เกษตรกรหวั่นนำเข้า ‘กุ้ง’ กระทบกลไกตลาด
เปิดตัว “Shrimp Board” หรือเรียกง่ายๆว่า “บอร์ดกุ้ง” ที่เพิ่งจะตั้งขึ้นมาครั้งแรกในรอบ 30 ปีด้วยการปลดล็อกนำเข้ากุ้งจากอินเดียและเอกวาดอร์จำนวน 10,501 ตันเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบป้อนโรงงานอุตสาหกรรม
เปิดตัว “Shrimp Board” หรือเรียกง่ายๆว่า “บอร์ดกุ้ง” ที่เพิ่งจะตั้งขึ้นมาครั้งแรกในรอบ 30 ปีด้วยการปลดล็อกนำเข้ากุ้งจากอินเดียและเอกวาดอร์จำนวน 10,501 ตันเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบป้อนโรงงานอุตสาหกรรม แต่อีกมุมหนึ่งการนำเข้ากุ้งครั้งนี้มีการตั้งข้อสงสัยว่าจะส่งผลกระทบต่อกลไกราคากุ้งในประเทศหรือไม่ ติดตามจากรายงานคุณสุพิชฌาย์ รัตนะ
คุณภาพกุ้งไทยในสายตาตลาดโลก..กุ้งไทยคือสินค้าเกรดเอ ด้วยเหตุนี้ที่ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต่างกังวลใจว่าการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศกว่า 1หมื่นตันจะส่งผลกระทบต่อกลไกราคากุ้งภายในประเทศหรือไม่ และจะเข้าข่ายสร้างปัญหาใหม่ที่จะได้ไม่คุ้มเสีย
บ่อกุ้งขนาด2 ไร่ครึ่งคาดว่ามีกุ้งประมาณ 7,000กิโลกรัม ที่ใช้เวลาเลี้ยงครบ 65 วัน จนกุ้งโตได้ขนาดไซด์ 55 ตัว1กิโลกรัมบ่อนี้ เป็นของ “พิเชษฐ์ พลายด้วง” 1ในเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งหมู่ที่ 4 ต.ท่าบอน อ.ระโนด จ.สงขลา ที่พร้อมจะขายกุ้งในราคาตลาดคือกิโลกรัมละ 186 บาท ซึ่งเป็นราคาที่พึงพอใจระดับหนึ่งแล้ว กระทั่งมีความเคลื่อนไหวจาก “Shrimp Board” หรือ “บอร์ดกุ้ง” ที่จะมีการนำเข้ากุ้งจากอินเดียและเอกวาดอร์กว่า 1 หมื่นตันที่ยอมรับว่าสร้างความกังวลใจว่าอาจกระทบต่อกลไกราคากุ้งในประเทศหรือไม่
ในขณะที่มุมมองของแกนนำเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสงขลาที่เป็น 1 ในสมาชิก “บอร์ดกุ้ง” ยอมรับว่า ปัญหาผลผลิตกุ้งในประเทศที่มีประมาณ 2แสน7หมื่นตันไม่เพียงพอต่อความต้องการในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายๆอย่าง โดยเฉพาะ โรคระบาดกุ้งที่แก้ไม่หาย ทำให้ผู้เลี้ยงลดลง ในขณะที่เอกวาดอร์ อินเดีย เวียดนามเมื่อรวมผลผลิตกุ้งจะได้ถึง2 ล้าน7แสนตันหรือสิบเท่าของไทย ซึ่งการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศจึงเป็น 1ในทางออกเบื้องต้นที่ช่วยคลี่คลายสถานการณ์นี้ แต่ก็ไม่ใช่ทางออกของปัญหาทั้งระบบ
สำหรับผู้ประกอบการหรือภาคอุตสาหกรรมที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องในรูปของอาหารทะเลแช่แข็งนั้น การหาวัตถุดิบมาป้อนโรงงานให้สายพานการผลิตเดินหน้าได้ต่อเนื่อง น่าจะตอบโจทย์ความต้องการที่ตรงประเด็นในแง่มุมของการแข่งขันในตลาดโลก และเพื่อความอยู่รอดของของอุตสาหกรรมกุ้งของไทยที่อยู่ในภาวะขาดแคลนวัตถุดิบ
จะด้วยเหตุผลและข้อตกลงใดๆก็ตาม สำหรับการนำเข้ากุ้งทะเลจากต่างประเทศรอบนี้ จะเป็นการยกระดับกุ้งไทยก้าวสู่การแข่งขันในตลาดโลกที่แข็งแกร่งขึ้น หรือจะเข้ามาตีตลาดกุ้งไทยภายในประเทศ ผลลัพท์ที่จะเกิดขึ้นจะเป็นบทพิสูจน์ฝีมือของคณะกรรมการ “Shrimp Board” หรือเรียกง่ายๆว่า “บอร์ดกุ้ง” นั่นเอง
สุพิชฌาย์ รัตนะ เนชั่นทีวี ศูนย์ข่าวภาคใต้ รายงาน