เปิดมาตรการรัฐอัดงบสิ้นปี อุ้ม "ค่าน้ำมัน-ค่าไฟ" ดูแลประชาชน
เปิดมาตรการรัฐบาลอัดงบประมาณโค้งสุดท้ายก่อนสิ้นปี 2565 หวังอุ้ม "ค่าน้ำมัน-ค่าไฟ" เพื่อดูแลประชาชน แบ่งเป็นเงินกู้-งบกลางรวมกว่า 2 แสนล้าน แบ่งเป็นเงินกู้เพื่อพยุงราคาน้ำมัน 1.5 แสนล้าน และงบกลางเพื่อดูแลกลุ่มเปราะบางอีกกว่า 7 พันล้าน
ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนสิ้นปี 2565 กระทรวงพลังงาน โดย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อหารือวาระลับ และมีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... และการกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กรอบวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท เป็นที่เรียบร้อย โดยอยู่ระหว่างนำเสนอสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณา
นายสุพัฒนพงษ์ ยอมรับว่า การกู้เงินเพื่อมาเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมัน พร้อมกับพยุงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 35 บาท นั้นเป็นเรื่องที่ต้องหารืออย่างเข้มข้น จึงต้องเร่งหามาตรการช่วยเหลือ เพราะการขออนุมัติครม. ในครั้งนี้ ถือเป็นวาระลับ อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ และต้องยอมรับว่า ก่อนหน้านี้กองทุนน้ำมันเมื่อติดลบก็สามารถออกเงินกู้ ตราสารหนี้ต่าง ๆ ได้ โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแล และเมื่อมีการเปลี่ยนพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 กฎหมายหรือการกำกับดูแลบางตัวก็ไม่ตามมาด้วย
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ต่างประเทศกำลังจะเข้าสู่ฤดูหนาว ไม่รู้ว่าสถานการณ์ราคาจะเป็นยังไงต่อไป ดังนั้น เพื่อให้กองทุนน้ำมันได้ดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ของตัวเองในการช่วยเหลือดูแลประชาชนได้ต่อไป ก็ต้องเร่งทำเรื่องนี้โดยเร็ว ยอมรับว่าที่ผ่านมาพยายามทุกวิถีทางแล้ว จนมาเป็นพ.ร.ก.ฉบับนี้ ส่วนการกู้เงินคงไม่กู้ทีเดียว 1.5 แสนล้านบาท จะต้องทยอยกู้เพื่อใช้ทั้งหนี้เดิม และสำรองเอาไว้ใช้ในช่วงต่อไป และการจะคงราคาดีเซลลิตรละ 35 บาทต่อไปหรือไม่นั้น ยังต้องดูราคาน้ำมันตลาดโลกควบคู่ และอาจจะขยับตามความเหมาะสมโดยใช้รูปแบบให้กองทุนเข้าไปอุดหนุนอยู่ครึ่งหนึ่งต่อไป
ทั้งนี้ เนื่องจากกองทุนน้ำมันยังมีหนี้ ณ วันที่ 14 ส.ค. 2565 ติดลบ 117,394 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 76,518 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบ 40,876 ล้านบาท หากใช้กรอบวงเงินกู้เต็มจำนวน 1.5 ล้านบาท มาใช้หนี้ จะเหลือส่วนต่างจากการกรอบวงเงินกู้ประมาณ 3,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น ซึ่งภายใต้แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ผันผวนต่อเนื่อง และกองทุนยังต้องอุดหนุนต่อไป เท่ากับจะมีเงินเหลือจากพรก. ใช้ได้เพียง 1-2 เดือนเท่านั้น
นอกจากนี้ ปัญหา "ราคาพลังงาน" อีกปัญหาใหญ่คือ “ค่าไฟฟ้า” ซึ่งรัฐบาลได้มีความกังวลต่อผลกระทบจากวิกฤติพลังงาน ซึ่งทำให้ค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มขึ้น โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงพลังงานหามาตรการดูแลกลุ่มเปราะบาง หลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 ส่งผลให้ค่า Ft ขึ้นมาเป็นหน่วยละ 93.43 สตางค์ หรือเพิ่มขึ้นหน่วยละ 68.66 สตางค์ และเมื่อรวมกับค่าไฟฐาน 3.76 บาท ทำให้ค่าไฟฟ้าทำสถิติสูงที่สุดหน่วยละ 4.72 บาท
ทั้งนี้ นายสุพัฒนพงษ์ ได้เร่งให้สำนักงาน กกพ.นำเสนอมาตรการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าภายหลังการปรับขึ้นค่า Ft โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง โดยจะใช้งบประมาณราว 7,000 ล้านบาท เพื่อพยุงค่าเอฟทีให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ได้จ่ายค่าเอฟทีเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 เท่าอัตรารอบเดือนม.ค.-เม.ย. 2565 มีประมาณ 20 ล้านครัวเรือน
2. กลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าระดับ 300-500 หน่วยต่อเดือน แบบขั้นบันได โดยผู้ใช้ไฟเกิน 300 หน่วยต่อเดือน ก็จะเข้าไปสนับสนุนค่าเอฟทีมากหน่อย เป็นต้น
แหล่งข่าว กล่าวว่า นายสุพัฒนพงษ์ จะนำข้อเสนอของกกพ.เข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วันที่ 22 ส.ค.565 ก่อนนำเสนอครม. วันที่ 23 ส.ค.2565 อนุมัติเห็นชอบโดยเร็ว เพราะจะต้องมีเวลาเพื่อให้ 3 การไฟฟ้า ได้มีการเตรียมตัว โดยเฉพาะในเรื่องของการออกบิลชำระเงินต่าง ๆ เป็นต้น