ตำแหน่งงานด้านโลกร้อน “โอกาสใหม่” จาก Climate Change

ตำแหน่งงานด้านโลกร้อน “โอกาสใหม่” จาก Climate Change

การลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ อันเป็นสาเหตุการเกิดโลกร้อน และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือ Climate Change กำลังเป็นทั้งโอกาส และความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับประเทศ และระดับองค์กรธุรกิจต่างๆ

การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด)ชี้ว่าตลาดหลักทรัพย์ในหลายประเทศกำลังให้ความสำคัญกับการรายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยคาร์บอนของแต่ละบริษัท นำไปสู่การอบรมเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว เพราะการเปิดเผยข้อมูลธุรกิจที่เป็นหัวใจของตลาดหลักทรัพย์ไม่เพียงพอแล้ว ปัจจุบันนักลงทุนกำลังถามหา “ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน”

    “อังค์ถัดบอกว่าในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 และครึ่งปีแรกของปี 2565 มีตลาดหลักทรัพย์กว่า 20 แห่งจัดฝึกอบรมเรื่องการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ และมี บริษัทถึง 6,000 แห่งทั่วโลก เข้าร่วมการอบรมการเปิดเผยรายงานด้านสภาพอากาศ” 

     การเคลื่อนไหวทางธุรกิจนี้ นำไปสู่การจ้างงานในตำแหน่งที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจากการสำรวจเว็บไชต์ Green Citizen พบว่ามีการประกาศรับสมัครงานที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ที่ต้องมีคุณสมบัติที่ค่อนข้างจะเปลี่ยนจากงานแบบเดิมๆ เช่น ต้องรับรู้ เเละเข้าใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงสามารถรวบรวมข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมในวงกว้างอีกด้วย  

ขณะที่การสำรวจผ่านเว็บไซต์ linkedin พบว่ามีการจ้างงานในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่นกัน โดยมีคุณสมบัติคือ ปริญญาตรี หรือปริญญาโท ในสาขาที่เกี่ยวข้องด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และมีประสบการณ์ 5 ปีขึ้นไปในด้าน ESG [การพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน Environment, Social, Governance ] 

ตำแหน่งงานด้านโลกร้อน “โอกาสใหม่” จาก Climate Change

“ผู้สมัครต้องสามารถสื่อสารอย่างชัดเจน และถูกต้อง เข้าใจห่วงโซ่อุปทานของสินค้าว่าด้วยการลดคาร์บอน และมีความหลงใหลในวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ และความเป็นกลางของคาร์บอน” 

นอกจากนี้ ยังต้องช่วยวิเคราะห์วงจรชีวิต และค้นหาปริมาณการปล่อยมลพิษสำหรับผลิตภัณฑ์ และพันธมิตร รวมถึงมีความสามารถการจัดการประสานงาน และการจัดการโครงการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อการปรับตัวเข้าสู่ Net Zero GHGs 

     พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กล่าวว่า ตำแหน่งงานที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมองได้หลายอย่าง อาจจะมีตำแหน่งเพื่อบริษัทหรือองค์กรนั้นๆ เอง หรือ อาจเป็นไปเพื่อการปรับตัวของธุรกิจให้ต่อข้อตกลงระหว่างประเทศ เช่น ข้อตกลงปารีส  

“ตลาดทุน หรืออุตสาหกรรมระดับโลกจำเป็นจะต้องมีความยั่งยืน เป็นเทรนใหม่ที่ต้องมีมุมมองพัฒนาการเติบโตควบคู่กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งแน่นอนจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในส่วนของตลาดแรงงานด้วย” 

สำหรับ ในไทยเองบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนเข้าไป เป็นหลักการ ESG ซึ่งการลงทุนต้องมีความรับผิดชอบ โครงการใหญ่ที่ให้สัมปทานต้องมีความยั่งยืน มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ในการผลิตสินค้าส่งออกหรือผลิตขาย เป็นไปตามการกำหนดข้อบังคับไปอย่างทีละเล็กละน้อย ความยั่งยืนนี้ไม่ได้อยู่ในภาคของเอกชนเพียงอย่างเดียว ยังอยู่ในภาครัฐก็มีการจัดการอย่างยั่งยืนเช่นกัน เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันร่วมแรงร่วมใจกันนั่นเอง 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์