ประเทศไทยอยู่ตรงไหน ในภาพการลงทุนจากต่างประเทศ
การลงทุนจากต่างประเทศเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทยมาหลายทศวรรษ ในวันนี้ไทยต้องการเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูง การลงทุนจากต่างประเทศยังสำคัญ แล้วปัจจุบันภาพการลงทุนจากต่างประเทศเป็นเช่นไร
มาดูภาพเปรียบเทียบมูลค่าเป็นดอลลาร์ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของไทยกับประเทศเอเชีย จากฐานข้อมูลธนาคารพัฒนาเอเชีย พบว่าเส้นกราฟของไทยลดลงตั้งแต่ช่วงปี 2559 เป็นต้นมา
หากถามต่อว่า “ทำไม” การลงทุนจากต่างประเทศแผ่วลงที่ผ่านมา ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “อะไร” คือปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินของนักลงทุนต่างชาติ
จากรายงาน Global Investment Competitiveness 2017/2018 ของธนาคารโลก สำรวจปัจจัยที่กระทบการตัดสินใจลงทุนในประเทศกำลังพัฒนา โดยสัมภาษณ์ผู้บริหารบริษัทข้ามชาติ 754 แห่ง พบว่าปัจจัยสำคัญมากต่อการตัดสินใจ 5 อันดับแรก ประกอบด้วย
1.ความมั่นคงและปลอดภัยทางการเมือง 2.กฎหมายและกฎระเบียบ 3.ขนาดของตลาดภายในประเทศ 4.เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยน 5.แรงงานทักษะสูง
ขณะที่ปัจจัยสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำคัญเพียงปานกลาง โดยท้ายที่สุดรายงานนี้สรุปว่าการตัดสินใจลงทุนอยู่บนพื้นฐานการเลือกประกอบกิจการในที่ที่ให้ผลตอบแทนดีและเสี่ยงต่ำ
หากมองเฉพาะเจาะจงกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และมูลค่าเพิ่มสูง ปัจจัยที่กระทบการตัดสินใจลงทุนข้ามประเทศไม่ต่างไปจากที่รายงานธนาคารโลกวิเคราะห์นัก การลงทุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูงมักมีมูลค่าการลงทุนสูง
ดังนั้น ปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจทางธุรกิจ คือ ความคุ้มทุนและการลดความเสี่ยง บทความวิชาการที่ศึกษาการตัดสินใจลงทุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงจำนวนมาก บ่งชี้ว่าปัจจัยด้านความมั่นคงปลอดภัยทางการเมืองสำคัญสูง
ส่วนปัจจัยกฎหมายกฎระเบียบสำคัญมาก ได้แก่ กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการค้าเสรีและการส่งออกสินค้าบริการ และมีปัจจัยเพิ่มเข้ามา คือ นโยบายรัฐที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมนั้น รวมถึงความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ประเด็นน่าสนใจอีกประการ คือ มาตรการจูงใจทางการเงินที่กินความหมายกว้างกว่าสิทธิประโยขน์ภาษี โดยรวมถึงการสนับสนุนอื่นจากรัฐที่ทำให้ต้นทุนการลงทุนและการประกอบการลดลง
หันมาดูไทยว่าปัจจัยที่การศึกษาต่างๆบ่งชี้ มีผลต่อการตัดสินใจ “มาหรือไม่มา” ลงทุนในไทยจริงหรือไม่ จากประสบการณ์ที่พบนักลงทุนต่างประเทศหลายปีเห็นเป็นจริงเช่นกัน โดยประเด็นส่วนใหญ่ที่นักลงทุนยกขึ้นหารือสรุปดังนี้
กำลังคน ด้านคุณภาพและปริมาณเป็นประเด็นคำถามแรกๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ว่าไทยมีกำลังคนที่มีคุณสมบัติที่ต้องการหรือไม่ จำนวนเท่าใด และเตรียมพร้อมพัฒนากำลังคนอย่างไร
ความชัดเจนและต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาล ในการส่งเสริมสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมนั้นๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานทดแทน
สำหรับอุตสาหกรรมที่มองไทยเป็นฐานส่งออก มักประทับใจโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งที่มีอยู่และที่กำลังพัฒนาแต่มีคำถามเกี่ยวกับความคล่องตัวของกฎระเบียบและการปฏิบัติจริงเสมอ
อุตสาหกรรมใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีชีวภาพ พบว่า การมีกฎระเบียบเฉพาะชัดเจนเป็นปัจจัยสำคัญมาก แม้ดูเหมือนไม่เอื้ออำนวย แต่นักลงทุนเห็นว่ายังดีกว่าการไม่มีกฎระเบียบรองรับ หรือการที่กฎกติกา ไม่ชัดเจน หรือใช้ดุลพินิจมาก
โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและวิทยาศาสตร์ มีส่วนดึงความสนใจจากอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงเป็นอย่างมาก และนักลงทุนต่างชาติไม่น้อยสนใจร่วมทำงานวิจัยกับองค์กรต่างๆ ของไทยที่มีความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม
การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เป็นสิ่งที่นักลงทุนสนใจและพอใจได้รับแต่เป็นปัจจัยที่ให้น้ำหนักหลังจากพิจารณาปัจจัยอื่น
ดังนี้แล้วขอถอดบทเรียนว่าหากไทยต้องการขับเคลื่อนการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาประเทศยั่งยืนต้องจริงจังและจริงใจกับ ‘ease of doing business’ การปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบตลอดจนแนวปฏิบัติให้คล่องตัวและเป็นสากล
รวมถึงมีความชัดเจนต่อเนื่องกับนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำคัญที่สุดคือการวางแผนลงทุนพัฒนากำลังคนจริงจัง โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและวิทยาศาสตร์ ให้ไทยทันโลกและตอบสนองปัจจัยที่นักลงทุนต้องการ