"เศรษฐกิจนอกระบบ" คือพลังเศรษฐกิจของประเทศ | บัณฑิต นิจถาวร

"เศรษฐกิจนอกระบบ" คือพลังเศรษฐกิจของประเทศ | บัณฑิต นิจถาวร

อาทิตย์ที่แล้วผมไปร่วมให้ความเห็นเรื่อง เศรษฐกิจนอกระบบ ในงานสัมมนาวิชาการของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ชี้ว่า เศรษฐกิจนอกระบบที่ถูกกฎหมายคือพลังทางเศรษฐกิจของประเทศ และการพัฒนาเศรษฐกิจนอกระบบคือการพัฒนาประเทศ

วันนี้จึงอยากแชร์ความเห็นของผมเรื่องนี้ให้แฟนคอลัมน์ "เศรษฐศาสตร์บัณฑิต" ทราบ

กิจกรรมในระบบเศรษฐกิจแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม คือกิจกรรมที่ถูกกฏหมายและที่ผิดกฎหมาย กิจกรรมที่ถูกกฎหมายก็แบ่งได้เป็นอีกสองกลุ่ม คือ กิจกรรมเศรษฐกิจในระบบและนอกระบบ

กิจกรรมในระบบ หมายถึงกิจกรรมที่ลงทะเบียนกับภาครัฐ อยู่ในระบบข้อมูลของราชการ เป็นฐานภาษีของภาครัฐ กำกับดูแลโดยระเบียบทางการและได้ประโยชน์จากมาตรการภาครัฐ เช่น แรงงานได้รับสวัสดิการสังคม

ตรงข้าม กิจกรรมนอกระบบ หมายถึงกิจกรรมเศรษฐกิจที่ถูกกฏหมายแต่ไม่ได้ลงทะเบียนกับภาครัฐ อยู่นอกมาตรการของทางการ ไม่เสียภาษี และไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการทางการ เช่น พ่อค้าแม่ค้าแผงลอย ช่างฝีมือที่ประกอบอาชีพด้วยตนเอง นี่คือเศรษฐกิจนอกระบบที่ผมจะพูดถึง

ทุกประเทศมีเศรษฐกิจนอกระบบ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับของการพัฒนาประเทศ กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟในปี 2019 เคยศึกษาเรื่องนี้ใช้ข้อมูล 158 ประเทศทั่วโลกช่วงปี 1991-2015

พบว่า เศรษฐกิจนอกระบบทั่วโลกจะเฉลี่ยประมาณ 31.9 เปอร์เซ็นต์ของระบบเศรษฐกิจ สูงสุด ซิมบับเว 60.6 เปอร์เซ็นต์ ต่ำสุด สวิตเซอร์แลนด์และออสเตรีย ที่ 7.2 และ 8.9 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

ของไทยอยู่ที่ 50.6 เปอร์เซ็นต์ก่อนที่จะลดเหลือ 43.1 เปอร์เซนต์ในปี 2015 ซึ่งถือว่าสูง ประมาณการอื่นๆ เช่น ของสถาบันนิด้าในปี2007 ก็ออกมาใกล้เคียงกันที่ร้อยละ 39

\"เศรษฐกิจนอกระบบ\" คือพลังเศรษฐกิจของประเทศ | บัณฑิต นิจถาวร

ประเทศเราจึงมีขนาดของเศรษฐกิจนอกระบบค่อนข้างใหญ่ และเป็นที่มาของการจ้างงานและเป็นฐานรายได้ของคนจํานวนมาก มีการประเมินว่ากว่าร้อยละ 60 ของกำลังแรงงานไทยทํางานอยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบ

"จึงชัดเจนว่าการพัฒนาเศรษฐกิจนอกระบบให้เติบโตและมีความสามารถในการผลิตสูงขึ้น ก็คือการพัฒนาพลังทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนในประเทศ"

ปัจจุบันคนจํานวนมากยังมองธุรกิจนอกระบบว่าเป็นส่วนของสังคมที่ไม่ทันสมัย ไม่เจริญ เป็นวิถีชีวิตของผู้มีรายได้น้อยที่ต้องหาเลี้ยงชีพ เป็นการต่อสู้กับความยากจนของคนในสังคม

แต่จริง ๆ แล้ว ทุกธุรกิจก็เริ่มต้นแบบนี้ เริ่มจากผู้ประกอบการที่อยากทำธุรกิจเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งอาจเริ่มในระบบหรือนอกระบบ ต้องต่อสู้กับความไม่พร้อมและความไม่มีต่าง ๆ มากในตอนแรกจนกิจการสามารถลืมตาอ้าปากได้

จากนั้นถ้าได้รับการสนับสนุนก็สามารถพัฒนาเป็นธุรกิจหรือบริษัทขนาดเล็กในระบบ โตเป็นธุรกิจเอสเอ็มอี เป็นธุรกิจขนาดกลาง เป็นบริษัทจดทะเบียน และอาจไปได้ถึงเป็นบริษัทขนาดใหญ่ของประเทศ

\"เศรษฐกิจนอกระบบ\" คือพลังเศรษฐกิจของประเทศ | บัณฑิต นิจถาวร

นี่ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันแต่เป็นแผนการเดินทางที่เป็นไปได้ของธุรกิจ เป็นการเดินทางไกลที่อาจใช้เวลากว่าหนึ่งชั่วอายุคน แต่เป็นหนทางที่สามารถสร้างความสำเร็จได้ เจ้าสัวประเทศเราหลายตระกูลจากเสื่อผืนหมอนใบก็เดินทางบนถนนสายนี้

ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องตระหนักคือเศรษฐกิจนอกระบบเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจของประเทศที่มีศักยภาพที่จะเติบโต สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจและสร้างการมีงานทําให้กับคนในประเทศ

สิ่งแรกที่รัฐควรทำคือนําเศรษฐกิจนอกระบบเข้าระบบ คือลดขนาดธุรกิจนอกระบบในระบบเศรษฐกิจลง และเริ่มพัฒนาผู้ประกอบการเหล่านี้เพื่อให้บรรลุศักยภาพที่ประเทศมีในด้านการผลิตและการให้บริการ  ซึ่งถ้าทําได้ประโยชน์ต่อประเทศและเศรษฐกิจจะมหาศาล

ในเรื่องนี้ ในแง่นโยบาย มีข้อคิดสามข้อที่อยากฝากไว้

1. ผู้ประกอบการในธุรกิจนอกระบบเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ การพัฒนาคือการทำให้ผลิตภาพหรือความสามารถในการผลิตของคนกลุ่มนี้สูงขึ้น ทั้งในเรื่องความรู้ ทักษะ โอกาส และการบริหารจัดการ เพื่อนําไปสู่การเติบโตของรายได้และพลังทางเศรษฐกิจของประเทศ

\"เศรษฐกิจนอกระบบ\" คือพลังเศรษฐกิจของประเทศ | บัณฑิต นิจถาวร

2. การพัฒนาจะมีผลโดยตรงต่อการลดความยากจนและลดความเหลื่อมลํ้า เพราะคนจํานวนมากจะมีโอกาสมากขึ้นในการหารายได้และมีความหวังที่จะเติบโต

แต่การดึงผู้ประกอบการนอกระบบเข้าในระบบควรต้องทําอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่เฉียบขาดรุนแรง โดยทําให้เกิดผลแบบวินวินที่ทั้งรัฐและผู้ประกอบการได้ประโยชน์

เพราะธุรกิจนอกระบบเป็นฐานรายได้เดียวของคนจำนวนมาก และยังเป็น Social safety net ที่สำคัญของสังคม คือเป็นช่องทางทํามาหากินให้กับคนในสังคมที่ไม่มีโอกาสอื่นหรือในยามฉุกเฉิน ทำให้ทุกประเทศจึงยังมีเศรษฐกิจนอกระบบอยู่ขนานไปกับเศรษฐกิจในระบบแม้จะเป็นสัดส่วนที่ตํ่ามากก็ตาม

3. ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการอยู่ในระบบและทำธุรกิจอย่างถูกต้อง การอยู่นอกระบบจึงเป็นการตัดสินใจทางธุรกิจที่เลือกจะอยู่นอกระบบเพราะไม่สามารถสู้กับต้นทุนหรือภาระของการอยู่ในระบบได้

พูดง่าย ๆ คือถูกผลักดันให้เลือกอยู่นอกระบบเพราะมาตรการหรือวิธีการบริหารจัดการของภาครัฐ เช่น ความไม่เป็นระบบในการจัดเก็บภาษี มาตรการรัฐที่สร้างภาระให้กับผู้ประกอบการรายใหม่อย่างเกินพอดี

เช่น เงื่อนไขการจ้างแรงงาน ทําให้ผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อมรับภาระเลือกที่จะอยู่นอกระบบแทน หรือมาตรการรัฐเอื้อผู้ประกอบการรายใหญ่ทำให้การแข่งขันไม่เป็นธรรมระหว่างรายเล็กกับรายใหญ่ ผลักให้ผู้ประกอบการรายเล็กออกไปนอกระบบแทน

เหล่านี้คือสิ่งที่ควรแก้ไขเพื่อลดแรงจูงใจไม่ให้ออกไปนอกระบบ สนับสนุนด้วยมาตรการอื่น ๆ ที่สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการอยากอยู่ในระบบ เป็นต้น.
\"เศรษฐกิจนอกระบบ\" คือพลังเศรษฐกิจของประเทศ | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
[email protected]