กองทุนน้ำมัน ลุยกู้ 3 หมื่นล้าน ออมสินพร้อมให้สินเชื่อดอกต่ำ
กองทุนน้ำมัน เร่งกู้ก้อนนแรก 3 หมื่นล้าน แก้ปัญหาสถานะกองทุนติดลบ 1.18 แสนล้าน ยันตรึงราคาดีเซล 35 บาทต่อ ห่วงราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นช่วงปลายปี “ออมสิน“ พร้อมปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ หลัง ครม.อนุมัติ ”คลัง” ค้ำประกัน คาดกองทุนใช้แนวทางประมูลให้แบงก์แข่งขันราคา
ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูงตั้งแต่ปลายปี 2564 และปรับตึวสูงขึ้นมาหลังมีสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.พ.2565 ซึ่งทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องอุดหนุนราคาดีเซลและแอลพีจี ทำให้สถานะกองทุนปัจจุบันติดลบ 1.18 แสนล้านบาท
ที่ผ่านมากองทุนมีความพยายามกู้เงินมาเสริมสภาพคล่อง แต่ติดปัญหาการค้ำประกันจากกระทรวงการคลัง จนกระทรวงคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ....
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าว มีการกำหนดกรอบการกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง วงเงิน 1.5 แสนล้าน ซึ่งขณะนี้อยู่ขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมายของสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ซึ่งการขออำนาจกระทรวงการคลังครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสถาบันทางการเงิน
เร่งกู้ก้อนแรก3หมื่นล้าน
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการบริหารสภาพคล่องเงินกองทุนที่มีรองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน มีกำหนดการพิจารณาการขอกู้เงินเพื่อมาเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมัน ในวันที่ 5 ก.ย.2565 โดยเบื้องต้นกองทุนจะกู้เงินก้อนแรกวงเงิน 30,000 ล้านบาทตามความเหมาะสมก่อน แบ่งเป็นการกู้ผ่านการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 20,000 ล้านบาท และผ่านพระราชกฤษฎีกาเพดานกู้ของกองทุน้ำมันเชื้อเพลิง วงเงิน 10,000 ล้านบาท
“ขณะนี้เตรียมทำหนังสือแจ้งไปยังธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้สถาบันการเงินว่ากองทุนมีกระทรวงการคลังค้ำประกัน แต่จะกู้ธนาคารใด วงเงินเท่าไหร่ ยังอยู่ระหว่างพิจารณา ส่วนการชำระหนี้ทั้งหมดจะอยู่ในความรับผิดชอบของกองทุนอยู่แล้ว ไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงการคลัง โดยการกู้เงินจะช้าหรือเร็วนั้น ต้องขึ้นอยู่กับการประชุมของสถาบันทางการเงินด้วยว่าจะมีการนัดหารือเมื่อไหร่”
นายวิศักดิ์ กล่าวว่าคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้พิจารณาทบทวนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลประจำสัปดาห์ โดยมีมติให้คงราคาน้ำดีเซลไว้ที่ลิตรละ 34.94 บาท เพื่อช่วยประคองผลกระทบด้านค่าครองชีพของประชาชนถึงแม้ว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลในตลาดโลกยังมีความผันผวน โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2565ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 137.52 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มขึ้น 6.56 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า (12ส.ค. 2565) ซึ่งอยู่ที่130.96 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ห่วงปลายปีราคาน้ำมันสูงขึ้น
สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นมาจาก การคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐ ยังคงเพิ่มขึ้นจากตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งตลาดได้รับแรงหนุนจากการห้ามการส่งออกน้ำมันของรัสเซียโดยสหภาพยุโรป
ทั้งนี้ อาจทำให้อุปทานตึงตัวขึ้นอย่างมากและส่งผลให้ราคาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยนักวิเคราะห์ระบุว่า การคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปจะบังคับให้การผลิตน้ำมันของรัสเซียต้องปิดตัวลงประมาณ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในสิ้นปี 2565 และเพิ่มขึ้นเป็น2ล้านบาร์เรลต่อวันในปี2566
นอกจากนี้ ด้านกลุ่มโอเปก โดย Haitham Al Ghais เลขาธิการคนใหม่ของโอเปก ได้ระบุถึงการลงทุนในภาคน้ำมันและก๊าซที่ไม่เพียงพอ หลังจากที่ราคาน้ำมันตกต่ำในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19ส่งผลให้กำลังการผลิตสำรองของโอเปกลดลงอย่างมาก
ส่วนราคาน้ำมันขายปลีกดีเซลของประเทศ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่21มิ.ย.2565ได้วางมาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยมีมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลร้อยละ 50 ในส่วนที่ราคาขายสูงกว่า 35 บาทต่อลิตรเป็นเวลา 3 เดือน (ก.ค. – ก.ย. 2565)
สำหรับประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบัน วันที่ 21ส.ค.2565 ติดลบ118,010 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 76,741ล้านบาท และบัญชีก๊าซLPGติดลบ41,269ล้านบาท
ออมสินพร้อมปล่อยซอฟต์โลน
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า หากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีแผนที่จะขอกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องของกองทุนน้ำมัน ธนาคารก็พร้อมที่จะให้กู้ในอัตราที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้
อย่างไรก็ตาม เขาคาดว่า สำนักงานกองทุนน้ำมัน คงจะใช้วิธีเปิดประมูล หรือ Bid เพื่อให้สถาบันการเงินที่สนใจเข้ามาแข่งเสนอราคา สำหรับพันธบัตรของกองทุนน้ำมัน ที่จะออกมาเพื่อเสริมสภาพคล่องของกองทุน โดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกันตามกฎหมาย
“สำหรับธนาคารออมสิน หากเข้าร่วมแข่งขัน ก็จะเสนออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดเท่าที่ธนาคารจะทำได้ เนื่องจาก เห็นว่า เข้าข่าย โครงการเพื่อสังคม”
นายวิทัย กล่าวอีกว่า การ Bid ตัวพันธบัตรของกองทุนน้ำมัน จะได้ในราคาเท่าไหร่นั้น ยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่สำนักงานกองทุนน้ำมันจะกำหนดขึ้น โดยภายใต้สถานการณ์อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น หากต้องการพันธบัตรอายุยาว และเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ ต้นทุนของพันธบัตรก็สูงกว่า การออกพันธบัตรที่อายุสั้นกว่า และเป็นดอกเบี้ยแบบลอยตัว
สำหรับความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ให้กับกองทุนน้ำมันฯ เนื่องจาก กองทุนฯจะต้องเป็นผู้ชำระหนี้เองทั้งหมดนั้น นายวิทัยกล่าวว่า เนื่องจากกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน หากกองทุนฯ ไม่สามารถชำระเงินคืนได้กระทรวงการคลังก็จะต้องรับผิดชอบชำระหนี้แทน ดังนั้น จึงถือว่า ไม่มีความเสี่ยงใดกับธนาคาร
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รัฐบาลได้สั่งให้กองทุนน้ำมันเข้าไปตรึงราคาน้ำมัน ที่มีราคาผันผวน จากผลกระทบของสงครามรัสเซียและยูเครน ทำให้ส่งผลกระทบต่อ ซัพพลายน้ำมันของโลก เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น
แบงก์ห่วงสถานะกองทุนน้ำมัน
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีฐานะการเงินที่ติดลบเพราะต้องเข้าไปอุดหนุนราคาพลังงาน มีความต้องการที่จะขอกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศ แต่ไม่มีสถาบันการเงินรายใดปล่อยเงินกู้ให้ เนื่องจากกังวลปัญหาการชำระหนี้คืนตามสัญญา จนในที่สุด เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 1565 ครม.ได้อนุมัติร่าง พรก.อำนาจกระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกำหนดวงเงินค้ำประกันไว้ไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท ณ วันที่ 21 ส.ค.นี้ กองทุนน้ำมันมีสถานะติดลบรวม 1.18 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซียและยูเครนทำให้การอุดหนุนราคาพลังงานในช่วง 4 เดือน ที่ผ่านมา (มี.ค.-มิ.ย.) กองทุนน้ำมันอุดหนุนติดลบเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละประมาณ 2 หมื่นล้านบาท และทำให้สถานะกองทุนน้ำมัน
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้กระทรวงพลังงานประเมินว่าหากไม่มีการเพิ่มสภาพคล่องให้กองทุนน้ำมัน หรือยังคงอุดหนุนราคาพลังงานในระดับปัจจุบันจะทำให้กองทุนติดลบ 2 แสนล้านบาท ในช่วงปลายปีนี้