พันธมิตร “ซอฟต์พาวเวอร์” ช่องใหม่ดันไทยไปถึงฝัน
ปูซานตั้งเป้าเป็นเมืองอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ จะได้ใช้ความร่วมมือด้านการค้าผ่านซอฟต์พาวเวอร์อย่างเป็นรูปธรรม
Soft Power กำลังถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่มีความเข้าใจและรับรู้เป็นการทั่วไปถึงพลังทางเศรษฐกิจของสินค้าใหม่ที่เรียกว่า Soft Power นี้
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยข้อมูลว่า ตั้งแต่เดือน ต.ค.2564 ถึง ก.พ.2565 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรมด้าน Soft Power แล้ว 659 ราย สร้างมูลค่าการซื้อขายกว่า 941 ล้านบาท คิดเป็น 25.91% ของมูลค่าเป้าหมาย 3,632 ล้านบาท ที่ตั้งไว้ในปี 2565
ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าตามแผนการขับเคลื่อน Soft Power ได้แบ่งออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่ 1.อาหารไทย 2.สินค้าสร้างสรรค์อัตลักษณ์ไทย 3.ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ เช่น ภาพยนตร์ เกม แอนิเมชัน 4.ธุรกิจ Wellness Medical Services (WMS) เช่น สมุนไพร สปา สุขภาพความงาม 5.แบรนด์ประเทศไทย และ 6.ผู้ประกอบการยุคใหม่
ทั้งนี้ ได้กำหนด โครงการสนับสนุนไว้ถึง 32 โครงการ งบประมาณ 149.3812 ล้านบาท เป้าหมายมูลค่าการค้า 3,632 ล้านบาท รูปแบบการขับเคลื่อน จะดำเนินการโดย 1.บ่มเพาะผู้ประกอบการยุคใหม่ให้มี Mindset ด้าน Soft Power ปลูกฝังแนวคิดให้กับผู้ประกอบการและบุคลากรภาครัฐในการนำ Soft Power ไปปรับใช้
2.พัฒนาสินค้าสร้างสรรค์อัตลักษณ์ไทย โดยการผลักดันการพัฒนาสินค้าและบริการโดยสอดแทรกความเป็นไทยควบคู่กับการยกระดับคุณภาพของสินค้าและบริการ 3.ขยายตลาดสินค้าอาหารไทย อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์และธุรกิจบริการ WMS โดยจะส่งเสริมการขายในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ และ 4.ประชาสัมพันธ์และสร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์ประเทศไทย ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์ประเทศไทยผ่านการรับรองสินค้าและบริการเป็นเอกลักษณ์และได้มาตรฐาน
สำหรับเเรงขับเคลื่อนล่าสุด ได้เกิดขึ้นในโอกาสพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจด้านการค้า หรือมินิเอฟทีเอ ระหว่างกรม ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (DITP) และ Busan Economic Promotion Agency (BEPA) ประเทศเกาหลี โดยมีอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นผู้ลงนาม ฝ่ายไทย และ จิน ยางฮยอน ประธาน BEPA เป็นผู้ลงนามฝ่ายประเทศเกาหลี ความร่วมมือในครั้งนี้กับประเทศเกาหลีที่ได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ดำเนินนโยบายการค้าระหว่าง ประเทศเชิงรุก โดยเร่งรัดการเจรจาทุกระดับเพื่อขยายการค้าของไทยไปยังตลาดโลกในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะ ความร่วมมือกับประเทศพันธมิตรทั้งเมืองหลักและเมืองรองที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง
“ได้ตั้งเป้าว่าภายหลังการลงนามในครั้งนี้ มูลค่าการส่งออกจากไทยไปเกาหลีจะเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี (นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 ถึง พ.ศ. 2567) พร้อมทั้งได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เร่งผลักดันซอฟพาวเวอร์ของไทย ที่มีจุดเด่นในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะ และวัฒนธรรม โดยปูซานตั้งเป้าเป็นเมืองอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ จะมีการจัดงานภาพยนตร์นานาชาติและงานแสดงสินค้าเกมส์ที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลี เป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองประเทศจะได้ใช้ความร่วมมือด้านการค้าผ่านซอฟพาวเวอร์อย่างเป็นรูปธรรม”
มูน ซึง ฮย็อน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อ ปี2562 มี ชาวเกาหลีกว่า 1.9 ล้านคนเดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยและปี 2564 มูลค่าการค้าสองประเทศสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่ 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์ จึงเชื่อว่ามินิ เอฟทีเอ นี้จะเป็นบันใดอีกขั้นหนึ่งในการยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศให้สูงขึ้น เพราะนครปูซานนั้นเป็นเมืองใหญ่อันดับที่ 2 ของประเทศเกาหลี อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ ทําให้ปูซานมีโครงสร้าง พื้นฐานที่ดีเยี่ยม นอกจากนี้นครปูซานกับกรุงเทพ ยังได้ตกลงเป็นเมืองพี่เมืองน้องกันตั้งแต่ปี 2554
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมของไทย ที่จะได้รับโอกาสทางการค้ามากยิ่งขึ้น หากพิจารณาจากข้อมูลการค้าจะพบว่า ปี 2564 เกาหลีเป็นตลาดส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ อันดับ 2 ของไทย มูลค่า 2,900 ล้านบาท และเป็นตลาดส่งออก ผลิตภัณฑ์ยาง อันดับ 5 ของไทย มูลค่า 2,000 ล้านบาท อีกทั้งการส่งออกผลไม้ไทยไป เกาหลี ยังเป็นอันดับ 5 มีมูลค่า 1,300 ล้านบาท เป็นต้น
ส่วนสินค้าอื่น ๆ ที่ขยายตัวได้ดี เช่น อาหาร น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และสินค้า เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น รวมถึงขยายความร่วมมือด้านสินค้าอาหารทะเล ภาพยนตร์ เกมส์ ไม้และชิ้นส่วน เพิ่มขึ้น โดยเน้นการทำออนไลน์บิสซิเนสและเบกกิ้งส่งความรู้ด้านการค้า เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ และทำให้ประกอบการไทยก้าวสู่การค้าสากลได้อย่างยั่งยืน