ผ่ามุมมองไอเอ็มเอฟเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกล่าสุด | บัณฑิต นิจถาวร

ผ่ามุมมองไอเอ็มเอฟเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกล่าสุด | บัณฑิต นิจถาวร

ปลายเดือนที่แล้ว กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟได้ออกรายงานเศรษฐกิจโลกล่าสุด จั่วหัวว่า" Gloomy and More Uncertain" คือ มืดมนและมีความไม่แน่นอนมาก

เพราะเศรษฐกิจโลกขณะนี้มีความเสี่ยงด้านลบหรือ Downside risk เต็มไปหมดและอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ในปีหน้า วันนี้จึงอยากสรุปความเห็นไอเอ็มเอฟเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกจากรายงานล่าสุดให้แฟนคอลัมน์ "เศรษฐศาสตร์บัณฑิต " ทราบ

เศรษฐกิจโลกครึ่งปีแรกถูกกระทบจากสามเหตุการณ์หรือสามช็อกที่รุนแรงกว่าคาด

หนึ่ง สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ทําให้การผลิตในเศรษฐกิจโลกชะงักงัน นําไปสู่วิกฤติพลังงานและวิกฤติการขาดแคลนอาหาร ทําให้ปัญหาเงินเฟ้อที่เริ่มส่อเค้าตั้งแต่ปลายปี 2021 พร้อมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกรุนแรงขึ้นและกลายเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก

สอง จีนที่ประกาศใช้นโยบาย Zero Covid และมาตรการล็อกดาวน์สู้กับการระบาดของโควิด ทําให้ระบบการผลิตในจีนและการขยายตัวของเศรษฐกิจถูกกระทบมาก ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกเพราะวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ผลิตในจีนไม่สามารถส่งให้ผู้ผลิตในประเทศอื่นได้

สาม เงินเฟ้อที่เร่งตัวเร็วกว่าที่ทุกฝ่ายคาด ขับเคลื่อนโดยวิกฤติพลังงาน วิกฤติอาหาร การฟื้นตัวของการบริโภค ขณะที่การผลิตขยายตัวไม่ทันจากข้อจำกัดด้านอุปทานที่มีอยู่ เงินเฟ้อจึงเร่งตัวมากโดยเฉพาะในประเทศอุตสาหกรรม ทำให้ธนาคารกลางต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ กดดันให้ภาวะการเงินตึงตัว กระทบตลาดการเงินและการขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก

นี่คือสาเหตุที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกแผ่วลงในช่วงครึ่งแรกปีนี้ ไอเอ็มเอฟประเมินว่าเศรษฐกิจโลกขยายตัวติดลบในไตรมาสสองปีนี้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงมาก คือจะเฉลี่ยปีนี้ที่ร้อยละ 6.6 สำหรับประเทศอุตสาหกรรม และร้อยละ 9.5 สําหรับประเทศกําลังพัฒนา

ชัดเจนว่าเศรษฐกิจโลกกําลังเผชิญกับการชะลอตัวพร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่สูง แต่ที่น่าห่วงสุดคือสามเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลกคือ สหรัฐ ยุโรป จีน ขณะนี้กําลังชะลอลงพร้อมกัน

เศรษฐกิจสหรัฐกําลังชะลอจากกําลังซื้อภาคครัวเรือนที่ลดลงและภาวะการเงินที่ตึงตัวจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทําให้สหรัฐจะขยายตัวลดลง 1.4 เปอร์เซ็นต์จากที่ประเมินไว้เดิมเหลือร้อยละ 2.3 ปีนี้และร้อยละ 1.0 ปีหน้า

เศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบมากจากมาตรการล๊อคดาวน์และวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ ที่การแก้ไขปัญหายังไม่จบสิ้น ทําให้ไอเอ็มเอฟปรับประมานการเศรษฐกิจจีนลง 1.1 เปอร์เซ็นต์ เหลือขยายตัวร้อยละ3.3 ปีนี้ ต่ำสุดในรอบ40ปี เพิ่มเป็นร้อยละ 4.6 ปีหน้า

ผ่ามุมมองไอเอ็มเอฟเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกล่าสุด | บัณฑิต นิจถาวร

สำหรับยุโรป สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนจะยิ่งกระทบเศรษฐกิจยุโรปตราบใดที่สงครามยังไม่ยุติทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งผลของนโยบายการเงินตึงตัวเพื่อแก้เงินเฟ้อ เศรษฐกิจยุโรปจะขยายตัวร้อยละ2.6ปีนี้และร้อยละ 1.2 ปีหน้า

สังเกตได้ว่าไอเอ็มเอฟมองทั้งสหรัฐและยุโรปจะขยายตัวลดลงปีหน้า ชี้ถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกอาจถลำเข้าสู่ภาวะถดถอย

ในภาพรวม ไอเอ็มเอฟปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงเหลือร้อยละ 3.2 และร้อยละ 2.9 ปีหน้า สำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่ การขยายตัวปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 3.6 และร้อยละ 3.9 ปีหน้า

สําหรับห้าประเทศหลักอาเซียนรวมไทย การขยายตัวปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 5.3 และร้อยละ 5.1ปีหน้า สูงกว่าเศรษฐกิจโลก แต่อย่าเพิ่งดีใจ เพราะไอเอ็มเอฟประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ร้อยละ 3 และร้อยละ 4.3 ปีหน้า ตํ่ากว่าระดับเฉลี่ยของอาเซียนห้าประเทศ

ชัดเจนว่าเศรษฐกิจโลกกําลังถูกกระทบมากจากสิ่งที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจประเทศหลักสามประเทศที่เป็นเหมือนหัวรถจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก มองไปข้างหน้าความไม่แน่นอนยังมีมาก จึงมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจโลกอาจแย่กว่าที่ไอเอ็มเอฟประเมินโดยเฉพาะถ้าความเสี่ยงด้านลบที่มีมากประดังกันเข้ามากระทบเศรษฐกิจโลก

ผ่ามุมมองไอเอ็มเอฟเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกล่าสุด | บัณฑิต นิจถาวร

ไอเอ็มเอฟพูดถึงหกความเสี่ยง ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจะทําให้เศรษฐกิจโลกแย่กว่าที่ประเมินและเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า

หนึ่ง รัสเซียตัดการส่งก๊าซให้ยุโรป จุดชนวนวิกฤติพลังงานและเงินเฟ้อในระดับที่สูงขึ้น สอง เงินเฟ้อเอาไม่อยู่เพราะค่าจ้างแรงงานปรับขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่ประชาชนคาดหวังหลุดกรอบคือปรับสูงขึ้น และการขึ้นดอกเบี้ยสร้างต้นทุนต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่คาด

สาม ประเทศตลาดเกิดใหม่มีปัญหาผิดนัดชำระหนี้เพราะภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว สี่ การกลับมาระบาดของโควิดและมาตรการล๊อคดาวน์ซึ้าเติมเศรษฐกิจจีน ห้า วิกฤติพลังงานและวิกฤตการขาดแคลนอาหารรุนแรงจนเกิดความไม่สงบและปัญหาความมั่นคง หก ภูมิรัฐศาสตร์ทําให้ประเทศไม่สามารถร่วมมือกันได้

นี่คือหกความเสี่ยงที่ไอเอ็มเอฟมองว่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกยืนอยู่บนชายขอบของการถลำเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และถ้าเกิดขึ้นการแก้ไขปัญหาจะยากเพราะโลกจะไม่ร่วมมือกันเหมือนก่อน

ดังนั้น ความสำคัญของนโยบายต้องมุ่งไปที่การลดเงินเฟ้อแม้จะมีผลต่อเศรษฐกิจ เพราะการไม่ทําหรือทําช้าจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจมากกว่า เสริมด้วยนโยบายการคลังที่ดูแลผู้ที่อ่อนแอ ให้ความสำคัญกับกลไกตลาดในการแก้เงินเฟ้อ และรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน

นี่คือมุมมองไอเอ็มเอฟล่าสุด ที่ค่อนข้างหดหู่และเป็นสถานการณ์ที่ประมาทไม่ได้.

ผ่ามุมมองไอเอ็มเอฟเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกล่าสุด | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]