจากสถานการณ์โควิด ซึ่งกระทบต่อรายได้ลดลง บวกกับ ผลกระทบจากปัจจัยภายนอก ทำให้ต้นทุนเกษตรกรสูงขึ้น ทั้งค่าปัจจัยการผลิจ น้ำมันเชื้อเพลิง และ ปัญหาเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ดี หากดูในแง่หนี้เสียสินเชื่อภาคการเกษตรของสถาบันการเงินอื่นตัวเลขก็ใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ หากพิจารณาแนวโน้มหนี้เสียที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน จะเห็นว่า หนี้เสียมีแนวโน้มลดลงตามลำดับ สะท้อนจากการแบ่งกลุ่มประเมินศักยภาพในการชำระหนี้ตามกลุ่มเขียว เหลือ แดง ยังอยู่ในสัดส่วนปกติ ถือว่า ยังสามารถบริหารจัดการได้

“เราพักหนี้นานกว่า 2 ปี ฉะนั้น เมื่อจบมาตรการแล้วก็ต้องให้เวลาลูกค้าเกษตรกรระยะเวลาหนึ่ง เนื่องจาก ช่วงที่เกษตรกรมีรายได้อยู่ในช่วงไตรมาส 3 – ไตรมาส 4 ของปีบัญชี 2565 หรือช่วงเดือนธ.ค.65-มี.ค.66 ซึ่งก็จะเห็นว่า เกษตรกรมีศักยภาพหรือไม่”

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.คาดว่าในปีบัญชี 2565 นี้ หนี้เสียจะอยู่ที่ระดับ 7-8.99% ยอมรับว่า อาจจะเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ดี ธนาคารก็มีการตั้งสำรองรองรับไว้พอสมควร ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4 แสนล้านบาท และธนาคารก็มีเป้าหมายในการตั้งสำรองเชิงคุณภาพและสำรองทั่วไปไว้ทุกปี เนื่องจากธ.ก.ส.ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว แต่หากถามว่าปีนี้จะเพิ่มการตั้งสำรองขึ้นอีกเท่าไหร่นั้น จะติดตามสถานการณ์หนี้ของเกษตรกรที่จะเห็นตัวเลขแท้จริงในช่วงไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 ของปีบัญชี 2565 นี้ 

สำหรับการดูแลลูกหนี้นั้น เราจะมีเครื่องมือเข้าไปช่วยให้สามารถชำระหนี้เองได้ ด้วยการลด และคืนดอกเบี้ยให้ ส่วนเกษตรกรที่มีศักยภาพด้อยลงมาก็จะมีการยืดอายุหนี้ออกไปให้  จากเดิมอาจจะมีการเข้ามาทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือหากชำระดอกเบี้ยมา ธ.ก.ส.จะนำไปตัดเงินต้น โดยการเอาดอกเบี้ยบางส่วนไปวางไว้ในงวดท้ายๆ ส่วนกรณีเป็นหนี้ค้างชำระ หากเข้ามาชำระหนี้ และมีวินัยดี ธ.ก.ส.จะยกดอกเบี้ยให้ 30-50%

นอกจากนี้ ยืนยันว่าธนาคารจะตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้นานที่สุด เพื่อบรรเทาภาระการชำระหนี้ของเกษตรกร ส่วนการปรับเพิ่มดอกเบี้ยเงินฝากนั้น ขณะนี้ดอกเบี้ยเงินฝาก 12 เดือนของธนาคารยังสูงกว่าสถาบันการเงินหลายแห่ง

ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส.ยังเดินหน้าที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง โดยคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ได้เห็นชอบขยายเวลาสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย เพื่อดูแลกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท  ดอกเบี้ย 0.01% หรือดอกเบี้ยล้านละร้อยบาท ออกไปอีก 2-3 ปี เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับเกษตรกร