ครม. อนุมัติกู้ 1.8 หมื่นล้าน จ่ายโควิด19 สปสช.-เคาะงบ 245 ล้าน คืนเบี้ยสูงวัย
ครม. อนุมัติ 18,447 ล้าน สำหรับ สปสช ใช้จ่าย "โควิด 19" พร้อม อนุมัติหลักการมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพที่มีความซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น ถอนฟ้อง พร้อมคืนเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุ จำนวน 28,345 ราย วงเงิน 245 ล้าน
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการค่าบริการสาธารณสุข ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2565 รอบที่ 4 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเป็นค่าบริการสาธารณสุขสำหรับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และบริการอื่นที่เกี่ยวข้องที่หน่วยบริการ/สถานพยาบาลให้บริการแล้วระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึง 15 พฤษภาคม 2565 วงเงิน 18,447.9800 ล้านบาท
ทั้งนี้ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับหน่วยบริการสถานพยาบาลที่ให้บริการสาธารณสุขไวรัสโควิด-19 ทั้งในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีนและการวิจัย พัฒนาและผลิตวัคซีนภายในประเทศ โดยกลุ่มเป้าหมายคือประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลที่จัดบริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนรวมถึงผู้ให้บริการสาธารณสุขทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ยังอนุมัติในหลักการการคืนเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุที่ได้นำเงินมาคืนทางราชการแล้ว จำนวน 28,345 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 245,243,189.70 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2565) พร้อมมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และกระทรวงการคลัง หาแนวทางการจ่ายเงินคืนให้แก่ผู้สูงอายุรับเบี้ยยังชีพซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น และได้นำเงินมาคืนให้ทางราชการ รวมทั้งแจ้งให้มีการถอนฟ้องหรือระงับการบังคับคดีในกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้มีการดำเนินคดีเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (23 สิงหาคม 2565)
ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้มีคำวินิจฉัยว่า เงื่อนไขที่กำหนดว่า ผู้สูงอายุที่จะได้รับเบี้ยยังชีพต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐเป็นเงื่อนไขที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และการจ่ายเงินเบี้ยงยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขดังกล่าวจึงเป็นการจ่ายเงินให้โดยชอบ ในกรณีที่ผู้สูงอายุนำเงินมาคืนราชการ หน่วยงานที่รับเงินไว้มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินคืนให้ผู้สูงอายุ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้ในมาตรา 48 วรรค 2 มีเพียง 2 ประการคืออายุเกิน 60 ปี และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ จึงเป็นหลักเกณฑ์สำคัญที่รัฐจะตรากฎหมายเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือบุคคลที่มีลักษณะดังกล่าว ดังนั้น ระเบียบของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) และระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามระเบียบของ กผส. นั้น ที่กำหนดเงื่อนไขว่าต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ ถือว่าไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ระหว่างนี้ พม. ยังอยู่ระหว่างการนำเสนอแนวทางการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อคณะกรรมการผู้สูงอายุเพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งเมื่อได้แนวทางชัดเจนแล้ว กระทรวงมหาดไทยจะได้ดำเนินแก้ไขระเบียบให้สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าวต่อไป