เจโทร มั่นใจ RCEP สร้างโอกาสเพิ่มทางเลือกการค้า ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ
เวทีสัมมนาการใช้ประโยชน์จาก RCEP หนุนใช้สิทธิประโยชน์จาก RCEP เพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนอย่าง เผย ฮ่องกง ชิลี สนใจสมัครเป็นสมาชิก ด้านประธานเจโทร ชี้ RCEP แก้ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน เพิ่มทางเลือกซัพพลายเชน หนุนขยายการค้าการลงทุนระหว่างไทย-ญี่ปุ่น
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวในระหว่างการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “โอกาส MSMEs ไทยและญี่ปุ่น: เจาะลึกการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ความตกลง RCEP” ว่า กรมเล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากความความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป RCEP เพื่อช่วยสร้างโอกาสในการขยายตลาดการค้าและการลงทุนที่ใหญ่ขึ้นให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจส่วนใหญ่ของประเทศ
ญี่ปุ่นและไทยมีความตกลงการค้าเสรีที่เป็นภาคีร่วมกัน ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น (JTEPA) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน - ญี่ปุ่น (AJCEP) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยในช่วงเดือน ม.ค. - พ.ค. 2565 ไทยมีการขอใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ RCEP ส่งออกไปญี่ปุ่น มูลค่า 46.47 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ปลาทูน่ากระป๋อง ปลาแมคเคอเรลกระป๋อง เสื้อคาร์ดิแกน เสื้อกั๊ก และปลาปรุงแต่ง ขณะที่ไทยขอใช้สิทธิ์ RCEP นำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น มูลค่า 5.9 ล้านดอลลาร์ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ ไฮโดรควีโนน เชื้อประทุไฟฟ้าสำหรับจุดระเบิด ปลาหมึกยักษ์ ด้ายโพลิยูรีเทน และลูกชิ้นปลา
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนอันดับหนึ่ง และเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย โดยในครึ่งปีแรก (ม.ค. - มิ.ย. 2565) การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น มีมูลค่า 30,478.25 ล้านดอลลาร์ ไทยส่งออกไปญี่ปุ่น มูลค่า 12,714.89 ล้านดอลลาร์ และนำเข้าจากญี่ปุ่น มูลค่า 17,763.36 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
ขณะนี้สมาชิก RCEP ได้มีการลงสัตยาบันไปแล้วเหลือเพียง 2 ประเทศคือ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการภายใน ซึ่งคาดว่าน่าลงสัตยาบันได้ในช่วงปลายปีนี้ อย่างไรก็ตามอาร์เซ็ปยังเปิดโอกาสให้รับสมาชิกเพิ่มเติมได้หลังจากบังคับใช้ไปแล้ว 18 เดือนหรือน่าจะประมาณกลางปีหน้า ซึ่งมีประเทศที่สนใจจะสมัครเป็นสมาชิก เช่น ฮ่องกง ชิลี เป็นต้นซึ่งหากรับฮ่องกงเป็นสมาชิก็เพิ่มโอกาสทางการค้าได้มากขึ้น ขณะที่ชิลีก็จะเป็นโอกาสในการเปิดประตูการค้าไปยังกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาได้
นายคุโรดะ จุน ประธานเจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า ทุกคนเริ่มตะหนักถึงความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในโลกทุกวันนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวจากการฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 แต่ก็มีเหตุการณ์สำคัญที่ ที่เขย่าโลก เช่น ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารและการขาดแคลนพลังงาน นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้แพร่กระจายไปยังเอเชีย และแม้แต่ในประเทศไทย ราคาสินค้าก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นปีนี้ ส่งผลให้บริษัทต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
เจโทร ได้ทำการสำรวจกับหอการค้าญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ (JCC) พบว่า ราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้นและต้นทุนโลจิสติกส์ที่พุ่งสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการขององค์กร นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องของซัพพลายเชนและห่วงโซ่อุปทาน เช่น ระบาดของโควิด -19 โรงงานกระป๋องในไทยถูกบังคับให้ปิดตัวลง ทำให้ไม่สามารถซื้อผลิตภัณฑ์ เช่น ไก่ทอดที่ร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง นอกจากนี้ การระบาดของโควิด-19 และการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ โรงงานชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศไทยจึงปิดตัวลง ทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมการผลิตในโรงงานผลิตรถยนต์หลายแห่งในญี่ปุ่นได้
ทั้งนี้เชื่อว่า ความตกลง RCEP ที่มีสมาชิกรวม 15 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีนเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอาเซียน จะช่วยแก้ไขปัญหาห่วงโซ่อุปทานเหล่านี้ เสริมสร้างความยืดหยุ่น และสร้างโอกาส อำนวยความสะดวกทางการค้ากับภาคธุรกิจในปัจจุบันหลายประการ คือ 1.ช่วยเสริมสร้างซัพพลายเชนที่หลากหลาย ทำให้เกิดความยืดหยุ่นกับห่วงโซ่อุปทานการผลิตในภูมิภาคมากขึ้น 2. ความตกลง RCEP มีกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่เอื้อต่อผู้ประกอบการให้ใช้ประโยชน์จากกฎเกณฑ์ที่ง่ายขึ้น 3. ช่วยให้การค้าราบรื่นยิ่งขึ้นจากการที่มีข้อกำหนดให้ประเทศสมาชิก RCEP ทุกประเทศ ใช้แบบฟอร์มหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าในรูปแบบเดียวกัน 4.มีระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง และ 5. มีข้อกำหนดด้านพิธีการศุลกากรในการตรวจปล่อยสินค้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น สินค้าเน่าเสียง่ายต้องตรวจปล่อยภายใน 6 ชั่วโมง เป็นต้น