การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
จีดีพีของไทยขยายตัวเพียง 2.5% ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีก่อนหน้าเป็นการขยายตัวที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาด (3.0%) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกเพียง 0.7%
หากดูเป็นรายไตรมาส (Quarter on Quarter seasonally adjusted) จะเห็นว่าการฟื้นตัวของจีดีพีนั้นไม่ค่อยจะแข็งแรงมากนักคือ เมื่อปี 2021 จีดีพีไทยขยายตัวได้เพียง 1.6%
เพราะการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ของไทยล่าช้า ในขณะที่จีดีพีโลกขยายตัว 6.1% และจีดีพีอาเซียน (ประเทศหลัก 5 ประเทศ) ขยายตัว 3.4% ในปี 2021
มาปี 2022 นี้จีดีพีไทยขยายตัวครึ่งแรกประมาณ 2.4% โดยสภาพัฒน์ประเมินว่าจีดีพีไทยทั้งปีนี้จะขยายตัวประมาณ 3% แปลว่าครึ่งหลังของปีนี้จีดีพีจะต้องขยายตัวให้ได้ประมาณ 3.6%
ในช่วงที่คาดการณ์กันว่าจีดีพีของประเทศหลัก เช่น สหรัฐ อเมริกาและยุโรปกำลังจะชะลอตัวลง เพราะการปรับขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายที่สหรัฐเพื่อปราบเงินเฟ้อ และผลกระทบจากสงครามที่ยูเครนที่กำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับทวีปยุโรป
จีดีพีของสหรัฐและยุโรปนั้นรวมกันแล้วประมาณ 40% ของจีดีพีโลก ในขณะที่จีดีพีของจีนที่คิดเป็นสัดส่วนอีก 20% ของจีดีพีโลกนั้นก็ฟื้นตัวอย่างกระท่อนกระแท่น เพราะมาตรการกำจัดการระบาดของ COVID-19 ที่เข้มข้นกำลังส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของจีดีพี (ทั้งนี้ยังมีปัญหาอสังหาริมทรัพย์ที่ยังแก้ไม่ตกอีกด้วย)
ในปีหน้านั้นรัฐบาลไทยคาดว่าจีดีพีไทยจะขยายตัว 4.2% ดีกว่าปีนี้ แต่เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงอย่างมาก ไอเอมเอฟคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพียง 2.9% เพราะจีดีพีสหรัฐจะขยายตัวเพียง 1.4% ในขณะที่จีดีพีของยุโรปจะขยายตัว 1.2%
กล่าวคือจีดีพีไทยจะขยายตัวสูงขึ้นในปี 2023 เมื่อเทียบกับปี 2022 สวนทางกับเศรษฐกิจโลกที่จะขยายตัวช้าลงจาก 3.2% ในปี 2022 เป็น 2.9% ในปีหน้า
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยไม่สามารถทวนกระแสเศรษฐกิจโลกได้เลย เว้นแต่ปี 2011 ที่ไทยเผชิญกับน้ำท่วมตอนปลายปี ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมากในปีดังกล่าวแล้วกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในปี 2012
การฟื้นตัวครั้งนี้ของไทยจะต้องถูกขับเคลื่อนจากปัจจัยภายนอกเป็นหลักคือการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว กล่าวคือการคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะมาประเทศไทยประมาณ 10 ล้านคนในปีนี้ และ 20 ล้านคนในปีหน้า
ตัวอย่างเช่นหากนักท่องเที่ยวใช้จ่ายประมาณ 50,000 บาทต่อคน ก็จะช่วยให้จีดีพีของไทยเพิ่มขึ้นได้ 500,000 ล้านบาทในปีนี้หรือประมาณ 3% ของจีดีพีและหากสามารถรับนักท่องเที่ยวได้ 20 ล้านคนในปีหน้าก็จะกระตุ้นจีดีพีให้โตได้ประมาณ 5%
ในครึ่งแรกของปีนี้การท่องเที่ยวจากต่างประเทศฟื้นตัวดีขึ้นอย่างมาก กล่าวคือมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาที่ไทยเพียง 500,000 คนในไตรมาสแรก แต่ในไตรมาส 2 ตัวเลขก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 1.58 ล้านคน ทำให้รู้สึกมั่นใจว่าน่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศไทยได้ 3 ล้านคนในไตรมาส 3 และอีก 5 ล้านคนในไตรมาส 4 เป็นต้น
การจะขับเคลื่อนให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคนในปี 2023 นั้นคงจะต้องหวังนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนกลับมาส่วนหนึ่งด้วย แต่จีดีพีของจีนนั้น ไอเอมเอฟคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้เพียง 4.6% จากเป้าหมายของรัฐบาลจีนที่ต้องการให้จีดีพีขยายตัวอย่างน้อยประมาณ 5.5%
และไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจีนจะควบคุมการระบาดของ COVID 19 ได้อย่างเบ็ดเสร็จทำให้นักท่องเที่ยวจีนสามารถเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยโดยไม่มีข้อจากัดได้หรือไม่
สำหรับนักท่องเที่ยวไทยนั้นดูเหมือนว่าจะใกล้ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว คือตัวเลขของสภาพัฒน์ประเมินว่าเท่ากับ 46.05 ล้านคนในไตรมาส 1 ของปีนี้และเพิ่มขึ้นอีกเป็น 48.23 ล้านคนในไตรมาส 2 (ซึ่งมีวันหยุดให้นักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก)
ตัวเลขอื่นๆ ที่เป็นส่วนประกอบของจีดีพีนั้นดูไม่ค่อยดีมากนักในไตรมาส 2 เช่น ตัวเลขการลงทุนเอกชนขยายตัวเพียง 2.3% ลดลงจาก 2.9% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ในขณะเดียวกันการลงทุนของภาครัฐก็ติดลบถึง 9% ในไตรมาส 2 หลังจากที่ติดลบ 4.7% ในไตรมาส 1 โดยการติดลบของการลงทุนนั้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการชะลอตัวของภาคการการก่อสร้างและการลงทุนในเครื่องจักร
การลงทุนนั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการกำหนดว่าจีดีพีจะขยายตัวช้าหรือเร็วในระยะยาวและสัดส่วนของการลงทุนต่อจีดีพีของไทยนั้นก็ต่ำกว่าสัดส่วนของการลงทุนต่อจีดีพีของประเทศรายได้ปานกลางที่เป็นคู่แข่งของไทยอย่างมาก
ผมอาศัยข้อมูลของธนาคารโลกพบว่าในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา (2014-2020) การลงทุนของไทยคิดเป็นสัดส่วนของจีดีพีนั้นเฉลี่ยเพียง 23.3% ในขณะที่ประเทศรายได้ปานกลางอื่นๆ นั้นมีการลงทุนของไทยคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 32.6% ของจีดีพี
หากเป็นเช่นนี้ไปนานๆ จีดีพีของประเทศอื่นๆ ก็จะขยายตัวแซงหน้าไทยไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเรายังจะขาดแคลนปัจจัยการผลิตอื่นๆ มากขึ้นไปอีกในอนาคต
กล่าวคือการขาดแคลนแรงงานเพราะประชากรไทยกำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยก็กำลังจะหมดลง ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวซึ่งมีราคาแพงขึ้นอย่างมาก
สำหรับการบริโภคนั้น จะเห็นได้ว่าการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวสูงมากในไตรมาส 2 คือ 6.9% เมื่อเทียบกับ 3.5% ในไตรมาส 1 สืบเนื่องมาจากการบริโภคของนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศไทย
การบริโภคของไทยนั้นคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 53% ของจีดีพีต่ำกว่าการส่งออกเล็กน้อย (การส่งออกคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 55% ของจีดีพี) การส่งออกสินค้าของไทยนั้นชะลอตัวลงอย่างมาก กล่าวคือขยายตัว 10.2% ในไตรมาสแรกของปีนี้และลดลงเป็น 4.6% ในไตรมาส 2 การส่งออกสินค้าของไทยคงจะขยายตัวได้ไม่มากนักในปีหน้าเพราะเศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัวลง
ในขณะเดียวกันการนำเข้าของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การนำเข้าสินค้าและบริการขยายตัว 6.2% ในไตรมาสแรกและ 9.1% ในไตรมาส 2 ทำให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นจาก 72,400 ล้านบาทในไตรมาส 1 มาเป็น 296,700 ล้านบาทในไตรมาส 2
ในอนาคตนั้น ประเทศไทยจะต้องคาดหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศมาเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมากเพียงพอที่จะทำให้จีดีพีขยายตัวได้ 4% ในปีหน้าและช่วยทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล แต่สำหรับปัจจัยที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะยาวนั้นยังมองไม่ค่อยเห็นครับ.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร