‘อนุชา บูรพชัยศรี’ คัมแบ็กโฆษกรัฐบาล ภารกิจเอเปค พร้อมแจงเศรษฐกิจ - การเมือง
“โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี” หรือ “โฆษกรัฐบาล” ถือว่าเป็นตำแหน่งสำคัญที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่เสมือนกระบอกเสียงของรัฐบาล
งานของโฆษกรัฐบาลนอกจากทำหน้าที่ในการแถลง ชี้แจง อธิบายความแทนนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้สื่อมวลชนและสาธารณะได้ทราบสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ในขณะนั้น และในบางสถานการณ์ต้องตอบโต้ทางการเมืองควบคู่ไปด้วย
ที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งโฆษกรัฐบาลมาทำหน้าที่ดังกล่าวแล้วหลายคน และเมื่อธนกร วังบุญคงชนะ อดีตโฆษกรัฐบาลจะเลื่อนขึ้นเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้ลาออกจากตำแหน่ง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา
ท่ามกลางการจับตามองว่านายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งใครเป็นโฆษกรัฐบาล เพราะก่อนหน้านี้มีชื่อจากพรรคการเมือง ชื่อจากบุคคลภายนอก และภายในรัฐบาลที่อยู่ในข่ายจะได้ทำหน้าที่กระบอกเสียงรัฐบาล แต่เมื่อวันที่ 18 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 205/2565
แต่งตั้งนายอนุชา บูรพชัยศรี ข้าราชการการเมือง ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ให้ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อีกหน้าที่หนึ่ง โดยให้มีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 18 ส.ค. 2565 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
อนุชาเคยดำรงตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมาแล้วโดยแต่งตั้งเข้ามาในช่วงที่นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เลื่อนขึ้นไปเป็น รมช.แรงงาน ก่อนที่จะขยับตำแหน่งจากโฆษกรัฐบาลขึ้นไปทำหน้าที่รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ช่วยงานนายกรัฐมนตรีในเรื่องการต่างประเทศ และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (PMDU) ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งให้กลับมาทำหน้าที่โฆษกรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการเป็นเจ้าภายการประชุม ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค โดยเริ่มมีการประชุมระดับรัฐมนตรี และจะมีการประชุมสุดยอดผู้นำในช่วงเดือน พ.ย.นี้
"อนุชา" เปิดเผย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าการกลับมาทำหน้าที่โฆษกรัฐบาลในครั้งนี้ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีที่ให้ความไว้วางใจให้ทำหน้าที่อีกตำแหน่งหนึ่ง และความไว้วางใจที่ท่านนายกฯได้มอบหมายให้ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องทำงานอย่างสุดความสามารถ
ภารกิจในฐานะโฆษกรัฐบาลที่ทำหน้าที่ในรัฐบาลชุดนี้ซึ่งเหลือเวลาในการทำงานไม่ถึง 1 ปี คิดว่าอะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนก็จะสื่อสารให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ส่วนเรื่องทางการเมืองที่จำเป็นต้องชี้แจงก็จะนำเอาวิธีการทำงานที่เคยทำเมื่อตอนเป็นโฆษกรัฐบาลในรอบที่ผ่านมามาปฏิบัติอีกครั้ง เพราะมองแล้วว่าการชี้แจงเป็นประโยชน์มากกว่าการพูดเรื่องความขัดแย้งให้ขยายผล โดยพยายามที่จะชี้แจงมากกว่าการตอบโต้ เพราะการชี้แจงคือการให้ข้อมูลที่เป็นเหตุผล
“ผมคงไม่ใช้คนที่จะมาประดิษฐ์วาทกรรมเพื่อที่จะโต้ตอบทางการเมือง แต่เราจะเป็นคนที่ไปหาข้อมูลข้อเท็จจริงมาชี้แจงว่า เรื่องต่างๆที่เราถูกกล่าวหาจากฝ่ายค้านนั้น ไม่ใช่ความจริงแล้วรัฐบาลได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง หรือว่าการให้ข้อมูลที่ครบถ้วนมากกว่าฝ่ายค้านเพื่อให้ข้อมูลได้เข้าใจ โดยเติมเรื่องเหล่านี้เพื่อให้ความเข้าใจได้มากขึ้น”อนุชา กล่าว
ในเรื่องของการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้ นายอนุชากล่าวว่าในเรื่องเอเปคก่อนหน้านี้ได้ช่วยรัฐบาลทำงานอยู่ในหลายส่วน คือทำงานอยู่เบื้องหลัง เนื่องจากในตำแหน่งรองเลขาฯนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ได้รับมอบหมายให้ทำงานด้านต่างประเทศ ก็ได้มีการประสานงานกับหลายภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศที่มีการเตรียมเนื้อหาการประชุมมามากกว่า 1 ปีแล้วในเรื่องของเนื้อหาการประชุม สถานที่จัดการประชุม เรื่องของสัญลักษณ์ การทำหนังสือเชิญผู้นำฯ และการประสานงานกันนอกรอบมาเป็นระยะๆ
พอมาทำหน้าที่โฆษกรัฐบาลแล้วมีข้อมูลอยู่แล้วมีข้อมูลอยู่แล้วทุกด้านมั่นใจว่าจะสามารถสื่อสารเนื้อหาในส่วนนี้ออกมาได้เป็นอย่างดี ทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับการประชุม และเรื่องนอกการประชุมแต่เกี่ยวกับการเป็นเจ้าภาพเอเปคในครั้งนี้ เช่น เรื่องของที่ระลึกที่จะมอบให้ผู้ประเทศต่างๆ กิจกรรมการต้อนรับผู้นำ และคู่สมรสในเวทีเอเปค เป็นต้น
ส่วนในเรื่องของการสื่อสารประเด็นเศรษฐกิจที่ถือว่าเป็นประเด็นที่มีการจับตามองจากทุกฝ่าย ทั้งในส่วนของฝ่ายค้านและประชาชนโฆษกรัฐบาลกล่าวว่าในส่วนนี้ไม้ได้หนักใจ เพราะคิดว่าเราจะพูดในสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบ
เช่น ในเรื่องของกองทุนน้ำมันฯมีกลไกการทำงานอย่างไร การออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฯวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ที่มีการให้ข้อมูลสับสนไปว่ารัฐบาลจะเอาหนี้นี้มาให้ประชาชนซึ่งจริงๆแล้วเป็นการค้ำประกันเพื่อให้กองทุนน้ำมันฯไปกู้เงินด้วยตัวเองได้เพื่อให้กองทุนฯมีสภาพคล่องพอในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน ไม่ได้เป็นการเก็บภาษีของประชาชนมาใช้หนี้ให้กับกองทุนฯ
ช่องทางการชี้แจงผลงานรัฐบาล และทำความเข้าใจกับประชาชน นอกจากการแถลงข่าว และส่งข่าวให้กับสื่อมวลชนแล้วตอนนี้ก็ยังมีช่องทางโซเชียลมีเดียร์อื่นๆ เช่น ช่องทางยูทูป ชื่อช่องว่า “คุยนอกเวลากับ อนุชา บูรพชัยศรี” ซึ่งออกอากาศมาแล้วมากกว่า 40 ตอน ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้ครบถ้วนมากขึ้น ซึ่งเป็นการทำงานในอีกมิติหนึ่งซึ่งมีทั้งความเหมือนและความแตกต่างจากงานโฆษกรัฐบาลเมื่อครั้งก่อนที่เคยอยู่ในตำแหน่งในครั้งที่ผ่านมา