เปิดเหตุผล “ราคาน้ำมันโลกลง” แต่ทำไม “ดีเซล” ไทยยังคงราคาเดิม

เปิดเหตุผล “ราคาน้ำมันโลกลง” แต่ทำไม “ดีเซล” ไทยยังคงราคาเดิม

เป็นที่ทราบกันว่า ราคาน้ำมันตลาดโลกเริ่มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อช่วงปลายเดือนก.ค. 2565 ที่ผ่านมา แต่หลายคนอาจจะเห็นว่าราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินมีขยับลดลงมาในระดับหนึ่ง แต่ทำไมราคาน้ำมันดีเซลทำไมยังคงเดิม

รายงานข่าวจากสำนักงานบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ระบุว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้ประกาศเรียกเก็บอัตราเงินน้ำมันดีเซลเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค. 2565 ที่ 0.95 บาทต่อลิตร และวันที่ 11 ส.ค. 2565 ได้ขยับอัตราเรียกเก็บมาอยู่ที่ 1.20 บาทต่อลิต จากเดิมกองทุนน้ำมันค่อย ๆ ปรับลดเงินชดเชยลงมาจนถึงระดับ 0.24 บาทต่อลิตรเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2565 ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากราคาน้ำมันตลาดโลกได้มีการปรับลดลงมาเรื่อย ๆ แต่ กบน. ยังคงยืนราคาดีเซลที่ 35 บาทต่อลิตร

อย่างไรก็ตาม การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันดังกล่าว ก็เพื่อนำมาบริหารสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมัน ณ วันที่ 7 ส.ค. 2565 มีฐานะสุทธิติดลบ 117,229 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • บัญชีน้ำมันติดลบ 76,784 ล้านบาท
  • บัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 40,445 ล้านบาท
  • กระแสเงินสดจากบัญชีเงินฝากธนาคาร 1,225 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การที่กบน. เก็บเงินเข้าบัญชีดีเซลก็เพื่อลดค่าใช้จ่ายและพยุงบัญชีที่ติดลบกว่า 1 แสนล้านบาทดังกล่าว เพราะขณะนี้ กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงาน ยังไม่สามารถหาแหล่งเงินกู้หรือเงินชดเชยจากส่วนไหนเพื่อมาเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนได้ ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันตลาดโลกปรับลดลง กองทุนน้ำมัน จึงต้องเก็บเงินส่วนดังกล่าวเช้าเสริมสภาพคล่อง ในขณะที่ราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินมีการขยับลดลงเพราะที่ผ่านมากองทุนน้ำมันใช้เงินอุ้มราคาดีเซลเป็นหลักในระดับสูงถึงลิตรละ 14 บาท ใช้เงินวันละเกือบ 1,000 ล้านบาท    

“หากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง เราก็อาจจะเห็นราคาน้ำมันดีเซลหน้าสถานีบริการน้ำมันลดลงต่ำกว่า 35 บาทต่อลิตร แต่อย่างที่บอกก็ต้องดูราคาตลาดโลกและดูสถานกองทุนน้ำมันประกอบร่วมกัน เพราะการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันก็เป็นส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งก็ยังต้องพยุงราคา การจะลดลงถือเป็นเป็นที่ตั้งไว้” แหล่งข่าว กล่าว

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการ สกนช. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2565 กบน. ได้พิจารณาทบทวนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลประจำสัปดาห์ โดยมีมติให้คงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ลิตรละ 34.94 บาท โดยเป็นการตรึงราคาต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 8 ทั้งนี้เพื่อมีส่วนช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ตาม

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซล (GAS OIL) ลดลง 10.52 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2565 ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 134.86 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และลดลงเป็น 124.34 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2565 ด้วยปัจจัยหลัก ๆ คือ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และในทวีปยุโรป

นอกจากนี้ ยังรวมถึงภาวะหนี้สินของประเทศตลาดเกิดใหม่ต่างๆ และการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการนำเข้าน้ำมันมากที่สุดในโลก รวมทั้งสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันที่ชะลอตัวลง

ทั้งนี้ ในด้านราคาน้ำมันดีเซล มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2565 ได้วางมาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยมีมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลร้อยละ 50 ในส่วนที่ราคาขายสูงกว่า 35 บาทต่อลิตรเป็นเวลา 3 เดือน (ก.ค.-ก.ย.2565)

ด้านทีมทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาล่าสุดลดลงกว่า  5-8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัว โดยกำลังซื้อของประชาชนลดลงจากสภาวะเงินเฟ้อ อาจทำให้อุปสงค์น้ำมันชะลอตัว ขณะที่ธนาคารกลางทั่วโลกต่างเร่งเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดแรงกดดันจากสภาวะเงินเฟ้อข้างต้น 

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานยอดขาดดุลการค้า (Trade Deficit) ในเดือน มิ.ย. 65 ลดลง 6.2% MoM อยู่ที่ 79,600 ล้านดอลลาร์ ขณะที่หน่วยงานศุลกากรของจีน (General Administration of Customs) รายงานยอดดุลการค้า (Trade Balance) ในเดือน ก.ค. 65 เกินดุลเพิ่มขึ้น 3,320 ล้านดอลลาร์ MoM อยู่ที่ 1.01 แสนล้านดอลลาร์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ท่ามกลางความตึงเครียดทางการเมืองโลก โดยเฉพาะระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในประเด็นไต้หวัน เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมากองทัพจีนแถลงว่าจะซ้อมรบทางฝั่งตะวันออกทะเลเหลืองช่วง 7-15 ส.ค. 2565 และทะเล Bohai ช่วง 8 ส.ค.- 8 ก.ย. 2565 หลังจากซ้อมรบครั้งใหญ่รอบไต้หวันช่วง 4-7 ส.ค. 2565 โดยใช้กระสุนจริง ตอบโต้ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ Nancy Pelosi ไปเยือนไต้หวัน เมื่อ 2 ส.ค. 2565

โดยปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

๐ วันที่ 4 ส.ค 2565 คณะกรรมการนโยบายการเงินของอังกฤษ มีมติให้ธนาคารกลาง (Bank of England) ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% อยู่ที่ 1.75%

๐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของลิเบีย นาย Mohamed Oun ระบุการผลิตน้ำมันที่กลับมาดำเนินการหลังเหตุประท้วงเพิ่มสู่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากต้นเดือน ก.ค. 2565 ที่ 400,000 บาร์เรลต่อวัน

๐ Reuters รายงานรัสเซียผลิตน้ำมันดิบในเดือน มิ.ย. 2565 เพิ่มขึ้น 510 KBD MoM มาอยู่ที่ 9.78 MMBD

๐ วันที่ 3 ส.ค. 2565 ที่ประชุม Joint Ministerial Monitoring Committee (JMMC) ของกลุ่ม OPEC+ มีมติเพิ่มโควตาการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ก.ย. 2565 ที่ 101,000 บาร์เรลต่อวัน ทำให้โควตารวมอยู่ที่ 43.96 ล้านบาร์เรลต่อวัน

๐ EIA ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุด 29 ก.ค. 2565 เพิ่มขึ้น 4.5 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 426.6 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ และอุปสงค์ Gasoline ลดลง 700,000 บาร์เรลต่อวัน จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 8.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

 

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

๐ กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) สัปดาห์สิ้นสุด 29 ก.ค. 65 ลดลง 4.6 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 469.9 MMB ต่ำสุดในรอบ 37 ปี

๐ Caspian Pipeline Consortium (CPC) ในคาซัคสถาน ซึ่งดำเนินการท่อขนส่งน้ำมันดิบ (1.6 MMBD) ที่เชื่อมกับท่าเรือส่งออก Novorossiysk ของรัสเซียในทะเลดำ แถลงอุปทานในระบบลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และ Reuters รายงานเมื่อ 3 ส.ค. 2565 ว่าแหล่ง Kashagan (400,000 บาร์เรลต่อวัน) ผลิตน้ำมันลดลง 80% อยู่ที่ 27,000 บาร์เรลต่อวัน จากเหตุขัดข้องทางเทคนิค

๐ กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ก.ค. 2565 เพิ่มขึ้น 528,000 ราย จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่อัตราว่างงาน (Unemployment Rate) ลดลง 0.1% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 3.5% ต่ำสุดตั้งแต่ ก.พ. 2563