ข้อคิดเศรษฐกิจไทยจากนักลงทุนและไอเอ็มเอฟ | บัณฑิต นิจถาวร

ข้อคิดเศรษฐกิจไทยจากนักลงทุนและไอเอ็มเอฟ | บัณฑิต นิจถาวร

อาทิตย์ที่แล้ว ผมมีโอกาสพูดคุยกับนักวิเคราะห์เศรษฐกิจภูมิภาคจากสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจการเมืองรายใหญ่ของโลก ที่ลูกค้าส่วนใหญ่คือ ธุรกิจข้ามชาติและนักลงทุนสถาบันเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย

ผมได้ฟังความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า ประเทศไทยขณะนี้ไม่ได้อยู่บนเรดาร์สกรีนของนักลงทุน เพราะเศรษฐกิจไทยไม่มีอะไรจูงใจนักลงทุนในแง่สินค้าหรือความสามารถใหม่ที่จะแข่งขันในตลาดโลก ขณะที่ระยะยาวก็ไม่มีการลงทุนด้านนวัตกรรม ทรัพยากรมนุษย์ และโครงสร้างพื้นฐานเตรียมไว้สำหรับอนาคต

ทําให้สถานะและความสำคัญของประเทศไทยในเศรษฐกิจโลกได้ลดลงเป็นลำดับ และจะลดลงต่อไปถ้านโยบายของประเทศยังไม่ให้ความสําคัญที่จะแก้ไขจุดอ่อนเหล่านี้ ซึ่งน่าเสียดายมากเทียบกับศักยภาพที่ประเทศและคนในประเทศมี นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ข้อจํากัดเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยที่นักลงทุนต่างประเทศมองประเทศเราขณะนี้เทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคคือ

1.ประเทศเราถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีความสามารถและผลิตภาพในการผลิตตํ่า และเป็นประเทศที่มีต้นทุนสูงเทียบกับประเทศอื่นในการทำธุรกิจ เพราะช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมาประเทศเราไม่ได้มีการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ ๆ อย่างจริงจังที่จะแข่งขันในตลาดโลกเพื่อสร้างสินค้าส่งออกที่จะเป็นฐานรายได้ใหม่ให้กับประเทศ

ขณะที่สินค้าส่งออกเดิมก็ไม่มีการพัฒนายกระดับเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในระดับที่สูงขึ้นเทียบกับต้นทุนและค่าจ้างแรงงานในประเทศที่ได้เพิ่มขึ้น   

ผลคือเศรษฐกิจเราสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและไม่มีอุตสาหกรรมใหม่ที่จะขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ เป็นที่มาของการจ้างงานให้กับคนไทยรุ่นใหม่ และสร้างรายได้ให้กับประเทศในอนาคต จุดอ่อนเหล่านี้ทําให้นักลงทุนมองการเติบโตของเศรษฐกิจเราว่ามีข้อจำกัด

ข้อคิดเศรษฐกิจไทยจากนักลงทุนและไอเอ็มเอฟ | บัณฑิต นิจถาวร

2. การลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ที่ควรเป็นกลไกสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต และดึงดูดภาคเอกชนในประเทศให้ขยายการลงทุนทั้งในภาคอุตสาหกรรมและบริการก็ทําได้น้อยและมีความคืบหน้าช้ามาก ทําให้เศรษฐกิจของประเทศเสียโอกาสที่จะได้ประโยชน์จากเงินลงทุนของภาครัฐ รวมถึงชะลอการไหลเข้าของเงินลงทุนจากต่างประเทศ ที่อยากเข้ามาลงทุนในไทยจากสิทธิประโยชน์ที่จะได้

 

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ บริษัทต่างชาติย้ายการลงทุนไปประเทศอื่นที่มีความชัดเจนกว่า สะท้อนได้จากตัวเลขเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศหรือ FDI ที่ลดลงเป็นลําดับ ตัวอย่างที่ดีคือโครงการอีอีซีที่รัฐบาลต้องการให้เป็นโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลตะวันออกภาคสอง ที่การขับเคลื่อนโครงการแผ่วลงและความไม่แน่นอนมีมากขึ้นในสายตานักลงทุน ทําให้นักลงทุนไม่มั่นใจในความต่อเนื่องของนโยบายรัฐ

3. network หรือเครือข่ายที่ประเทศมีในการทำการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งสำคัญมากในโลกธุรกิจหลังโควิดที่ระบบการค้าโลกแบบโลกาภิวัตน์จะอ่อนแอลงจากปัญหาภูมิศาสตร์การเมืองทําให้การค้าโลกจะแบ่งฝักแบ่งฝ่ายและต้องเลือกข้างมากขึ้น

ทั้งด้วยเหตุผลทางโลจิสติก ที่ตั้งของห่วงโซ่การผลิตหรือ supply chain เหตุผลทางการเมืองว่าใครอยู่ข้างไหน และสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ผู้ทำธุรกิจจะได้ทั้งจากประเทศที่เข้าไปลงทุนและจากประเทศที่จะเป็นผู้ซื้อหรือที่จะนําเข้าสินค้าที่ผู้ทำธุรกิจผลิต โดยเฉพาะโควต้าการส่งออกและสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะได้จากที่สินค้าผลิตและส่งออกจากประเทศที่ประเทศผู้ซื้อมองว่าเป็นประเทศพันธมิตร

ข้อคิดเศรษฐกิจไทยจากนักลงทุนและไอเอ็มเอฟ | บัณฑิต นิจถาวร

นี่คือ network ที่ประเทศควรมี เป็นคุณลักษณะของเศรษฐกิจและการวางตําแหน่งของประเทศในแง่ภูมิศาสตร์การเมือง ที่นักลงทุนมองหาในการเลือกประเทศเป้าหมายที่จะเข้าไปลงทุนที่ต้องสามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้ คือเป็นประเทศที่มี network ทางการค้าและการลงทุนกว้างขวางและไม่มีจุดยืนทางการเมืองระหว่างประเทศที่จะเป็นอุปสรรคต่อการทําการค้าระหว่างประเทศ

ซึ่งน่าเสียดายว่าในประเด็นนี้นักลงทุนส่วนใหญ่มองประเทศไทยว่ามีข้อจำกัดในเรื่อง network เทียบกับประเทศอื่น ๆในภูมิภาค เช่น เวียดนามที่มีข้อตกลงทางการค้ากับกลุ่มเศรษฐกิจมากมายทั้งในและนอกภูมิภาค ทําให้เวียดนามได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศมาก เป็นต้น

นี้คือข้อจำกัดของเศรษฐกิจไทยขณะนี้ในสายตานักลงทุน ซึ่งเกือบทั้งหมดคือปัญหาด้านอุปทาน และชี้ว่าการทำนโยบายเศรษฐกิจต้องมองเป็นมองยาวมองรอบด้านและให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของประเทศในระยะยาว

และประเด็นสําคัญสุดที่นักลงทุนสะท้อนให้เห็นคือ ต้องเร่งแก้ไขปัญหาความสามารถในการผลิตของประเทศด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง

ข้อสังเกตเหล่านี้สอดคล้องกับคําแนะนําของกองทุนการเงินระหว่างประเทศไทยหรือไอเอ็มเอฟในการประเมินเศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่มองเศรษฐกิจไทยว่าขยายตัวตํ่ากว่าศักยภาพที่ประเทศมีมาก และสิ่งต้องทําคือการปฏิรูปเศรษฐกิจในเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะด้านอุปทาน

ข้อคิดเศรษฐกิจไทยจากนักลงทุนและไอเอ็มเอฟ | บัณฑิต นิจถาวร

ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ตลาดแรงงาน การศึกษา ทักษะของแรงงาน ระบบช่วยเหลือสังคมหรือ Social Safety net ที่จะมีผลต่อการเพิ่มผลิตภาพและสร้างความสามารถในการผลิตและความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ทําให้ประเทศจะสามารถเติบโตได้มากขึ้นตามศักยภาพ รวมถึงลดผลกระทบระยะยาวที่โควิด-19 จะมีต่อเศรษฐกิจ

 

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ยํ้าว่าการทำนโยบายสาธารณะโดยระบบการเมืองของประเทศไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลไม่ได้สนใจจริงจังที่จะแก้ปัญหาหรือปฏิรูปเศรษฐกิจ ทําให้ประเทศไทยและคนไทยทั้งประเทศเสียโอกาส เศรษฐกิจเสื่อมถอยลงเรื่อย ๆ ทำร้ายอนาคตและโอกาสทางเศรษฐกิจของคนไทยรุ่นต่อไป ซึ่งน่าเสียดายมาก.


ข้อคิดเศรษฐกิจไทยจากนักลงทุนและไอเอ็มเอฟ | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร.ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]