“สุพัฒนพงษ์” รับกฎหมายกองทุนน้ำมันป็นเหตุ "แบงก์" ขาดความมั่นใจปล่อยกู้
“สุพัฒนพงษ์” รับกฎหมายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่เป็นเหตุ ธนาคารไม่มั่นใจการค้ำประกันของกระทรวงการคลัง ย้ำ ทำทุกวิถีทาง เพื่อเสริมสภาพคล่อง-อุ้มราคาดีเซลต่อ มั่นใจการกู้เงินครั้งนี้ผ่านฉลุย วางกรอบการกู้เงินเป็นก้อน ไม่กู้ครั้งเดียว 1.5 แสนล้าน
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หารือวาระลับ และมีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... และการกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กรอบวงเงิน 1.5 แสนล้าน เป็นที่เรียบร้อย โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างนำเสนอสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณา ซึ่งการขออำนาจกระทรวงการคลังครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสถาบันทางการเงินด้วย
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องหารืออย่างเข้มข้น และเร่งหามาตรการช่วยเหลือ โดยการขออนุมัติครม. ในครั้งนี้ ถือเป็นวาระลับ และขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ และเป็นไปตามปกติของวิธีการเสนอกฎหมายที่เป็น พ.ร.ก. ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ก็มีผลบังคับใช้ โดยสามารถกู้เงินได้ทันที ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ก่อนหน้านี้กองทุนน้ำมันเมื่อติดลบก็สามารถออกเงินกู้ ตราสารหนี้ต่าง ๆ ได้ โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแล และเมื่อมีการเปลี่ยนพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 กฎหมายหรือการกำกับดูแลบางตัวก็ไม่ตามมาด้วย
“อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เมื่อยังอยู่ในสมัยประชุมสามัญของรัฐสภา ก็ต้องนำเสนอเข้าไปให้สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา พิจารณาด้วย ซึ่งเชื่อว่า การดำเนินการทั้งหมดนี้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร”
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า การหาเงินมาช่วยเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมัน ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน และตอนนี้กำลังจะเข้าสู่ฤดูหนาวในต่างประเทศแล้ว ไม่รู้ว่าสถานการณ์ราคาจะเป็นยังไงต่อ ดังนั้นเพื่อให้กองทุนน้ำมันได้ดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ของตัวเองในการช่วยเหลือดูแลประชาชนได้ต่อไป ก็ต้องเร่งทำเรื่องนี้โดยเร็ว ซึ่งที่ผ่านมาก็พยายามทุกวิถีทางแล้วในการสร้างสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมัน จนมาเป็นพ.ร.ก.ฉบับนี้
สำหรับการกู้เงินของกองทุนน้ำมัน จะกู้เต็มกรอบวงเงินที่ผ่านครม. วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท หรือไม่นั้น เรื่องนี้เป็นรายละเอียด แถมเป็นวาระลับที่คุยในครม. คงบอกทั้งหมดไม่ได้ แต่เชื่อว่า การกู้เงินคงไม่ได้กู้เงินทันทีเลยในครั้งเดียว ซึ่งกองทุนน้ำมันจะมีแผนการกู้เงินทีละก้อนอยู่แล้ว ซึ่งต้องทยอยกู้ตามความเหมาะสม เพื่อใช้ทั้งหนี้เดิม และสำรองเอาไว้ใช้ในช่วงต่อไป
ส่วนวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท จะเพียงพอต่อการกู้วิกฤตกองทุนน้ำมันได้จนสุดทางหรือไม่นั้น ต้องดูกรอบวินัยทางการเงินการคลัง ไม่ให้เกินกรอบ 70% ต่อ GDP ด้วย ซึ่งตัวเลขนี้ เป็นตัวเลขที่กระทรวงการคลังประเมินออกมาแล้วว่า สามารถดำเนินการได้โดยที่ไม่กระทบกับวินัยการเงินการคลัง
นอกจากนี้ แม้ว่ากองทุนน้ำมันจะสามารถกู้เงินได้เอง โดยไม่มีใครมาช่วยสนับสนุน หรือมาค้ำประกัน การกู้เงินของกองทุนน้ำมันทั้งหมด ก็ถือเป็นหนี้สาธารณะ จะไปซ่อนหรือไปหลบไม่ได้ ดังนั้น จึงอยากให้ทุกคนสบายใจได้ว่า กระทรวงการคลังได้ดูแลเรื่องนี้อย่างดี และคำนวณตัวเลขออกมาเหมาะสม
“ในรายละเอียดเบื้องต้นของการกู้เงิน ล่าสุด กระทรวงการคลัง ได้สรุปออกมาแล้วแต่ยังไม่สามารถบอกได้ ส่วนจะเป็นการกู้สถาบันการเงินในประเทศหรือต่างประเทศนั้น เป็นไปได้หมด เพื่อให้ได้เงินมาอย่างรวดเร็วและเกิดความคล่องตัวมากที่สุด”
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับการเสนอให้เก็บภาษีลาภลอยจากโรงกลั่นน้ำมันนั้น หากย้อนไปดูข้อมูลในอดีตก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้เวลา อีกทั้ง ยังมีเกณฑ์ต่าง ๆ ค่อนข้างมาก ส่วนการเจรจากับผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมัน ก็ยังมีการหารืออยู่ แต่ปัจจุบันค่าการกลั่นก็ลดลงมาอยู่ประมาณลิตรละ 2 บาทกว่า ๆ เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญในยามวิกฤตครั้งนี้นั้น รัฐบาลจะต้องประคับประคองให้ผ่านพ้นไปให้ได้ และรักษาวินัยทางการเงินการคลังให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งวิกฤตนี้ ถือว่าท้าทายการทำงานของรัฐบาล เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับความไม่แน่นอน อะไรจะเกิดเมื่อไหร่ก็ได้ โดยเฉพาะเรื่องของราคาพลังงานที่ผันผวน