ภาคไฟแนนซ์เร่งกลไก ESG ธุรกิจโตบนฐานการเงินสีเขียว
แบงก์ชาติ ร่วมผลักดันภาคการเงินสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม หวังเร่งภาคการเงินมีมาตรฐานใกล้เคียงกัน ด้านสมาคมธนาคารไทย ประกาศ6เจตนารมณ์ เดินหน้า ESG
“ความยั่งยืน” กำลังเป็นดีมานด์ใหม่ในภาคธุรกิจที่ได้รับแรงขับเคลื่อนมาจากผู้บริโภค และการตระหนักถึงความอยู่รอดแบบองค์รวมที่ไม่ใช่แค่ภาคธุรกิจเหมือนทฤษฎีการค้ายุคเก่า
โดยความยั่งยืนนี้ครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล หรือที่เรียกกันว่า ESG (Environment, Social, Governance)
สถาบันการเงินในฐานะหน่วยหนึ่งของภาคธุรกิจโดยภาคธนาคารพาณิชย์ไทย ภายใต้สมาคมธนาคารไทย ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า สิ่งที่แบงก์ชาติอยากเห็นคือ สถาบันการเงินมีการผนวกเรื่อง ESG เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจและดำเนินธุรกิจอย่างเป็นระบบ และสถาบันการเงินมีผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ที่จะเอื้อให้ภาคธุรกิจปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างเท่าทัน ขณะเดียวกันก็สามารถบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้น โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน
นำมาสู่ การออก “ทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม” ภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย เพื่อให้เห็นแนวทางของ ธปท. ที่จะสนับสนุนให้ภาคการเงินพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม และตอบโจทย์การปรับตัวของระบบเศรษฐกิจได้
ดังนั้น ธปท.จึงเร่ง กำหนดนิยามหรือจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่า taxonomy เพื่อสร้างความเข้าใจและมาตรฐานการประเมินกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ตรงกัน โดยจะเริ่มที่ภาคพลังงาน ขนส่ง
ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จต้นปี 2566 รวมถึงการพัฒนาข้อมูล และเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้มาตรฐานมากขึ้น
ระยะต่อไป ธปท.อยากเห็น ธนาคารพาณิชย์มีโครงสร้างการบริหารจัดการภายในที่จะทำให้การดำเนินธุรกิจต้องคำนึงถึงความยั่งยืนอย่างเป็นระบบ มีผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์และสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจปรับตัว รวมทั้งคำนึงถึงความยั่งยืนของลูกค้าหรือลูกหนี้อย่างเป็นรูปธรรม
ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการสมาคมธนาคารไทย CEO Co-sponsor ด้าน Sustainability และประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทยจึงประกาศ “คำมั่น” ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยความโปร่งใสและยืดหยุ่น
เพื่อให้การทำงานระหว่างธนาคารสมาชิกสอดประสานบนมาตรฐานเดียวกันภายใต้หลักการ “ปฏิบัติตามให้มากที่สุดหรือชี้แจงเหตุผลในกรณีไม่สามารถปฏิบัติได้”
โดยระยะข้างหน้า จะมีการจัดทำคู่มือที่ระบุรายละเอียดการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง กรอบเวลา และตัวชี้วัดผลการดำเนินงานสำหรับแต่ละองค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลต่อไป
“ในฐานะตัวกลางทางการเงินที่มีความรับผิดชอบ สมาคมธนาคารไทยตระหนักถึงความเร่งด่วนและความรุนแรงของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการขับเคลื่อนประเทศสู่ความยั่งยืน ตามเจตนารมณ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลนี้”